วิกฤติภัยจากธรรมชาติห้ามไม่ได้แต่ป้องกันได้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568
...
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน... ท่ามกลางสถานการณ์ ฝุ่นควัน PM 2.5 มลพิษตามฤดูกาลที่เริ่มแผลงฤทธิ์ในช่วงต้นปีของทุกปี จนกลายเป็นปัญหา วิกฤติมลพิษ ประจำถิ่นของประเทศไทย ล่าสุดพื้นที่เกือบทุกเขตใน กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล มี ฝุ่นควัน PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ปกคลุมคล้ายหมอกจางๆไปทั่วทุกพื้นที่ เริ่มกระทบต่อสุขภาพประชาชน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ...ล่าสุด ในการประชุม ครม. นัดแรกของปี 2568 ที่มี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ได้มีการหารือและมีข้อสั่งการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหา ฝุ่นควัน PM 2.5
...
โดยภายหลังการประชุม นายกฯแพทองธาร ระบุว่า ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ได้เน้นเรื่องสำคัญคือเรื่องฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากตอนนี้ภาพจากดาวเทียมเริ่มเห็นจุดความร้อนและฝุ่นเริ่มมีเยอะขึ้น จึงเน้นย้ำกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องและเน้นย้ำผู้ประกอบการในการรับซื้ออ้อยที่มีกระบวนการจากการเผา โดยในปีที่แล้วปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการเผามีมากถึง 70% ซึ่งปีนี้ลดลงไปเหลือเพียง 30–35% โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการติดต่อเกษตรกรให้มีความร่วมมือกันในเรื่องลดการเผา
...
ทั้งนี้ ได้สั่งการใน ครม. ว่าจะให้ประชาชนทำอย่างไรได้บ้าง โดยหลักๆจะเป็น เรื่องการควบคุมกลุ่มควันต่างๆ ขณะที่ กระทรวงคมนาคม ให้ดูรถขนาดใหญ่ที่เข้ามา และมีการปล่อยกลุ่มควันมาก ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย ให้กำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ทราบว่าช่วงนี้ประชาชนจะรับฝุ่นควันเยอะ โดย รัฐบาล ทำงานทุกๆจุดอย่างเต็มที่ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ และมีการเตรียมการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยปีนี้ ฝุ่นควัน PM 2.5 จะลดลงกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน
งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า หน่วยงานต่างๆ ที่ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับสั่งการจะเข้มงวดในการบังคับใช้ มาตรการลดฝุ่นควัน มากน้อยแค่ไหน หากปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็คงช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นควันพิษให้ลดน้อยลงได้อย่างที่ นายกรัฐมนตรี หวังไว้ แต่ถ้าหย่อนยานปล่อยปละละเลย เพราะมีประโยชน์แอบแฝงสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ก็อาจหนักหน่วงสาหัสมากกว่าปีที่ผ่านๆมา ดังนั้นต้องติดตามรอพิสูจน์ผลการปฏิบัติว่าเข้าเป้าหรือล้มเหลว
...
ผ่างๆ...หลังจาก ฝ่ายค้าน พรรคประชาชน ออกมาโหมโรงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหวังว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดให้มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 14-15 ม.ค.นี้...แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ได้มีการประชุม วิป 3 ฝ่าย โดยมี ประธานรัฐสภา เป็นประธานเพื่อกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยภายหลังการประชุม ประธานวันนอร์ ออกมาระบุว่า เดิมกำหนดจะประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 17 ฉบับ วันที่ 14-15 ม.ค. แต่ที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขทั้งฉบับต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบจึงขอนำไปพิจารณาก่อน รวมถึง พรรคเพื่อไทย จะยื่นร่างเข้ามาเพิ่มอีก และไม่ทราบจะมีพรรคอื่นหรือภาคประชาชนเสนอเข้ามาด้วยหรือไม่ ฉะนั้น จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 256 และหมวด 15/1 ในวันที่ 13–14 ก.พ. นี้ เมื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว การทำประชามติก็สามารถใช้ร่างที่สภาฯยืนยัน หรือร่างที่วุฒิสภาแสดงความคิดเห็นไปทำประชามติได้ หากเป็นเช่นนั้นจะทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่ได้ขัดแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ แต่ยังไม่สามารถจะพูดได้ว่าจะได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในรัฐสภาชุดนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ รับหลักการ และครั้งที่ 2 คือ ร่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไปร่างอีกครั้ง รวมถึงประชาชนจะต้องออกเสียงประชามติอีก 2 ครั้ง เป็นความหวังว่าน่าจะได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หน้าตาเป็นอย่างไรยังพูดไม่ได้...สรุปต้องรอไปอีก 1 เดือน ถึงจะได้ลุ้นว่า ร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ ของแต่ละพรรคแต่ละฝ่ายที่เสนอเข้ามาจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือถูกสกัดโดนตีตก
เฮ้อ... สำหรับท่าทีทางฟาก สมาชิกวุฒิสภา แม้ นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ออกมาแถลงจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ สนับสนุนร่างของ พรรคประชาชน ที่มีเนื้อหา ลดอำนาจ สว. ในการลงมติให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 จำนวน 1 ใน 3 เนื่องจาก สว.ชุดนี้ไม่ได้มาจากประชาชน ยินดีสละอำนาจการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ ให้ตัวแทนประชาชนอย่าง สส.เป็นผู้ลงมติ และสนับสนุนการเลือกตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ...ฟังแล้วน่าชื่นชมที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย ไม่หวงอำนาจ แต่ สว.ส่วนใหญ่ จะเห็นพ้องกับแนวทางนี้หรือไม่ คือปัญหาใหญ่ ถ้าเห็นต่างก็จบเห่ น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
ฮัดชิ้ว...ปิดฉากห้วงรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ไปแล้ว จากสถิติห้วงรณรงค์ 10 วันอันตรายปีนี้ พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุสะสม 2,467 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 436 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,376 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดคือ สุราษฎร์ธานี 89 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ ตรัง 78 ครั้ง ภูเก็ต 74 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือ กทม. 26 ราย รองลงมา ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 24 ราย และ ฉะเชิงเทรา 13 ราย...แม้จากสถิติพบว่าปีนี้มีอุบัติเหตุลดลง เมื่อเทียบกับสถิติปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี แต่ถึงยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดความสูญเสียจนน่าเศร้าใจ จบข่าว
สังคมทั่วไป
ศพ บดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์ (เตี่ยฮั้งเพ้ง) บิดา คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.ระนอง พรรคภูมิใจไทย ตั้งสวดศาลาการเปรียญฯ วัดสุวรรณคีรีวิหาร อ.เมืองระนอง 19.30 น. ถึง 11 ม.ค. พระราชทานเพลิง 12 ม.ค. 13.30 น.
"ธนูเทพ"
คลิกอ่านคอลัมน์ “บุคคลในข่าว” เพิ่มเติม