การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism เป็นเทรนด์ใหม่ที่ทั้งโลกกำลังเดินไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้บริบททางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศของแต่ละที่ ล่าสุด ไต้หวัน ประเทศเล็กๆในเอเชีย ได้เริ่มต้นแนวคิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก โดยร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทย อย่าง บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ขยายฐานลูกค้ากลุ่มท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น
ซินดี้ เฉิน ผอ.การท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไต้หวันสูงถึง 6 ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี 2024 นี้ ยอดรวมนักท่องเที่ยวจะสูงขึ้น โดยการท่องเที่ยวไต้หวันตั้งเป้าว่าจะดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้ราว 12 ล้านคน สำหรับประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2567) ที่ผ่านมา มีคนไทยไปเที่ยวไต้หวันรวม 153,638 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.82% เป็นผลจากการขยายระยะเวลานโยบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย 14 วัน ไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 รวมถึงจำนวนเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ-ไต้หวันที่มีเพิ่มมากขึ้น
...
ซินดี้ บอกว่ารัฐบาลไต้หวันมีนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เพื่อสร้างคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวในไต้หวันทั้งตัวนักท่องเที่ยว และผู้คนในสังคมส่วนรวมในประเทศ โดยแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไต้หวันจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1.โครงการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism Initiatives) เพิ่มการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ อุทยานธรณี และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมแผนการบริหารด้านการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น แผนการทำนุบำรุงหรือแผนการฟื้นฟู 2.ปรับปรุงระบบการคมนาคมคาร์บอนต่ำ (Low–Carbon Transport ation) เพิ่มแผนประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินเส้นทางสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ไปจนถึงการเลือกใช้พาหนะที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนน้อย ซึ่งทางไต้หวันได้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เช่า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือการติดป้าย Bicycle Friendly เพื่อสนับสนุนการเดินทางด้วยจักรยาน 3.ออกมาตรฐานคุณภาพผ่านใบรับรองต่างๆ (Certification and Standards) เช่น Green Travel Mark และ Travelife ให้กับธุรกิจบริการท่องเที่ยว เพื่อสร้างมาตรฐาน ทั้งยังเป็นการโปรโมตให้กับธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และ 4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รับจำนวนคนที่มากขึ้น (Infrastructure Development) โดยลงทุนสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เช่น ที่พักอาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบการกำจัดของเสีย รวมไปถึงศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวที่พร้อมดูแล และให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีการออกโลโก้สนับสนุนการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ชื่อว่า “Taiwan-Waves of Wonder” อีกด้วย
นอกจากนี้ไต้หวันยังจัดแคมเปญ “Unseen Taiwan 2024” ตามฤดูกาล เช่น ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) นำเสนอการท่องเที่ยวในไทเป ทั้งอุทยานแห่งชาติหยางหมิงซาน หรือสวนเล่อหัว, นิวไทเป-วัดเทียนหยวน, เจียอี้-อุทยานแห่งชาติอาลีซาน และเถาหยวน-ลาลา เมาน์เท่น ฯลฯ ฤดูร้อน (Summer) นำเสนอการท่องเที่ยวเพื่อชิมอาหารของไต้หวัน ทั้งที่ไทเป ไถจง เกาสง และไถหนาน ที่มีร้านมิชลินอยู่ในทุกสถานที่ รวมทั้งโปรโมต Street Food เพื่อสัมผัสรสชาติอาหารแบบท้องถิ่นสไตล์ไต้หวัน ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) เป็นช่วงที่เหมาะกับการปั่นจักรยานท่องเที่ยว และไต้หวันมีเส้นทางการปั่นจักรยานที่จัดอันดับจาก CNN ว่าเป็น 1 ในเส้นทางจักรยานที่สวยงามที่สุดในโลก คือ เส้นทางปั่นจักรยานรอบทะเลสาบสุริยันจันทรา หรือจะเลือกแช่บ่อน้ำพุร้อนเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงก็ได้ และ ฤดูหนาว (Winter) เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปไต้หวันเพื่อช็อปปิ้ง ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันสิ้นปี จะมีการจุดดอกไม้ไฟสว่างไสวไปทั้งเมืองไทเป และหัวเมืองใหญ่ทั่วเกาะไต้หวัน รวมถึงกิจกรรมรื่นเริงอื่นๆอีกมากมายเพื่อต้อนรับวันขึ้นปีใหม่
...
ด้าน พัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และการตลาดหมวดสายการบิน “เคทีซี” เผยว่า หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของเคทีซีที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอคือเรื่อง Partnership Marketing โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และขยายขอบเขตความร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน โดยความร่วมมือกับการท่องเที่ยวไต้หวันในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดี ยอดรวมการใช้จ่ายที่ไต้หวันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 สมาชิกใช้จ่ายผ่านบัตรที่ไต้หวันเป็นอันดับที่ 5 เมื่อดูจากพอร์ตยอดรวมการใช้จ่ายในต่างประเทศเส้นทางเอเชีย รองจากญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และจีน และยังมีการใช้บริการเดินทางไปยังไต้หวันผ่าน KTC World Travel Service สูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน โดยมียอดใช้จ่ายสำหรับการเดินทางต่อบุคคลอยู่ที่ 23,000 บาทต่อราย
...
เห็นตัวอย่างของไต้หวันแบบนี้แล้ว ถึงเวลาที่การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะยกระดับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าของการท่องเที่ยวให้มีความหมายเพิ่มมากขึ้นได้ในเร็วๆนี้.