ใครๆกำลังขำกับ Talk of the town เรื่อง วุฒิการศึกษา ของ สว.หญิง ที่ทำให้รู้ว่า อยากมี ดร. นำหน้า แต่ไม่ต้องเรียน เป็นเรื่องง่าย เพราะมีตัวแทนรับ ปั้นวุฒิ และทำกันมานาน ส่วน ธันยลักษณ์ พรหมมณี ในฐานะทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก กรมหม่อนไหม ก็ขะมักเขม้นอยู่กับการช่วย ปั้นผ้าไหมไทย ให้ได้มาตรฐาน ของ ตรานกยูงพระราชทาน

หลังจาก กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจัดงานใหญ่ ประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2567 ที่ศาลาพระมิ่งขวัญ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร) พระนครศรีอยุธยา กลางเดือนก่อน ซึ่งเป็นงานสำคัญ มีทั้ง ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประยูร อินสกุล พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม และผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯพร้อมเพรียง โดยมี ธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา และข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานพรึ่บ เพื่อเป็นกำลังใจ และประกาศยกย่อง เกษตรกร เยาวชน บุคคล ชุมชนและหมู่บ้าน ที่ร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่ไหมไทย ผลิตผลงานคุณภาพ และรักษา วิถีการผลิตเส้นไหม การทอผ้าไหมไทย ให้อยู่คู่ชุมชนกันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการนำเสนอ ผลงานภูมิปัญญา การผลิตไหมไทย ที่ได้รับการเชิดชู ว่าเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของประเทศอีกด้วย

...

งานนี้ คุณธันย่า-ธันยลักษณ์ พรหมมณี ซึ่งเป็นทูตอัตลักษณ์ไหมไทย และที่ปรึกษากรมหม่อนไหมของกระทรวงเกษตรฯด้วย รับหน้าที่ ประธานกรรมการ ตัดสินการประกวด สิ่งประดิษฐ์จากผ้าไหม ประเภท กระเป๋าสตรี ระดับบุคคลทั่วไป คุณธันย่า จึงตื่นเต้นมากที่ได้เห็น สิ่งประดิษฐ์สวยงามในงาน ที่ตัวเองมีส่วนร่วมช่วยสร้างโอกาส หาวิธีเพิ่มศักยภาพ ให้เกิดการสร้างสรรค์งานจากผ้าไหมไทย ให้มีอัตลักษณ์ตามแต่ละท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกัน เพราะยิ่งเข้าไปทำงาน ยิ่ง อิน กับเรื่องราวของ ผ้าไหม ที่เป็น มรดกทางวัฒนธรรม ที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ และเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีคุณค่า และยังส่งเสริมนโยบาย Soft Heart Smart Power สร้างความยิ่งใหญ่ให้ ผ้าไหมไทย รักษาภูมิปัญญาอันล้ำเลิศ ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าที่อยู่คู่ไทยตลอดไป ตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้เห็นชัดเจนแล้วว่า จากที่ทรงทุ่มเทอนุรักษ์ไหมไทย ทำให้เกษตรกรที่มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีรายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็รับพระราชปณิธานมาต่อยอด จนสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกถึงผ้าไหมไทยที่เกิดจากศิลปะการร้อยเรียงเส้นไหมอย่างประณีตสวยงาม บอกวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ ซึ่งไม่มีผืนผ้าของชนชาติไหน มีประวัติเป็นมาเหมือน ผ้าไหมไทย

ตอนตัดสิน คุณธันย่า จึงเป็นเหมือนกรรมการตัดสินประกวดนางงาม ที่ชอบบอกว่า “กรรมการหนักใจ” เพราะกระเป๋าสตรีหลายใบ ทำให้กรรมการทุกคนมีอาการรักพี่เสียดายน้อง ใบนั้นก็สวยใบนี้ก็สวย จึงให้คะแนนกันแบบเฉือนกันหวุดหวิด อันดับ 1 เป็น กระเป๋าถือทรงดัฟเฟิล แนวสปอร์ต ใช้ผ้าไหมมัดหมี่ลายขอสลับขิด ตรานกยูงพระราชทาน สีเงิน ผลงาน วรากร บุญมาตุ่น ซึ่งออกแบบให้สะดวกใช้เดินทาง มีหูหิ้วและสายสะพาย พร้อมพวงกุญแจกระเป๋าใบเล็ก ทำให้ใช้ได้ทุกโอกาส รางวัลที่ 2 กระเป๋าแม่สาวลูกสวย ทำด้วย ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ ตรานกยูงพระราช ทาน สีเขียว จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เลย ซึ่งโดดเด่นด้วยลายหมี่ ลายนางหาญ เส้นไหมที่ย้อมจากวัสดุธรรมชาติ เส้นพุ่งย้อมจกคราม เส้นพุ่งสีขาวธรรมชาติ ส่วนสีดำทางยืน ได้จากย้อมครั่ง จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เลย และอันดับ 3 เป็น กระเป๋าถือนิลรัตน์ ทำจาก ผ้าไหมมัดหมี่ ตรานกยูงพระราชทาน สีทอง จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลฯ ที่มีแรงบันดาลใจจากความเชื่อเรื่องเพชรนิลจินดา ออกแบบให้ทรงพลังอัญมณีสีดำ ตามความเชื่อว่าใช้อัญมณีสีดำจะมีแต่ความสุข--นอกจากนี้ ยังมีประกวดผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ 32 ประเภท เช่น เส้นไหมไทยพื้นบ้าน ระดับประถม ระดับมัธยม และบุคคลทั่วไป ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และการแข่งขันสาวไหม

...

พอเดินดูสิ่งประดิษฐ์และผ้าไหมทั่วงาน คุณธันย่า และคนชอบผ้าไทยอื่นๆ ที่กิ๊วก๊าวชิ้นนั้นสวยชิ้นนี้ชอบ อยากได้มาก แต่ก็ต้องรอไปซื้อในงาน ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี 1-4 ส.ค.--คนชอบผ้าไทย เตรียมกระเป๋าขาดได้เลย เพราะมีผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจากร้านดังๆ ตั้งแต่ชิ้นละร้อย หลักพัน จนถึงหลายแสน ไปออกร้านกว่า 200 ราย และ กรมหม่อนไหม ยังจัดช่างตัดเย็บผ้าไหม ฝีมือดีราคามิตรภาพ ไปบริการวัดตัวตัดชุดด้วย.

โสมชบา

คลิกอ่านคอลัมน์ “ของว่างวันอาทิตย์” เพิ่มเติม