กระบวนการเรียนรู้เรื่องพระสมเด็จวัดระฆังนั้น...ผู้รู้ท่านมักจะสอนให้ดูไปทีละองค์ แต่ละองค์จะมีจุดเด่น...จุดด้อยแตกต่างกันไป เมื่อเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าผิวหรือเนื้อหรือธรรมชาติในองค์พระ จะแตกต่าง จนแทบจะเป็นขาวเหมือนดำ แต่โดยภาพรวม พระสมเด็จแท้จะเหมือนกัน

ดูพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์มาตรฐานคุ้นตา องค์ในคอลัมน์ เนื้อพระส่วนที่สึกช้ำ สีเข้มคล้ำ คล้ายสีโกโก้อ่อน เมื่อตัดกับพื้นผนังผิวแป้งโรยพิมพ์ เขียวอ่อนนวลๆซีดๆ ที่เรียกผิวสีก้านมะลิ องค์พระก็ดูยิ่งโดดเด่นเป็นสง่า ซึ้งตาซึ้งใจกว่าอีกหลายองค์

เอาแว่นสิบเท่าส่องเจาะลึก ก้อนขาวเล็กใหญ่ หลวมๆอยู่ในหลุม บางก้อนเห็นชิ้นรักแทรก บางก้อนเป็นฝ้าแป้งขาว เม็ดขาวหลวมๆ เหล่านี้ เป็นยิ่งกว่า “หมุดหมาย” ประทับ ความเป็นพระสมเด็จวัดระฆังแท้

พลิกด้านหลัง ริ้วรางกาบหมาก บางๆ หลุมร่องเล็กใหญ่ รอยยุบรอยแยก ไปถึงขอบสี่ด้านที่ลบมุมมนๆตามธรรมชาติการจับต้อง...ก็ยิ่งบอกถึงสัญลักษณ์ ด้านหลังสมเด็จวัดระฆังมาตรฐาน

จะใช้คำคุยว่า แท้ยิ่งกว่าแท้ได้โดยไม่เกรงใจ หากคุยในกลุ่มคนเป็นพระด้วยกัน

เนื้อหาที่ตั้งใจจะเน้นหนักในวันนี้อยู่ที่เรื่องสีเนื้อพระที่เข้มคล้ำเหมือนสีโกโก้อ่อนนี่แหละ

เนื้อสีนี้ครู “ตรียัมปวาย” ท่านเรียก “เนื้อกระแจะจันทน์” ไม่ได้หมายความว่า เป็นเนื้อที่ทำมาจากแป้งกระแจะจันทน์ แต่เป็นเนื้อที่ค่อนข้างละเอียด ประกอบไปด้วยวัสดุหม่นคล้ำผสมอยู่มาก เหมือนเนื้อแป้งกระแจะจันทน์ที่ปรุงด้วยผงไม้หอมหลากชนิด มีสีหม่นกว่าแป้งธรรมดา เราเคยเห็นเนื้อสมเด็จวัดระฆังสีนี้กันบ้าง แต่ก็น้อยองค์

เหตุผลข้อแรก เนื้อสีนี้เป็นสีเนื้อที่มากับส่วนที่สึกช้ำ ถ้าผิวแป้งโรยพิมพ์ยังปกคลุมอยู่ เราก็อาจเห็นเป็นเนื้ออื่น เช่นเนื้อเกสรดอกไม้ หรือเนื้อปูนนุ่ม ซึ่งที่จริงก็เป็นเนื้อในองค์พระเดียวกัน

...

ประเด็นที่เป็นคำถาม เนื้อในพระสมเด็จวัดระฆังที่เห็นคุ้นตา ส่วนใหญ่เป็นเนื้อเหลืองอ่อน หรือเป็นเนื้อขาวอมเหลือง เหมือนสีนมข้น ส่วนน้อยเป็นเนื้อขาว (ว่าเฉพาะส่วนที่สึกช้ำ)

ส่วนเนื้อเหลืองเข้มคล้ำ จนเป็นสีโกโก้นั้น มีน้อยมาก นานๆจะผ่านตาสักองค์

ยิ่งในระยะหลัง พระปลอมฝีมือดีออกมา ยิ่งกลัวกันไปใหญ่ พระสมเด็จวัดระฆังองค์เนื้อสีเข้มคล้ำ ก็ยิ่งถูกเมิน

ความจริง เนื้อนี้ เซียนรุ่นเก่าชอบมากกว่า เนื้อเหลืองอ่อน หรือเนื้อขาว เอาด้วยซ้ำ ผมเคยได้ยินคำว่า “ซึ้งจัด สะใจ” มาเต็มสองหู

ถามต่อ ทำไมสีเนื้อพระสมเด็จจึงไม่เหมือนกัน คำตอบ มาจากสัดส่วนของน้ำมันตังอิ้วที่เป็นเชื้อประสานพระให้เหนียวแน่น ไม่แตกร้าว ตามคำแนะนำของหลวงวิจารณ์เจียรไน ช่างทองหลวง

องค์ไหน สัดส่วนน้ำมันตังอิ้วมาก สีของเนื้อพระก็เข้มคล้ำตามสีน้ำมัน

องค์ใดที่สัดส่วนน้ำมันกับปูนเปลือกหอยพอดีๆ ก็ออกขาวอมเหลือง องค์ไหนสัดส่วนน้ำมันตังอิ้วน้อย ก็ออกขาวตามสัดส่วนของปูนเปลือกหอย

นักเล่นรุ่นใหม่ ไม่ค่อยสนใจศึกษา พระตระกูลสมเด็จ...มีอย่างน้อยสองวัด ที่ถึงวันนี้อายุการสร้างถึงร้อยปี

เช่น กรุวัดอัมพวา ฝั่งธนบุรี และสมเด็จมฤคทายวัน หลังยันต์ ของหลวงปู่นาค ที่หัวหิน ลักษณะเด่นของเนื้อพระสองวัดนี้ เนื้อผงละเอียดแน่น สีเหลืองอ่อนไปถึงสีเหลืองเข้ม แทบไม่เห็นมวลสาร วงการเรียก “ผงน้ำมัน”

ถ้าให้เดาก็เดาได้ว่า พระสองวัดนี้ สัดส่วนน้ำมังตังอิ้วมาก จนกลืนปูนและมวลสาร (ถ้ามี) เป็นเนื้อเดียวกัน

ถ้าเปรียบกับพระสมเด็จวัดระฆังองค์ที่เนื้อสีโกโก้สัดส่วนน้ำมันน้อยกว่า ทั้งความเข้มข้นของน้ำมันตังอิ้ว ก็ไม่ประสานเนื้อพระจนกลืนเป็นเนื้อเดียว จึงปรากฏริ้วรอยธรรมชาติ รอยยุบ รอยแยก รอยยับ เห็นรายละเอียดของส่วนผสม เป็นเหตุจูงใจให้ส่องแล้วส่องเล่า

หากจะว่ากันไป เสน่หายาใจ ของคนรักพระสมเด็จ อยู่ที่การส่องดูมวลสารนี่ล่ะกระมัง.

พลายชุมพล