ไม่ว่าจะดูด้านหน้าด้านหลัง พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์มาตรฐานวงการองค์นี้ เนื้อละเอียดนุ่มนวล มีความซึ้งถึงขีด อันเกิดจากธรรมชาติคราบไคลไฝฝ้า หลัก “ตรียัมปวาย” เรียกเนื้อเกสรดอกไม้

พระแท้ เนื้อจัด ดูง่ายวันนี้จึงขอผ่านเลย ไปคุยเรื่อง “เส้นสายลายพิมพ์” ซึ่งมีจุดเด่นสะดุดตา อยู่ที่เส้นแซม เส้นที่สอง ระหว่างฐานชั้นหนึ่งกับฐานชั้นสอง ติดคมชัดตลอดสาย

ส่วนเส้นแซมเส้นที่ 1 ที่เห็นคุ้นตาในพิมพ์ใหญ่หลายๆองค์ ติดเป็นเส้นบางชัดใต้พระเพลาด้านซ้าย ไปจางหายระหว่างกลางพระเพลา

ค่อยๆเรียนรู้กันไป พระสมเด็จทุกแม่พิมพ์ฝีมือ หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองราชสำนักนั้น บรรจงสลัก เสลาวิจิตรบรรจงให้องค์พระสมเด็จมีหน้ามีตา มีเส้น สังฆาฏิ เส้นขอบจีวร พระบาทแยกซ้อนสองชั้น ฯลฯ

ฐานสามชั้น นึกถึงฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง มูลสูตรเริ่มแต่หน้ากระดานตัวบน บัวลูกแก้ว คมขวานฐานสิงห์ หน้ากระดานตัวล่าง ช่างแกะพิมพ์พระย่อส่วนไว้ในองค์พระสมเด็จครบถ้วน

แต่เมื่อเอาเนื้อพระที่ผสมเปียกๆกดแม่พิมพ์ เมื่อเนื้อพระแห้ง เนื้อปูนผสมน้ำมันตังอิ้ว ที่มีคุณสมบัติในการยุบตัว เอ้า...อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ เส้นสายลายพิมพ์เรียวๆเล็กๆ ก็มักยุบหายไป

สมเด็จทรงเจดีย์ องค์เจ๊แจ๋ว องค์จักรพรรดิ ติดเส้นสังฆาฏิ เส้นขอบจีวร คมชัด พระบาทแยกซ้อนสองชั้น เป็นตัวอย่าง

ช่วงระยะหลังๆ พระสมเด็จแพร่หลายสู่กลไกตลาด สมเด็จพิมพ์เกศบัวตูม ทั้งพิมพ์ฐานสิงห์แคบ ทั้งพิมพ์ฐานสิงห์กว้าง ปรากฏองค์มีตาหูจมูกปากชัดๆ ให้เห็นอย่างน้อยก็สี่ห้าองค์

เรื่องฐานนั้น พิมพ์ฐานแซม ติดเส้นแซมสองชั้น พิมพ์เกศบัวตูมติดเส้นเดียวบ้าง สองเส้นบ้าง ทรงเจดีย์หรือพิมพ์ใหญ่ ติดเส้นเดียวบ้าง ไม่ติดบ้าง เหตุที่ติด ไม่ครบทุกเส้น เพราะเหตุเดียว คือเนื้อปูนยุบ

...

ยุบน้อย ก็เหลือเส้นแซมมาก ยุบมาก ก็เหลือเส้นแซมน้อย ยุบมากที่สุด ก็ไม่ติดเส้นแซมเลย

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ติดเส้นแซมทั้งสองเส้นนั้น “ตรียัมปวาย” อธิบายในตำราฯ มีเห็นแล้วหลายองค์

องค์ในคอลัมน์วันนี้ ติดเส้นแซมเส้นที่สองชัดกว่าเส้นที่หนึ่ง ผมขอให้ข้อสังเกต เพราะแม่พิมพ์นี้ ช่างแกะให้พื้นที่ว่างระหว่างฐานตื้น ตื้นกว่าพิมพ์ใหญ่พิมพ์อื่น

ข้อสังเกตนี้ ถ้าเชื่อก็เก็บเอาไว้ ผมเดาเอาลักษณะเส้นแซมอย่างนี้ วงการยังไม่กล้า ถ้าเจอสู้ราคาได้ก็คว้าไว้ ขายไม่ได้ ก็ถือว่าโชคดีได้พระล้ำค่าไว้แขวนคอ.

พลายชุมพล