ยามนี้ ครอบครัวของ เฉลิม–ดารณี อยู่วิทยา กำลังปีติ สุขใจ เพราะได้รับกำลังใจมากมายท่วมท้น จากคนที่มีใจเป็นธรรม มองเห็นสิ่งที่ครอบครัวนี้ยังมุ่งหน้าทำประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติตลอดเวลา และทำอย่างเงียบๆ แทบไม่เคยออกสื่อ จนมาถึงเรื่องล่าสุด ที่ คุณเฉลิม ดีใจมาก อยากให้คนไทยได้ดีใจด้วยกัน โดยเฉพาะครอบครัวที่กำลังทุกข์ใจสาหัส กลัวว่าลูกที่เพิ่งเกิดมาดูโลก ต้องเป็นเด็กตาบอด เพราะขณะนี้ ภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยแพทย์ จอห์น ฮอปกินส์ ตอบรับ ความร่วมมือครั้งสำคัญ ในการปรับปรุงและขยายโอกาสการวิจัยและการศึกษา สำหรับ การรักษาโรคจอประสาทตาในเด็กและผู้ใหญ่ ในประเทศไทย ซึ่งมี ศ.ดร.นีล เอ็ม. เบรสเลอร์ และ ศ.ดร.จุน คอง จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ มาร่วมงานกับ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และเปิดตัวให้คนไทยได้ทราบถึงโครงการนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในปีมหามงคล 6 รอบเจริญพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เฉลิม–ดารณี อยู่วิทยา
เฉลิม–ดารณี อยู่วิทยา

...

ที่ คุณเฉลิม ให้การสนับสนุนโครงการนี้ เพราะได้ทราบ จาก ศ.ดร.เบรสเลอร์ และสงสาร ที่เด็กทั่วโลกจำนวนมากรวมทั้งเด็กไทย ที่คลอดก่อนกำหนด จะเสี่ยงต่อการตาบอด ซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตของหลอดเลือดใหม่ บนผิวจอประสาทตา ซึ่งเรียกว่า โรคจอประสาทตาผิดปกติ ในทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งอย่างน้อย เด็กในประเทศไทย 1 ใน 1,000 คน จะตาบอด และ 2 ใน 3 ของกรณีเหล่านี้ เกิดจากโรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ทั่วโลก จะได้รับการตรวจ โดยวิธี ส่องกล้องตา ซึ่งใช้แสงสว่างจ้า เพื่อให้มองเห็นจอประสาทตา แต่การตรวจนี้ ทำให้เด็กทารกเครียด และมีความเสี่ยงทางการแพทย์ และตรวจยาก จึงต้องให้จักษุแพทย์ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ในการประเมินผู้ป่วยตรวจ--แต่หลายภูมิภาค และในประเทศที่โลกที่สาม ก็มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไม่กี่คน ที่สามารถตรวจได้ด้วยกล้องส่องตา โดยมีความเครียดต่อทารกน้อยที่สุด

ศ.ดร.นีล เอ็ม. เบรสเลอร์
ศ.ดร.นีล เอ็ม. เบรสเลอร์

พอทราบว่า ไม่นานมานี้ สถาบันตาวิลเมอร์ (Wilmer Eye Institute) มี กล้องพิเศษ ในการถ่ายภาพตรวจสอบจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนดได้แล้ว และได้นำไปใช้กับเด็กแรกเกิดในประเทศจีน ซึ่งเกิดมาจอประสาทตาผิดปกติกันมาก คุณเฉลิม จึงอยากให้เมืองไทยมีเครื่องมือแพทย์ชิ้นนี้ใช้บ้าง จึงให้การสนับสนุน โครงการป้องกันการตาบอดในเด็กในประเทศไทย โดยบริจาค กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาแบบมุมกว้างสำหรับเด็ก ราคาเครื่องละ 5 ล้านบาท และ เงินทุน ในการดำเนินโครงการต่อไป เพื่อพัฒนาความสามารถในการตรวจให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากที่ถ่ายภาพ และสแกนส่งไปให้จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ Johns Hopkins อ่านผ่านการแพทย์ทางไกลเพื่อวิเคราะห์แผนรักษา ซึ่งต่อไป อาจถูกแทนที่ ด้วยการตีความภาพจอประสาทตา ด้วย AI-ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่ง สามารถตรวจพบหลอดเลือดที่ผิดปกติ ได้ เพื่อส่งทารกไปยังจักษุแพทย์ผู้รักษา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการตาบอดได้ทันเวลา--คุณเฉลิม จึงอิ่มใจกับการสร้างกุศลครั้งนี้ที่สุด และจะบริจาคต่อไป เพื่อให้ ม.จอห์น ฮอปกินส์ และ ม.เชียงใหม่ โดย ผศ.พญ.อัจฉรียา วิวัฒน์วงศ์วนา รศ.พญ.วรพร ชัยกิจมงคล ทำแผนงานเพื่อ ลดการตาบอดในเด็ก สำหรับโรคจอตาเสื่อมจากการคลอดก่อนกำหนด และโรคจอประสาทตาอื่นๆ ที่ยังไม่มีในประเทศไทย และ ขยายไปทั่วโลก

สำหรับ สถาบันวิลเมอร์ (The Johns Hopkins Wilmer Eye Institute) เป็นสถาบันการเรียนการสอนด้านจักษุวิทยา ก่อตั้งเมื่อปี 1925 ซึ่งถูกจัดอันดับว่า ดีที่สุดในสหรัฐฯ โดยเป็นอันดับหนึ่งในปี 2021-2022 ติดกัน 2 ปี (เดิม Mass Eye and Ear Massachusetts General Hospital ของ Havard Medical School เคยเป็นอันดับหนึ่ง) การที่สถาบัน ได้ คุณเฉลิม อภิมหาเศรษฐีระดับโลกและอันดับหนึ่งของไทย แห่ง Red Bull เป็นผู้สนับสนุน จึงได้รับความสนใจของวงการจักษุแพทย์ทั่วโลก--สร้างกุศล ช่วยให้เด็กแรกเกิด ได้เห็นโลก ไม่ต้องเผชิญโลกมืดตั้งแต่เกิด ถือเป็นการให้โอกาสที่ยิ่งใหญ่ต่อเด็กๆ ซึ่งครอบครัวนี้กำลังแสนสุขใจ.

...

โสมชบา

คลิกอ่านคอลัมน์ “ของว่างวันอาทิตย์” เพิ่มเติม