การตรวจสอบอำนาจรัฐ คือพื้นฐานประชาธิปไตย
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2568

...
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน...จากการที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาจุดพลุแนวคิดเรื่อง การซื้อหนี้ของประชาชน ออกจาก ระบบธนาคาร ล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องหนี้เป็นเรื่องที่ อดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งเป็นนักธุรกิจมาก่อน และเป็นนายกฯมา 6 ปี มองเห็นปัญหาเรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนก็หาทางช่วยว่ามีอะไรบ้างที่จะสามารถคิดขึ้นได้ เป็นความคิดของคนที่หวังดีกับประเทศ แต่ถ้ามองในทางการเมืองกระบวนการกว่าจะผ่านจะต้องพูดคุยกัน นำเข้าที่ประชุม ครม. และนำเข้าที่ประชุมสภา ไม่ใช่การครอบงำอะไร แต่เป็นความคิดของคนที่มีความรู้เท่านั้นเอง ส่วนในเรื่องการทำให้เกิดขึ้นจริงเดี๋ยวจะไปคุยกันกับ รัฐมนตรี และ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ เพื่อหาทางออก ซึ่งก็อยากให้เป็นจริงอยู่แล้ว อะไรดีๆก็อยากให้เป็นจริง

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็รับลูกทันที ด้วยการนัดหารือกับ สมาคมธนาคารไทย เพื่อหาช่องทางความร่วมมือในการเดินหน้า การซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคาร ตามแนวทางของ อดีตนายกฯทักษิณ แต่เบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดและผลการหารือ...งานนี้ชัดเจนเป็นไปตามแนวทาง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” แต่จะทำได้สำเร็จรึเปล่า ยังต้องรอพิสูจน์

...
ผ่างๆ...เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ตัวแทน ครม. โดยมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือกรอบเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯแพทองธาร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151...ภายหลังการประชุม ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้ข้อสรุปกรอบเวลาอภิปรายคือ ฝ่ายค้าน ได้ 28 ชั่วโมง ครม. และ ฝ่ายรัฐบาล ได้ 7 ชั่วโมง ประธาน 2 ชั่วโมง โดยจะเริ่มอภิปรายวันที่ 24 มี.ค. นี้ เวลา 08.00 น.

...
โดยมีเงื่อนไขตกลงร่วมกันคือ หากมีการประท้วงทำให้ ฝ่ายค้าน ใช้เวลาไม่หมด หรืออภิปรายได้ไม่ครบ เพื่อไม่ให้เกิดการอภิปรายนอกสภาต้องให้สิทธิ์ฝ่ายค้านอภิปรายได้ แม้จะเกินเวลาของแต่ละวัน จากเดิมที่กำหนดให้อภิปรายแต่ละวันไม่เกิน เที่ยงคืน หากการอภิปรายวันที่ 25 มี.ค. เมื่อถึงเวลา 23.30 น. แต่ฝ่ายค้านยังใช้เวลาฝ่ายตัวเองไม่หมด ก็จะให้ฝ่ายค้านใช้โควตาอภิปรายต่อไปจนครบ อาจทำให้ต้องเลื่อนการลงมติจากวันที่ 26 มี.ค. เป็นวันที่ 27 มี.ค.

...
งานนี้ไม่ว่าจะใช้เวลาอภิปรายมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ เนื้อหา และ หลักฐาน ในการอภิปรายและการชี้แจงตอบโต้ ใครจะทำได้เข้าตาประชาชนมากกว่ากัน
อืม...จากกรณีเกิดเหตุการณ์ คานเหล็กหล่อคานปูน โครงการก่อสร้างทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก พังถล่มเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 20 คน...นายกฯแพทองธาร ได้เรียกประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคม โดยมี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม และ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยกำชับให้หาทางป้องกันและดำเนินการเอาผิดกับ ผู้รับเหมา และ ที่ปรึกษาโครงการ ทั้งทางแพ่งและอาญา...หลังการประชุม รองนายกฯสุริยะ ระบุว่า นายกฯ สั่งการว่าหากมีการตรวจสอบแล้วเกิดจากความผิดของ บริษัทผู้รับเหมา หรือ ผู้ควบคุมงาน ก็ให้ใช้บทลงโทษสูงสุดใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง

ส่วนมาตรการสมุดพกตัดแต้ม อธิบดีกรมบัญชีกลาง บอกว่าปัจจุบันตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างสามารถนำมาใช้เพื่อขึ้น แบล็กลิสต์ ได้เลย โดยไม่ต้องรอ มาตรการสมุดพก ซึ่งแต่ละกรมต้องใช้ดุลพินิจ ทางเจ้าหน้าที่ก็ห่วงอาจถูกฟ้องร้องได้ จึงควรตรวจสอบให้ชัดเจน หากเป็นความบกพร่องของ ผู้รับเหมา ก็จะใช้มาตรการสูงสุด และสำหรับเรื่องความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างได้เสนอให้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) มาตรวจสอบโดยจะจัดจ้างเป็นที่ปรึกษาคำนวณความปลอดภัยในการก่อสร้างเพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น โดย มาตร การสมุดพก จะสามารถบังคับใช้ได้ก่อนสิ้นเดือน เม.ย. นี้ เมื่อมีมาตรการต่างๆออกมาชัดเจน ความปลอดภัยจะดีขึ้นแน่นอน และยืนยันการก่อสร้าง ถนนพระราม 2 จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ตามกำหนดการเดิมอย่างแน่นอน

งานนี้จริงๆ แล้วน่าเห็นใจ รองนายกฯสุริยะ ในฐานะ รมว.คมนาคม ที่ต้องรับบทหนักแก้ปัญหาเพราะ สัญญาก่อสร้าง ทำมาก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง โดยในสัญญามี โทษปรับ เฉพาะเรื่องทำงานล่าช้า ทำให้ ผู้รับเหมา ไม่เกรงกลัว
ล่าสุด รองนายกฯสุริยะ จึงเสนอ กรมบัญชีกลาง ให้มีบทลงโทษในเรื่องความปลอดภัยกรณี ผู้รับเหมา ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ประชาชนบาดเจ็บ จะถูก ตัดแต้ม ถ้าทำให้ บาดเจ็บ หลายครั้งติดต่อกัน หรือทำให้ ประชาชนเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว จะถูก ตัดสิทธิ์ ไม่ให้เข้ารับงานเป็นเวลา 1 ปี หากข้อกฎหมายและสัญญาจัดจ้างเรื่องมาตรการลงโทษ ผู้รับเหมากรณีเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงมีความรัดกุมชัดเจน เชื่อว่ามือบริหารระดับ รองนายกฯสุริยะ คงต้องใช้ความเด็ดขาดจัดการทั้ง คดีแพ่ง คดีอาญา และ ตัดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลงาน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแน่นอน เพราะความปลอดภัยของประชาชนสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

สังคมทั่วไป
พรเทพ ฉันทนาวี ผอ.ฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนา กลุ่มบริษัท TCC Capital Group เป็นวิทยากรฝึกอบรมหลักสูตร “HR Recruiter กับการสร้างข้อคำถามเพื่อสัมภาษณ์ให้ได้คนที่เหมาะสมกับตำแหน่ง” จัดโดย บริษัท ฝึกอบรมและ สัมมนาธรรมนิติ จำกัด ที่ห้องประกายเพชร โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ 21 มี.ค. 09.00 น.
"ธนูเทพ"
คลิกอ่านคอลัมน์ “บุคคลในข่าว” เพิ่มเติม