จากที่ TU หรือบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้วางกลยุทธ์ SeaChange® 2030 เพื่อช่วยรักษาท้องทะเล โดยจัดตั้ง “โครงการรักษ์ทะเล สร้างบ้านปะการัง ภูเก็ต” ขึ้นเมื่อปีก่อน และได้ทำต่อเนื่องในปีที่ 2 ซึ่ง บิ้กบอส TU ธีรพงศ์ จันศิริ และ พันธมิตร อาทิ SCG มูลนิธิเอิร์ธ อะเจนด้า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนกันลุยฟื้นฟูท้องทะเลอย่างยั่งยืน โดย คุณช้าง-ธีรพงศ์ ดำน้ำลง ไปวางบ้านปะการังที่เกาะราชาเองกับมือ สร้างความชื่นชม ว่าสมกับที่ควบตำแหน่งประธาน SeaBOS SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship กลุ่มความร่วมมือระหว่างบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อดูแลรักษามหาสมุทรและผลักดันให้เกิดการผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน--สำหรับบ้านปะการังที่นำลงไปวางใต้ทะเลครั้งนี้ มีทั้งหมด 109 ชิ้น เป็นนวัตกรรม SCG 3D Printing และตอนติดตามผลการวางบ้านปะการังปีแรก ทุกคนดีใจมาก ที่พบว่ามีตัวอ่อนปะการัง และปลาเข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดูแลท้องทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อโลก เพื่อเรา ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange®2030 ที่ TU มุ่งมั่น
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า สถานการณ์โลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ความสมดุลทางท้องทะเลลดลง เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเสียหาย จำนวนสัตว์น้ำลดลง ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงศักยภาพของการใช้ประโยชน์จากทะเล ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือ การเร่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง โดยโครงการรักษ์ทะเล ของภาคเอกชนอย่าง ไทยยูเนี่ยน และ พันธมิตร จึงมีประโยชน์มาก เพราะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่ามีตัวอ่อนปะการังมาเกาะมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และมีปลามาอยู่อาศัยเป็นบ้าน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความอุดมสมบูรณ์คืนให้ท้องทะเล.
...
เพื่อส่งความสุขรับเทศกาล กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสังคม จึงรวมตัวกันจัดโครงการเยาวชนช่วยเยาวชนผ่านการแสดงเต้นระบำ โดยมีเยาวชนมากความสามารถ ที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันเต้นระดับนานาชาติ คือ พัชร์ชิสา ภักดีวงศ์ รมณ เชื้อเจ็ดตน ตรอง รัตนดำรงอักษร ทิมริน วิง โฮม พร้อมด้วยนักแสดงกิตติมศักดิ์ ภาคิน พลอยภิชา และ วุฒิพงษ์ มงคลพันธ์ สมาชิกจากบางกอกซิตี้บัลเล่ต์ และ แพชชั่น ด๊านซ์ พ่วงด้วยเยาวชนผู้แสดงประกอบ จากหลายโรงเรียนในเชียงใหม่ รวมทั้งโรงเรียนเชียงใหม่นาฏยศิลป์สากล ที่ได้รับรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2544 หรือที่รู้จักกันในนาม สถาบันเชียงใหม่บัลเล่ต์ ซึ่งเป็นโรงเรียนบัลเล่ต์ชั้นนำแห่งหนึ่งในเอเชีย ที่ได้รับรางวัลโรงเรียนต้นแบบอาเซียนปี 2558
งานนี้ จึงได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี อาทิ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, สถาบันออสเตรเลียน ทีชเชอร์ส ออฟ ดานซ์ซิง อินเตอร์เนชันแนล, สมาคมเอทีโอดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน, บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน), สายการบินไทย ไลอ้อนแอร์, ดิ โอเอซิส สปา ประเทศไทย, คลินิกโพโดโลจีเซ็นเตอร์ และชมรมครูผู้ปกครองโรงเรียนเชียงใหม่นาฏยศิลป์สากล สนับสนุนการแสดงเต้นระบำ การกุศล “อะลาดิน 2024 (Aladdin 2024)” ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธ.ค.67 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำรายได้ช่วยเยาวชนที่มีโอกาสน้อยกว่า
การจัดงานครั้งนี้ พอบรรดาผู้สนับสนุนเห็นชื่อ ดร.หม่อมหลวงปรียพรรณ ศรีธวัช นายกสมาคมเอทีโอดีฯ รับเป็นเจ้าภาพจัดการแสดง และควบคุมการฝึกซ้อม ก็พร้อมเพรียงเต็มใจตอบรับเหมือนทุกปี เพราะชื่นชม ที่ หม่อมน้อง-ปรียพรรณ มีมนุษยสัมพันธ์ และได้เห็นมาว่าทุ่มเทพลังในการประสานงานเองทุกขั้นตอน บางครั้งติดภารกิจสำคัญอยู่ต่างประเทศ ก็ยังกำกับทางไกลตลอดเวลา เพื่อให้การแสดงเสร็จสมบูรณ์ บรรลุวัตถุประสงค์ทางการกุศล สำหรับครั้งนี้ แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจ ในการจัดงานใหญ่ ซึ่งเหนื่อยตั้งแต่เริ่มคิด แต่พอเห็นความตั้งใจของเด็กๆ หม่อมน้อง ก็ตัดสินใจเหนื่อย เพื่อให้เด็กได้ช่วยสังคมที่ขาดโอกาส--รายได้จากการแสดง มอบให้กับเยาวชนโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บัตรราคา 500 บาททุกที่นั่ง ซื้อได้ที่ สมาคมเอทีโอดี ฯลฯ 0-5324-1332, 09-9229-7885, 06-5115-9644 และหน้างาน.
โสมชบา
คลิกอ่านคอลัมน์ "ของว่างวันอาทิตย์" เพิ่มเติม