บถอยหลังสู่วันที่เมืองไทยจะได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กันทั้งประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยๆจัดจุดฉีดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในเดือนมิถุนายนนี้ ก็จะได้มาอีกหลายสิบล้านโดส ไม่ต้องกลัวไม่พอ
และขอเตือนสติว่า การเสพข่าววัคซีน ก็ต้องมีสติ อย่าเชื่อข่าวที่ส่งต่อกันเกลื่อน ซึ่งบางข่าวไม่ได้รู้จริงเล้ย คนพวกนี้มีเยอะ รับข่าวมา ก็ไม่ตรวจสอบแล้วยังขยันส่งต่อ เพียงเพื่อจะอวดว่าข้ารู้ลึก รู้มากกว่าใคร ขอจงหยุดซะ เพราะเป็นการกระทำให้ชาวบ้าน (ที่จิตอ่อน) แตกตื่นไปเปล่าๆ
และท่ามกลางสงครามไวรัส ก็ยังมีสงครามคน ม็อบนั่นนี่ เข้ามาเสริมให้บ้านเมืองยิ่งวุ่นวายไม่สงบ พบศึกหลายด้าน ซึ่งก็เพราะคนยังมีอัตตา หลวงปู่ทอง จันทศิริ จึงสอนว่า “หัดเสียสละ ความรู้สึกที่ไม่ดีในจิตใจออกไปบ้าง สละความโกรธ ไม่พอใจ ออกไปบ้าง ถือเป็นยอดของทาน”
...
วันนี้ ระหว่างรอว่า เลขเด็ดที่ได้มา จะพารวยหรือเจ๊ง กับผลลอตเตอรี่ บนดินใต้ดิน เราไปดูพระเครื่องวันนี้กันก่อน เริ่มด้วย พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ วัดใหม่อมตรส กทม. ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมมาตรฐาน อันดับท้ายๆในสกุลพระสมเด็จบางขุนพรหม ที่ค้นพบจากการเปิดกรุพระเจดีย์ใหญ่ เป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
พบพระมากมาย นำมาแยกพิมพ์ย่อยๆ ๒ แบบหลัก คือ ๑.พิมพ์ฐานปิด ดูจากฐานชั้นล่างเชื่อมปิดทั้งสองข้าง ๒.พิมพ์ฐานเปิด ดูจาก ฐานชั้นล่างด้านขวาองค์พระ ไม่มีเส้นเชื่อมปิด
องค์นี้ของ เสี่ยทศพล ไหลสงวนนาม เป็นพิมพ์ “ฐานปิด” งามสมบูรณ์ ครบเครื่องทั้งฟอร์มทรง พิมพ์พระ เนื้อมวลสาร สีเนื้อ และสภาพคราบกรุ ที่ถูกลอกออกด้วยฝีมือชั้นครูรู้รักษาพิมพ์พระ โดยลอกคราบกรุ เฉพาะด้านหน้าเปิดเห็นพิมพ์พระและเส้นศิลป์ที่ชัดเจน
ส่วนด้านหลัง รักษาสภาพคราบกรุไว้แบบเดิมๆ ไม่แตะต้อง เพื่อเป็นกรณีศึกษา ถึงสภาพคราบกรุที่เป็นอัตลักษณ์ อย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นหลักฐาน บอกอายุความเก่าอย่างเป็นธรรมชาติ
ตามมาด้วย พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ (ไม่มีหู) วัดใหม่อมตรส อีกองค์ ที่ได้ข่าวตามมาติดๆ เป็นอีกพิมพ์นิยมมาตรฐานของกรุ ที่มีพิมพ์แยกย่อย ๖ แบบ คือ ๑.พิมพ์ไม่มีหู แขนกลมเข่าบาง ๒.พิมพ์ไม่มีหู แขนกลมฐานสิงห์ ๓.พิมพ์ไม่มีหู ทรงชะลูด เข่าใหญ่ ๔.พิมพ์ไม่มีหู เข่าหนา ๕.มีหู (โค้ง) ๖.มีหู (ขนาน) ที่ว่ากันตามแรงกิ้ง ได้รับความนิยมเหนือกว่า “พิมพ์ฐานคู่”
แต่มีโน้ตจาก “คุ้ม โสนลอย” ดำริห์ โรจน-พาณิชย์วงศ์ เจ้าของพระ ว่า พระองค์นี้ มีชำรุดเล็กน้อย แบบเนื้อเดิมอยู่ครบจึงฝากให้ท่านผู้ชมพิจารณาหาจุดชำรุดเป็นการบ้าน
...
ต่อด้วย พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก องค์นี้ เป็นพระพรีเมียม ดีกรีแชมป์ของพิมพ์ ที่นักนิยมสายตรง เห็นต้องจำได้ว่าเป็นพระของ “โป๊ย เสี่ย” ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์
และเป็น องค์แชมป์ ผ่านงานประกวดรับรางวัลมามากแบบไม่มีองค์สู้ ด้วยสภาพ พระที่สมบูรณ์ สวยเดิมๆ แบบเต็มร้อย ไร้ริ้วรอยสัมผัสใช้
ซึ่งยากมากที่จะได้พบเห็นพระพิมพ์นี้สภาพนี้ เพราะเป็นพระใน หมวดพิมพ์เล็ก ที่แรกพบขึ้นจากกรุ คนไม่สนใจซื้อขาย ใช้เป็นเพียง พระน้ำจิ้ม แจกแถม เวลามีการตกลงซื้อขายพระพิมพ์ใหญ่ๆ ซึ่งคนได้มาก็มักจะส่งต่อให้ลูกเมีย คุณแม่หรือคุณย่า คุณยายไปใช้บูชา
สมัยนั้นก็นิยมคล้องคอบ้าง ผู้หญิงก็มักใส่ในตลับขี้ผึ้งสีปาก เพื่ออานุภาพของพระจะได้ซึมซาบอยู่ในสีผึ้ง เวลาควักมาแตะปาก พูดเจรจาอะไร ก็ได้ผลสมหวัง
...
องค์พระจึงผ่านการสัมผัส ทำให้พิมพ์พระลบเลือน มาถึงปัจจุบัน จึงยากที่จะได้เห็น องค์พระที่งดงามสมบูรณ์เพอร์เฟกต์อย่างองค์นี้ ที่ใช้เป็น “องค์ครู” ในการพิจารณาทั้งฟอร์มทรง พิมพ์พระ เนื้อมวลสาร สภาพคราบกรุ ผิวเนื้อ ได้อย่างมั่นใจ
ถัดไปเป็น พระปิดตา พิมพ์ว่าวจุฬาเล็ก เนื้อผงคลุกรัก จุ่มรัก หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ก็เป็น พระองค์ครู ในตำนาน ที่ทำให้นักนิยมพระปิดตาสายตรง เรียนรู้ว่าเป็น พระปิดตา พิมพ์พิเศษ ที่ หลวงปู่เอี่ยม สร้างไว้จำนวนน้อยมาก
ถึงปัจจุบัน มีปรากฏในวงการ ไม่ถึง ๑๐ องค์ ลักษณะเป็น พระปิดตา เนื้อผง คลุกรัก จุ่มรัก รูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดจิ๋ว ด้านหน้า เป็น องค์พระปิดตา รูปทรงเดียวกับ พระปิดตาพิมพ์ว่าวจุฬา
ด้านหลัง อูมเรียบ เป็นจุดพิจารณา พระแท้ประกอบการพิจารณา เนื้อมวลสาร อายุความเก่าของเนื้อรัก ต้องเป็นเช่นเดียวกับพระปิดตาพิมพ์ นิยมอื่นๆ--องค์นี้ ปัจจุบันเป็นของ เสี่ยเพชรอิทธิ ชวลิตธำรง
...
องค์ที่ห้า ก็เป็น พระปิดตา พิมพ์กลีบบัว เศียรแหลม จากสำนัก หลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ๑ในพิมพ์นิยมมาตรฐาน ที่นักนิยมพระปิดตาสายตรงแสวงหา
ตอนนี้ซื้อขายกันในราคา หลักแสนกลางถึงปลาย โดยเฉพาะองค์งามๆ ดูง่ายๆ สภาพสมบูรณ์เดิมแบบองค์นี้ของ เสี่ยสถิต ราชบุรี ที่ฟอร์มทรงมาตรฐาน พิมพ์พระถูกต้อง เนื้อพระเข้มข้น มวลสารครบสูตร
ต่อด้วย เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๐๘ หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เหรียญดี เหรียญดัง จากแดนใต้
เหรียญนี้สร้างไว้เป็นเหรียญที่ระลึก โดย พระครูวิสัยโสภณ หรือพระอาจารย์ทิม ธมฺมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ คราวได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโทพัดขาวฝ่ายวิปัสสนา
ลักษณะเป็น เหรียญรูปทรงเสมา ด้านหน้าเป็นรูปจำลองหลวงปู่ทวดนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ล้อมด้วยอักขระ พระคาถาภาษาขอมว่า นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภควา ปิดหัวท้ายด้วยรูปช้าง
ด้านล่างมีอักษรบอกนาม หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ มีหูห่วงในตัว ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปจำลอง อาจารย์ทิม หน้าตรง มีอักษรขอมล้อมข้าง และอักษรไทยบอกนาม พระครูวิสัยโสภณ (ทิม) งานเลื่อนสมณศักดิ์ ๐๘ เนื้อเหรียญ มี ทองคำ เงิน ทองแดงรมดำ เนื้ออัลปาก้า พิมพ์นิยม แบ่งเป็น ๒ บล็อก ๒ ตัวตัด (ขอบข้างเหรียญ) โดยบล็อกนิยม ตัวตัดแรก มี เนื้อทองแดงรมดำ กับเนื้ออัลปาก้า
ราคาค่าปัจจุบัน เนื้อทองคำหลัก ๑๐ ล้าน เนื้อเงิน แสนปลายๆ อัลปาก้าแสนกลางๆ ทองแดงรมดำแสนต้นๆ
องค์นี้เป็นของ เสี่ยแพะ อมฤทธิ์ เป็นเหรียญสภาพสมบูรณ์สวยเดิมๆ ที่มีผู้แสวงหากันมาก เพราะมีประสบการณ์คำร่ำลือ ให้เชื่อกันมากว่ามีอานุภาพ เสริมส่งให้ผู้ใช้บูชา มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต
สุดท้ายขอเสนอ พระพุทธรูป พุทธศิลป์สมัยเชียงแสน สิงห์ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๒๐–๒๑ หน้าตัก ๕'' ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน ยุคสุดท้าย ที่รับเอาอิทธิพล พุทธศิลป์สมัยลังกาวงศ์ ที่เข้าสู่สยามยุคสุโขทัยเป็นราชธานี
มีเรื่องราวบอกเล่าว่า พระพุทธรูปเชียงแสน มีต้นกำเนิดทางเหนือ ซึ่งมีหลักฐานประวัติศาสตร์ว่าเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรที่มีความเจริญ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ชื่อ “อาณาจักรเชียงแสน” ซึ่งในสมัย พระเจ้าอนุรุท ของพม่า แผ่อำนาจเข้ามาปกครองเชียงแสน ได้นำเอาพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน (เถรวาท) อย่างพุกาม เข้ามาเผยแผ่
ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนานิกายหินยาน ที่เข้ามาทางอินเดียผ่านพม่ามอญ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ พระพุทธรูปเชียงแสน ได้รับอิทธิพล พระพุทธรูปศิลป์อินเดีย สกุลช่างปาละ ด้วย
ปาละ คือราชวงศ์ที่ปกครองแคว้นพิหารและเบงกอล ในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๗ ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายานนิกายตันตระ ที่นิยมการใช้เวทมนต์คาถา ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนาลันทา
ในยุคนี้ ได้สร้างพระพุทธรูปเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศาสดา เป็นองค์พระนั่งปางมารวิชัย สมาธิเพชร ปรากฏพระบาทหงายทั้งสองข้าง พระรัศมีเป็นดอกบัวตูมหรือลูกแก้ว พระเกศาขมวดกลมเป็นก้นหอยใหญ่ พระพักตร์กลมอมยิ้ม พระหนุเป็นปม องค์อวบสมบูรณ์ พระอุระนูน ชายผ้าสังฆาฏิอยู่เหนือพระอังสาซ้ายสั้น ปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปของไทย
พระพุทธรูปเชียงแสน ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เมืองเชียงแสน ยังเผยแพร่สู่เมืองเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน และข้ามแม่น้ำโขง ไปสู่เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง กำเนิดเป็น พุทธศิลป์เชียงแสน ลาว (เชียงแสนนอกเมือง) อายุสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เทียบได้กับอายุพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ ๓ หรือสมัยอยุธยา
พระพุทธรูปเชียงแสนของไทย มีการพิจารณากำหนดอายุสมัยไว้ ๓ ยุค คือ สมัยเชียงแสนสิงห์ ๑ สิงห์ ๒ สิงห์ ๓ ส่วนเรื่องนามเรียก พระสิงห์ มีข้อสันนิษฐาน ว่า เรียกจากความสง่างาม น่าเกรงขามของพุทธศิลป์ เปรียบได้ดังพญาราชสีห์ ซึ่งนิยมเรียกสั้นๆว่า “สิงห์” ๒.แปลงมาจากคำว่า สิงหล ต้นตำรับการสร้างพระพุทธรูป แบบลังกาวงศ์ อันเป็นต้นแบบการสร้างพระพุทธรูป ในอาณาจักรสยาม คือพระพุทธสิหิงค์
องค์นี้ของ “พี่หริ” ศิริ คูวิบูลย์ศิลป์ เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ ๓ ที่มีความงามเป็นที่สุด แบบฝีมือช่างหลวง ทั่วทั้งองค์ ครอบคลุมด้วย สนิมสีเขียวหยก ที่เกิดจากเนื้อใน บอกอายุความเก่าถึงยุค ถือเป็นพระพุทธรูปล้ำค่าองค์หนึ่งของยุคสมัย
อีกรายการเป็น พระพิมพ์ท่ากระดาน เนื้อตะกั่ว หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี พระอมตะเถราจารย์ที่ได้ชื่อเป็น พระผู้ทรงอภิญญา รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เชี่ยวชาญในวิปัสสนากรรมฐาน ชำนาญ ในพระเวทวิทยาคม สมุนไพร แพทย์แผนโบราณ
เชื่อกันว่าท่านเป็นศิษย์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ครั้งบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีภาพถ่ายเป็นหลักฐาน
ท่านมีชื่อเสียง เป็นพระอาจารย์ใหญ่ทั้งวิชาบุ๋น-บู๊ แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน พระเกจิฯ ผู้มีชื่อเสียงในยุคต่อมา ล้วนเป็นศิษย์สืบทอดวิชาของท่าน อาทิ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน จ.สุพรรณบุรี
และยังเป็นพระสหมิกธรรมผู้มีอาวุโสสูง ของ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโฆษาจารย์ วัดสุทัศน์) และ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม
ตลอดอายุ ท่านสร้างพระเครื่องของขลังวัตถุมงคลด้วย เนื้อตะกั่วเข้าปรอท ที่มีขั้นตอนการหลอมตะกั่ว ฆ่าปรอท ด้วยวิชาอาคมที่วิจิตรพิสดาร ตามตำรับวิชาไว้มากมายหลายรูปแบบ
ทั้ง ตะกรุด ลูกอม และพระเครื่อง ที่มีทั้งที่สร้างพิมพ์ขึ้นใหม่ จากรูปแบบเดิมอย่าง พระงบน้ำอ้อย พระพิมพ์เศียรโล้น และพิมพ์ที่ถอดจากพระต้นแบบที่มีชื่อเสียงเช่น พระปรุหนัง พระพุทธรัตนะ
และอย่างองค์นี้ของ ดร.ณัฐธัญ มณีรัตน์ ที่เป็น พิมพ์พระท่ากระดาน ที่พบเห็นน้อยมาก ซึ่งพิจารณาพิมพ์พระ จะขาดความคมชัดงดงาม แต่อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ ว่ากันว่ามีอิทธิฤทธิ์ด้านคุ้มครองป้องกันภัย ถึงคงกระพันชาตรี เทียบได้กับ พระท่ากระดาน เกศบิดตาแดง ต้นตำรับ
มาถึงเรื่องลาปิดท้ายของ “เสี่ยแจ๊ค” พ่อค้าพระเครื่องเดินสาย เปิดแผงขายพระตามตลาดนัดทั่วไป โดนจับตรวจโควิด-๑๙ แล้วผลเป็นบวก
ทางการจึงกำหนดวันเวลา ส่งรถมารับ นำตัวเข้าไปกักบริเวณดูอาการใน รพ.สนาม ๑๔ วัน พอถึงวันนัด “เสี่ยแจ๊ค” ก็รวบรวมพระเครื่อง ของขลังใส่กระเป๋าใบใหญ่ จะเอาไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ติดเชื้อโควิด-๑๙ ได้ไปอยู่ใกล้หมอ มียารักษา ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องเอาพระไปเยอะขนาดนี้ เพราะคงช่วยไม่ได้ และเป็นภาระเปล่าๆ
เสี่ยแจ๊ค ฟังแล้วบอกว่า ป่าวคับ ผมไม่ได้ขนพระไปช่วยรักษา แต่ต้องไปอยู่ตั้ง ๑๔ วัน คงเบื่อแน่ จะได้ตั้งวงพระกับผู้ป่วยร่วมรุ่นให้หายเหงา และเผื่อขาย ให้ใช้เป็นที่พึ่งทางใจ จะได้ไม่ขาดรายได้ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง