ทีมงานซอกแซกพิมพ์ต้นฉบับวันนี้ในช่วงบ่ายๆของวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 ซึ่งตรงกับวันแรกของการจัดงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดใช้งานจริงของ “สะพานทศมราชัน” หรือสะพานพระราม 10 ในเร็วๆนี้

ดังนั้นเพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้มีโอกาสสัมผัสกับสะพานแห่งใหม่อย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว จะไม่สามารถเดินชมหรือสัมผัสได้อีกเลย

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงได้ตัดสินใจจัดงานดังกล่าวขึ้น โดยแยกออกเป็น 2 กิจกรรมหลักๆ ได้แก่...กิจกรรมประการแรก จะเปิดสะพานให้ประชาชนขึ้นเดินชมเป็นเวลา 10 วันเต็มๆ ระหว่างวันที่ 10 มกราคม-19 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 16.00 ถึง 22.00 น. ของแต่ละวันดังกล่าว

ระหว่างชมจะหยุดยืนถ่ายภาพทั้งภาพของตัวสะพาน หรือภาพของผู้เดินชม ทั้งในแบบทั่วไป และในแบบเซลฟี่ได้ตลอดงาน โดยจะมีการนำสินค้า OTOP จากชุมชนและพันธมิตรกว่า 50 ร้านมาวางจำหน่ายด้วย

สำหรับ กิจกรรมประการที่ 2 ได้แก่ กิจกรรมเดิน-วิ่งบน สะพานทศมราชัน ในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 ซึ่งจะมีการปล่อยตัวนักวิ่ง เวลา 05.00 น. สำหรับการเดินและวิ่งเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องลงทะเบียนพร้อมค่าสมัคร 499 บาท โดยผู้สมัคร 10,010 คนแรก จะได้รับเสื้อ Finisher พร้อมเหรียญที่ระลึกปี 2530 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปิดสะพานพระราม 9 และได้จัดทำเหรียญไว้

สามารถสมัครลงทะเบียนได้ที่ https:// race.thai.run/SukTem10 ตั้งแต่วันที่ 10-19 มกราคม 2568 เวลา 10.10 น. และมารับเลขหมายวิ่ง (BIB) ในวันที่ 24-25 มกราคม เวลา 10.00-20.00 น. ณ ห้องประชุม 0101  อาคารศูนย์บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ถนนริมคลองบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม.

...

หัวหน้าทีมซอกแซกขอทำหน้าที่ในการช่วยประชาสัมพันธ์ให้แก่กิจกรรมทั้ง 2 กิจกรรมนี้ โดยนำรายละเอียดโดยสังเขปมาลงเผยแพร่และชักชวนท่านผู้อ่านไปร่วมกิจกรรมทั้ง 2 ประการ ตามความสะดวกและความประสงค์ของแต่ละท่าน

เพื่อร่วมจารึกประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งสำหรับพวกเราชาวไทย ในโอกาสที่ประเทศไทย อันเป็นที่รักของเรามีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งเปรียบเสมือนหมุดหมายและขั้นตอนในการพัฒนาประเทศ

ดังเช่นเมื่อครั้งมีการสร้าง “สะพานพระราม 9” ซึ่งเป็น สะพานเสาขึง ระนาบเดี่ยวแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อข้าม แม่น้ำเจ้าพระยา ตามเส้นทางของ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร สาย ดาวคะนอง–ท่าเรือ และได้เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2530

สะพานพระราม 9 ซึ่งสร้างขึ้นในโอกาสอันเป็นมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ 5 ธันวาคม 2530 ได้รับพระราชทานชื่อนี้ จากพระองค์ท่านโดยตรง

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่ สะพานพระราม 9 นำเสนอทั้งข่าวและสารคดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทีมงานซอกแซกเองก็ได้เดินทางไปดูงานระหว่างก่อสร้าง นำเรื่องราวมาเขียนถึงหลายครั้ง

ในยุคดังกล่าวประชาชนมักนิยมเรียกสะพาน “พระราม 9” ว่า “สะพานแขวน” ซึ่งทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็นำมาชี้แจงและช่วยรณรงค์ให้ประชาชนเรียกอย่างถูกต้องตามศัพท์เทคนิคว่า “สะพานขึง” แม้กระนั้นก็ยังมีการเรียกผิดๆว่า “สะพานแขวน” ในปัจจุบัน

ในวันเปิดสะพานได้มีการจัด “วิ่งมาราธอน” ลอยฟ้า เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2530 โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 85,000 คน และในช่วงค่ำวันเดียวกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายก รัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในการจุดเทียนชัยถวายพระพรพร้อมกับพี่น้องประชาชน ซึ่งได้ร่วมกันร้อง เพลงสรรเสริญพระบารมี กึกก้องไปทั่วลำน้ำเจ้าพระยา

แต่ด้วยการพัฒนาประเทศไทยที่ไม่หยุดยั้ง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการทางด้านคมนาคมขนส่งก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัวจนแม้ สะพานพระราม 9 ซึ่งก็ใหญ่โตมากแล้วไม่สามารถจะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้

การทางพิเศษฯจึงตัดสินใจสร้าง “สะพานคู่ขนาน สะพานพระราม 9” ขึ้นอีก 1 สะพาน เป็น สะพานขึง เช่นเดียวกัน แต่ใช้เสาคู่เป็นครั้งแรกของประเทศ และจุดเด่นก็คือมีช่องทางจราจรถึง 8 ช่องทาง หรือกว้าง 42 เมตร เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างที่สุดของประเทศไทย

เริ่มก่อสร้างเมื่อ 16 มกราคม 2563 โดยบริษัท ช.การช่าง และแล้วเสร็จเมื่อ 30 มีนาคม 2566 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 6,635 ล้านบาท

เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมฉลองครบ 6 รอบ 72 พรรษา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานชื่อว่า สะพานทศมราชัน และเสด็จฯมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อ 14 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

ทีมงานซอกแซกขอเรียนย้ำว่าถ้ามีโอกาสอย่าลืมไปร่วมสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเดินชม “สะพาน ร.10” ระหว่าง 10–19 มกราคม และร่วมในการเดินวิ่งเฉลิมฉลองสะพานในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม อย่างพร้อมเพรียงกันอีกครั้งหนึ่งนะครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม