หลังปั่นกระแส K-Soft Power ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว วันนี้เกาหลีกำลังก้าวไปอีกขั้น สำหรับแคมเปญการโปรโมตวัฒนธรรมอาหารแบบเกาหลี อย่าง Hansik ซึ่งรัฐบาลเกาหลีทั้งระดับเมืองและระดับประเทศมุ่งมั่นผลักดันให้เติบโตในระดับโลก หรือ Korean Wave เช่นเดียวกับ K-Entertainment ที่นำหน้าไปก่อนนานหลายปี

รัฐบาลเกาหลีเร่งส่งเสริม Hansik เพื่อส่งออกวัฒนธรรมด้านอาหาร โดยสนับสนุนงบประมาณให้หลายๆประเทศจัดกิจกรรมโปรโมต Hansik อาหารหมักดองเกาหลี ที่ถือว่าเป็นอาหารสร้างชาติ โดยเฉพาะกิมจิ เสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผักดอง รสชาติรสเปรี้ยวและเผ็ดนิดๆในครัวเรือนที่คนเกาหลีต้องมีอาหารชนิดนี้ติดบ้านไว้ ขาดไม่ได้ เหมือนที่คนไทยต้องมีพริกน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกไว้ชูรสชาติอาหารในทุกๆมื้อนั่นเอง

กิมจิเป็นหนึ่งในเมนู Hansik ซึ่งจริงๆแล้วคือ อาหารที่มีผักมากมายหลายชนิดเป็นตัวชูโรง เสิร์ฟพร้อมกับข้าวหุง เนื้อย่าง น้ำซุป และเครื่องเคียงต่างๆ

ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นฉากกินรามยอนของพระเอกนางเอกในซีรีส์เกาหลีจนต้องตามไปกินถึงเมียงดง หรือทงแดมุน แต่รามยอนไม่ได้เป็น Hansik อาหารหลักที่รัฐบาลเกาหลีต้องการโปรโมต ไม่ใช่แค่ทำให้ต่างชาติได้รู้จัก แต่การโปรโมต Hansik ของเกาหลี ยังแอบแฝงนัยของการส่งต่อวัฒนธรรมอาหารจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาและรากของวัฒนธรรมอาหารเกาหลีแบบดั้งเดิมด้วย

...

Hansik ที่รัฐบาลเกาหลีต้องการโปรโมตมี 3 อย่าง คือ อาหารหมักดอง เช่น กิมจิ และจัง หรือซอสต่างๆ เนื้อวัวฮันวู

ที่ว่ากันว่าจะเป็น the next Wagyu หรือ เนื้ออันโอชะระดับพรีเมียมที่ผู้คนต้องหามารับประทานให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต และ อาหารวัด หรือ temple food ซึ่งเป็นอาหารเจที่ปรุงจากวัตถุดิบตามฤดูกาล

ประเทศไทยเราก็อยู่ในเป้าหมายของการโปรโมต Hansik ครั้งนี้ด้วย โดยล่าสุดสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐ เกาหลี ประจำประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานอาหารและกิจการชนบทแห่งประเทศเกาหลี และสมาคมพัฒนาอาหารเกาหลี ได้จัดกิจกรรมแข่งขัน ทำอาหารเกาหลี ‘2024 HANSIK CONTEST IN THAILAND’ ขึ้น โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป

การแข่งขันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ณ ห้องสตูดิโอทำอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยคัดเลือกผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ 12 ทีม ผ่านคลิปวิดีโอการสมัครรอบออนไลน์ จากผู้สมัครทั้งหมดกว่า 80 ทีม โดยมีธีมการแข่งขันคือ ‘The Secret of K-Sauce’ ที่ผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศทุกคนจะต้องปรุงเมนูอาหารเกาหลีด้วยซอสเกาหลีหรือที่เรียกว่า “จัง”

แม้หัวใจของอาหารเกาหลีในส่วนหลักๆแล้ว คือวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู หรืออาหารทะเล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวชูรสที่สำคัญของอาหารเกาหลีที่ขาดไม่ได้ก็คือ ‘จัง’ หรือซอสปรุงรสนั่นเอง

จัง เป็นส่วนสำคัญของอาหารเกาหลี ไม่ว่าจะในการหมักดองหรือการปรุงรส โดย “จัง” ใน แบบฉบับของเกาหลีนั้น มีอยู่ 3 ประเภท ด้วยกัน คือ คันจัง (Ganjang) หรือ ซอสถั่วเหลือง ถ้าเรียกแบบบ้านเราก็คือซีอิ๊วนั่นเอง ทันจัง (Doen jang) ซอสถั่วหมัก หรือเต้าเจี้ยว และที่คนไทยรู้จักดีก็คือ โคชูจัง (Gochujang) ซอสพริกแดง หรือซอสเผ็ดที่มีขายตามห้างสรรพสินค้าและอยู่ในเมนูอาหารจานหลักหลายประเภทของอาหารเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นต๊อกบกกี บิบิมบับ หรือซุปร้อนต่างๆ และบางคนยังเอาโคชูจังมาหมักผักทำกิมจิแทนพริกเกาหลีด้วย

...

การแข่งขันครั้งนี้มีโจทย์ง่ายๆคือ ให้ปรุงอาหารเกาหลีดั้งเดิม หรือ Hansik โดยต้องมีส่วนประกอบของ จัง ซึ่งคนไทยเราสามารถทำได้ดี จนทั้งภริยาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย ถึงกับออกปากชมในฐานะผู้ตัดสิน ร่วมกับผู้แทนจากสถาบันสำคัญของสาธารณรัฐเกาหลี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ซึ่งต้องประเมินกันอย่างละเอียดถึง ‘การใช้ซอสเกาหลี’ ความสะอาด รสชาติ กระบวนการทำอาหาร รวมไปถึงการจัดจานและการนำเสนอเมนูอาหาร

การแข่งขันครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ คุณศศิธร วาปี จากเมนูซุปเต้าเจี้ยวเนื้อวัวรสชาติกลมกล่อม ต๊อกบกกีซอสโคชูจัง กิมจิที่รังสรรค์จากมะม่วง และผักเครื่องเคียงต่างๆ ผสมผสานกับน้ำมันงาเกาหลี โดยได้รับรางวัลเป็นบัตรกำนัลตั๋วเครื่องบินไป-กลับเกาหลีพร้อมที่พัก ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นของ คุณอรรคพล นุ่มดี เชฟหนุ่มวัย 25 ปี จากเมนูกุ้งกุลาดำในแดนกิมจิ โดยตัวซอสมีส่วนผสมของซอสเต้าเจี้ยวและซอสซัมจัง ทานร่วมกับกุ้งกุลาดำและข้าวจี่บิบิมบับ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองเป็นของ คุณนัทธมน ธนเดชบุญฤทธิ์ นักศึกษา วัย 23 ปี จากเมนูซี่โครงหมูซอสโคชูจังกับเส้นหมี่แบบไทย และกิมจิที่รังสรรค์จากรากบัว

...

เรียกว่าผู้ได้รับรางวัลครั้งนี้ใช้ความสามารถในการรังสรรค์เมนูที่อาจจะชอบรับประทานอาหารเกาหลีอยู่แล้ว และบางคนก็เป็นสาวก K-Soft Power ที่ชื่นชอบความเป็นเกาหลีแบบสุดติ่ง ปรุงกันอย่างสุดฝีมือ

การแข่งขันจบลงด้วยความสุขทั้งคนตัดสิน คนเข้าร่วมและคนจัด แต่ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือ ความคิดสร้างสรรค์สไตล์เกาหลี

ที่สามารถสอดแทรกวัฒนธรรมอาหารที่เป็น Soft Power เข้าสู่สังคมไทยได้อย่างฉลาดล้ำลึก และยังเป็นเครื่องสะท้อนความชื่นชอบ และความนิยมอาหารเกาหลีของคนไทยได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการแข่งขันครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของผู้เข้าแข่งขันและอินฟลูเอนเซอร์ด้วย ยิ่งเป็นการขยายฐานการตลาดเพื่อการส่งออกวัฒนธรรมอาหารของเกาหลีให้แพร่หลายมากขึ้น

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ Soft Power ของเกาหลีจึงไปไกลกว่าหลายประเทศ ที่ยังหาอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของตัวเองไม่เจอ ได้แต่ตระเวนหาสินค้าไปเร่ขายต่างชาติแบบยัดเยียด ฟังแล้วอาจจะคุ้นๆสำหรับประเทศที่ว่านี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม

...