เป็นเจ้าแม่โปรเจกต์ใหญ่ๆ พอรับตำแหน่ง นายกสมาคมกีฬาเทนนิสสูงอายุไทย บอสใหญ่เคอี กรุ๊ป คุณตุ๋ม–ศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ จึงทุ่มเทให้กีฬาเทนนิส จนเป็นกระแสอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด เพิ่งจัดแข่งขันเทนนิสเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประเภทบุคคลคู่ ซึ่งเป็นการแข่งขันใหญ่ ที่ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีนักเทนนิสทั่วประเทศ นักเทนนิสต่างชาติร่วมแข่งขันล้นหลามเกือบพันคน จนต้องขยายวันแข่งที่คริสตัลสปอร์ต สนามเทนนิสในร่มที่ดีที่สุดของไทย 5 วัน

โดยมีนักกีฬารุ่นใหม่อายุ 30+ ถึงรุ่นใหญ่ 80 ปี อาทิ ดนัย อุดมโชค อดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย จารึก เฮงรัศมี เจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ คู่ผสม เหรียญแรกของไทย วริศ สอนบุตรนาค อดีตทีมชาติไทย เหรียญทองซีเกมส์ ธนะสิทธิ์ อิศราภรณ์ เหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ อวิรุทธ์ ผาผุย เหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ภาสวิชญ์ บูรพาฤทธา เหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ วรัญญา วงค์เทียนชัย เยาวชนทีมชาติไทย ฯลฯ จึงเป็นการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบ และสร้าง มาตรฐานใหม่ในการจัดแข่งขันกีฬา ที่เน้นความสุข สนุกสนาน ทำให้คนรักกีฬาเทนนิสมีกำลังใจว่า วงการเทนนิสไทยมีศักยภาพที่จะไปอีกไกล ในระดับชาติและนานาชาติ

เมื่อเห็นการสนับสนุนจากสมาคมและผู้นำที่มีวิสัยทัศน์อย่าง นายกตุ๋ม ซึ่งไม่ได้เป็นแค่นายกสมาคมฯเทนนิส แต่ยังเล่นเทนนิสจริงจัง และท่าตีดีสวยพอๆกับแฟชั่นสวย ชุดเทนนิส นายกตุ๋ม จึงมี Alo แบรนด์พรีเมียมอเมริกันทุกคอลเลกชัน ซึ่งใช้ก่อนจะเข้ามาเปิดร้านที่ไทย ตามด้วย lululemon แบรนด์ดังแคนาดา รองเท้าใช้ลาคอสท์ และเกือบทุกแบรนด์ เรียงเต็มตู้ เพราะหน้ารองเท้ายังสวย แต่วิ่งสู้ตายจนพื้นสึกหมด จึงต้องมีหลายสิบคู่ ส่วนไม้เทนนิสเปลี่ยนตามชอบที่อินเทรนด์ มีเป็นสิบๆอัน ไม่เน้นไม้หน้าใหญ่ เพราะชอบหวดสปีดแร็กเกตเร็วๆ ใช้หมวกสำหรับเทนนิส (จะแคบกว่าหมวกกอล์ฟ) ก็มี 50 กว่าใบ และเพื่อให้หน้าสวย ต้องใส่ตุ้มหู ซึ่งมีหลายแบรนด์ อาทิ Louis Vuitton แต่ใส่เล็กๆน่ารัก เพื่อให้หน้าไม่โล่ง--สรุปว่าแฟชั่นดีและตีไม่ห่วย.

...

นักการเมืองคนขยันขวัญใจคนสงขลา เจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยากช่วยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ในทะเลสาบสงขลา (เกาะยอ) ที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำกินมาหลายช่วงอายุกว่า 50 ปี แต่หลังเจอวิกฤติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ถูกปลากะพงจากมาเลเซียเข้ามาตีตลาด ขายถูกกว่าปลากะพงสงขลาหลายเท่า ครั้งที่สองช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ร้านอาหาร ตลาดเงียบเหงา จนอาชีพเลี้ยงปลากะพงเกือบสูญหายจากทะเลสาบสงขลา ราคารับซื้อสูงสุดแค่ 120-150 บาทต่อกิโลกรัม คุณเจือ จึงช่วยขอชดเชยราคาจากกระทรวงพาณิชย์ ให้ 30 บาทต่อกิโลกรัม ก็ดีขึ้น แต่ก็ไม่ยั่งยืน แต่โชคดี ที่ทะเลสาบสงขลาซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมี 3 น้ำ น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด ทำให้ปลามีรสชาติดี คุณเจือ จึงจัดตั้งแบรนด์ มหาสมุทรซีฟู้ด และหาช่องทางขาย ทำให้ช่วยยกระดับ ปลาของคนเกาะยอ และชาวสงขลา ให้คนได้รู้จัก

พอ คุณเจือ ส่ง ปลากะพง 3 น้ำ มหาสมุทรซีฟู้ด ให้เพื่อนพ้องช่วยชิม ติชมทุกคนก็ติดใจ เพราะเนื้อขาว หวานแน่นนุ่มลิ้น กลิ่นหอม ทำให้ได้ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) รับรองคุณภาพจากกระทรวงพานิชย์เป็นกลุ่มแรก และเป็นกลุ่มเดียวในไทย ที่สำคัญคือ ไม่คาว เพราะ 6 เดือนก่อน มีเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการไปให้ความรู้เรื่องเทคนิค อิเคะจิเมะ คือทำให้ปลาตายอย่างสงบ แบบไม่ทุบหัว ซึ่งชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบเมื่อ 300 ปีก่อน ว่าการฆ่าปลาด้วยวิธีที่รุนแรง ทำให้ปลาเกิดความเครียดและหลั่งสารที่ส่งผลให้รสชาติของเนื้อปลาด้อยลง อิเคะจิเมะ จึงถูกพัฒนามา เพื่อยกระดับความสดอร่อยของเนื้อปลา พร้อมประโยชน์ต่างๆ เพื่อรักษาคุณภาพปลาให้ดีที่สุด ลดกลิ่นคาว อีกทั้งยังช่วยยืดอายุเนื้อปลา ขณะนี้จึงมีบริษัทมารับซื้อปลาไปส่งขายห้างใหญ่ คือ สยามพารากอน เดอะมอลล์ ท่าพระ และดิ เอ็มโพเรียม สุขุมวิท ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด ผู้บริโภคบอกว่าปลากะพงสามน้ำเกาะยอ เนื้อหวาน และสามารถกินสดแบบซาซิมิได้--ตอนนี้ คุณเจือ จึงสนุกอยู่กับการแปรรูปปลากะพงเกาะยอให้มีเมนูหลากหลายขึ้น ที่กำลังทดลองคือ ทำปลาเค็ม จนจับปลากะพงไม่หลุดมือ เหมือนชาวประมงเกาะยอได้แล้ว.


โสมชบา

คลิกอ่านคอลัมน์ "ของว่างวันอาทิตย์" เพิ่มเติม