TAT Review จุลสารวิชาการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ล่าสุด เผยแพร่บทความน่าสนใจเรื่องของ “Wellcation” เที่ยว–พัก–รักษา ระบุถึงเทรนด์การท่องเที่ยวแนวใหม่ในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ที่เรียกว่า “Wellcation” ที่การท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเพียงแค่การพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่มาควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพกาย
“Wellcation” เป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า “Wellness” ที่แปลว่าสุขภาวะ กับ “Vacation” ที่แปลว่าวันหยุด หมายถึงการท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ควบคู่ไปกับการบำบัดและดูแลรักษาสุขภาพ เช่น การนวดสมุนไพร การเข้ารับการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ
หลายปีที่ผ่านมา Global Wellness Institute รายงานว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงถึง 50,000 บาทต่อการเที่ยว 1 ครั้ง และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
...
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ผู้คนนิยมไปพักผ่อนแบบ Wellcation มากขึ้น และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยจุดเด่นด้านบริการทางการแพทย์ดีติดอันดับโลกและพ่วงมาด้วยราคาอันย่อมเยา
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึง Templestay หรือการพักที่วัด เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนญี่ปุ่นก็โดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและอาหารเพื่อสุขภาพ
ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย ทิวทัศน์ที่สวยงาม และที่สำคัญยังมีบริการด้านสุขภาพซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ได้แก่ สปา นวดแผนไทย ฯลฯ ซึ่งต่างเป็นที่นิยมอย่างมากของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งการนวดที่ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย การนวดผ่อนคลาย ที่เป็นจุดขายอันโดดเด่นของการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ชาวต่างชาติจะต้องมาสัมผัสสักครั้ง
เรื่องของราคาก็เป็นอีกปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเที่ยวประเทศไทย ที่นอกจากจะได้รับการรักษาด้านสุขภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวต่ออีกด้วย ซึ่งนอกจากนวดไทยแล้ว ยังมีเรื่องของบริการทันตกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ Wellcation ที่ฮิตในหมู่ชาวต่างชาติมาหลายปีแล้ว
ข้อมูลจาก ttb analytics ระบุว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อคนต่ำติดอันดับท็อป 10 โดยเฉลี่ยคนละประมาณ 10,407 บาทต่อปี เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่อยู่ในอันดับ 9 ด้วยค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 119,755 บาทต่อปี และบริการทางการแพทย์ของไทยยังติดอันดับท็อป 5 ของโลกที่ชาวต่างชาติจำนวนมากเลือกที่จะมาเข้ารับบริการ
นอกจากประเทศไทย ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ติดอันดับ เห็นจะเป็นการแช่น้ำร้อนผ่อนคลาย อย่างออนเซนที่ช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทิวทัศน์ของธรรมชาติที่สวยงาม ฯลฯ
...
Global Wellness Institute ประกาศให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยทำเงินได้สูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท)
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีที่นำสมัย แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเกิดการนำจุดแข็งเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
มีข้อมูลว่า ในอนาคตโอซากาซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวใหญ่อีกแห่งอาจกลายเป็นหมุดหมายยอดนิยมของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในทวีปเอเชีย เพราะญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ และยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินเยนที่กำลังอ่อนตัวลงอีกด้วย
อีกประเทศหนึ่งที่ได้รับความนิยมในเรื่องของการท่องเที่ยว Wellcation ก็คือเกาหลีใต้ ที่รัฐบาลพยายามชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพปีละราว 700,000 คน ด้วยการศัลยกรรมเสริมความงามที่เป็นเทรนด์ฮิต โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับนโยบายการเข้ามารับการรักษาของชาวต่างชาติให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น จากเดิมที่ผู้ดูแลคนไข้จะต้องเป็นคู่สมรสหรือครอบครัวที่ใกล้ชิดเท่านั้น สู่การที่ญาติพี่น้องก็สามารถเข้าไปดูแลคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดได้ นอกจากนี้ยังวางแผนสร้างจุดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้ที่มาทำศัลยกรรมและผู้ดูแลสามารถพักฟื้นพร้อมเพลิดเพลินไปกับวันหยุดพักผ่อนได้
...
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังพยายามโปรโมตเทรนด์อื่นๆที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นก็คือ Templestay หรือ “การอยู่วัด” ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้พักผ่อนและใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบในวัด เป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรม รับประทานอาหาร ทำกิจกรรม เช่น นั่งสมาธิ สัมผัสวิถีชีวิตแบบใกล้ชิดพระพุทธศาสนา นับเป็นการผ่อนคลายจิตใจอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศเกาหลีใต้ระบุว่า ตัวเลขของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เข้ามาในประเทศในปี 2022 มีจำนวน 248,000 คน เพิ่มขึ้น 70.1% จากปี 2021 (146,000 คน) หลังจากการระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง แต่ปัญหาที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเกาหลีใต้ก็คือ เรื่องของภาษาที่ทำให้นักท่องเที่ยวอาจต้องตัดสินใจในการเลือกรับบริการทางการแพทย์ในประเทศเกาหลีใต้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น.
คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม
...