แค่รักในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่รักอาจยังไม่พอสำหรับ “ปุ๋ย–วรวิทย์ ศิริพากย์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแบรนด์ “ปัญญ์ปุริ” (PAÑPURI) เพราะแม้เวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ แต่ความลุ่มหลงที่มีต่อเสน่ห์ของสมุนไพรไทย, พืชพรรณธรรมชาติ และดอกไม้นานาชนิด ก็ไม่เคยจางหาย และเขายังสนุกที่จะพูดถึงแพชชันเหล่านี้ได้ไม่หยุดตลอด 24 ชั่วโมง

“ผมเป็นเด็กเรียนดีสอบได้เกรด 4 ทุกวิชา เพราะคุณพ่อคุณแม่เข้มงวดมาก ตอนเรียน ม.ปลาย อยู่ห้องควีนเอกวิทย์-คณิต โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็ตั้งเป้าว่าอยากเป็นหมอ แต่จู่ๆเกิดคำถามว่าเราอยากเห็นโลกกว้างกว่านี้ไหม จึงแอบไปสอบทุนเรียนต่อต่างประเทศ ได้ทุนเรียนต่อไฮสคูลที่แคนาดา และอยู่ยาวจนจบปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่แมคกิลล์ ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศแคนาดา ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ผมอยู่แคนาดา 7 ปีเต็ม ช่วงนั้นเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง จึงอยากกลับมาทำงานที่เมืองไทย ผมมองไม่เหมือนคนอื่น คิดว่าการเกิดวิกฤติเป็นความท้าทายสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งๆที่ช่วงนั้นมีคนตกงานเยอะ พอผมกลับเมืองไทย ได้ทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและปรับปรุงแผนธุรกิจระดับท็อปไฟว์ของอเมริกา “ดีลอยต์ คอนซัลติ้ง” ตำแหน่งนักวิเคราะห์ธุรกิจ ทำงาน 3 ปี เจ้านายมาจากนิวยอร์กเห็นฝีมือจึงสนับสนุนให้ผมไปประจำนิวยอร์ก ในฐานะนักวิเคราะห์เอเชียคนแรกที่อายุน้อยที่สุด เพิ่ง 24-25 ปี กำลังไฟแรง ทะเยอทะยาน และบ้างานมาก”...คุณปุ๋ยฉายภาพตัวเองในวันวาน

...

งานกำลังรุ่งสุดขีด ทำไมตัดสินใจทิ้งเงินเดือนหลายแสน

มันเครียดมากๆ การแข่งขันสูงมาก จากที่เคยทำงานในออฟฟิศ 60 คน พอไปนิวยอร์กมีเพื่อนร่วมงาน 400-500 คน ที่นิวยอร์กต้องแข่งกันฉลาด ทุกคนจบมหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีก จากที่คิดว่าเราทำได้ ก็ต้องพยายามมากขึ้น กระทั่งได้โปรโมตเป็นนักวางแผนพัฒนาธุรกิจ ดูแลแอ็กเคาต์ใหญ่ๆ นับไม่ถ้วน ตลอด 1 ปีที่ทำงานอยู่นิวยอร์ก ต้องคลุกคลีกับการพัฒนาขอบเขตของธุรกิจและวางแผนการเจริญเติบโตของบริษัทระดับโลกหลายแห่งทำงานเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กรไฟแนนซ์ และธุรกิจประกันภัย วิเคราะห์ศักยภาพการทำงานของพนักงาน เพื่อหาทางลดรายจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ตอนนั้นไล่คนออกเก่งมาก ต้องทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึงเที่ยงคืนทุกวัน จุดหักเหที่ทำให้ลาออก คือเกิดเหตุการณ์ 9/11 ก่อวินาศกรรมถล่มตึกเวิลด์เทรด ผมบังเอิญทำงานอยู่ในตึกนั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมเปลี่ยนไปเลย เพราะเห็นคนตายเยอะมาก จากที่ไม่เคยคิดเรื่องความตาย ผมกลับรู้สึกว่าชีวิตเรามันสั้น อยากทำอะไรก็ต้องลงมือทำทันที ที่ผ่านมาโฟกัสเรื่องไฟแนนซ์จ๋ามาก ทำงานอยู่กับเรื่องโหดๆอย่างการตัดรายจ่ายในองค์กร และไล่พนักงานออก จำได้ว่าวันที่ตึกเวิลด์เทรดถล่ม ในคอมพิวเตอร์มีแต่ข้อมูลพวกนี้ ต้องไล่พนักงานบริษัทออกกี่คน จึงจะลดรายจ่ายตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ฉุกคิดว่าเวลาที่เราทุ่มเทไปกับเรื่องพวกนี้ สุดท้ายก็ไหม้ไปกับกองเพลิง และไม่เหลืออะไร ผมเลยตัดสินใจลาออก และสอบชิงทุนไปเรียนต่อปริญญาโทเอ็มบีเอ ด้านลักชัวรี กู้ดส์ แมนเนจเมนต์ ที่ SDA BOCCONI ประเทศอิตาลี หลังเรียนจบได้ฝึกงานกับกุชชี่ กรุ๊ป และทำงานบริษัท YOOX.COM ที่เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี เป็นบริษัทดังเรื่องการวิเคราะห์และวางแผนธุรกิจ แต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เพราะชีวิตกลับเข้าสู่วงโคจรเดิมๆอีกแล้ว คราวนี้ถามตัวเองว่าเราจะทุ่มเททำงานหนักขนาดนี้เพื่อคนอื่นทำไม ผมทำอยู่ 5 เดือน จึงตัดสินใจลาออก และกลับเมืองไทยเพื่อค้นหาตัวเอง

ตอนนั้นกลับบ้านมือเปล่า หรือมีแผนคิดใหญ่ทำใหญ่

ตอนเรียนผมทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์ให้เลือกหนึ่งประเทศ และวิเคราะห์ว่าธุรกิจอะไรจะแข็งแรงผมเลือกประเทศไทย และเอามาวิเคราะห์จุดแข็ง พบว่าธุรกิจความงามบวกสุขภาพน่าจะไปได้ดีสำหรับเมืองไทย สมัยนั้นยังไม่มีคำว่าเวลเนส พอกลับมาเมืองไทยไปใช้สปาตามโรงแรม สิ่งที่พบคือไม่เจอผลิตภัณฑ์ของคนไทยเลย ทำให้เกิดไอเดียว่าเราอยากนำเสน่ห์ของศิลป วัฒนธรรมไทยมาตีความใหม่ เพื่อส่งออกขายต่างประเทศ ผมมีภาพในหัวเลยว่าอยากทำอะไรแบบไหน อยากปั้นโปรดักส์ของเราให้เป็นโกลบอล ตอนนั้นคิดแค่ว่าเรายังอายุน้อย ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จก็กลับมาทำงานบริษัท

...

กว่าจะมีวันนี้ต้องล้มลุก คลุกคลานขนาดไหน

ช่วง 10 ปีแรกยาก เป็นช่วงที่เรียนรู้จากศูนย์ เรามาก่อนกาลนิดหนึ่ง สมัยก่อนยังไม่มีใครรู้จักว่าไทยบิวตี้เป็นยังไง เวลเนสคืออะไร ปัญญ์ปุริเป็นแบรนด์แรกๆที่พยายามสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้แข็งแรง เราเน้นการสร้างแบรนด์เพื่อแอดแวลู ปัญญ์ปุริคือเวลเนส ไลฟ์สไตล์ แบรนด์ ก่อตั้งขึ้นภายใต้รากฐานการดูแลสุขภาพองค์รวมตามแบบฉบับเอเชีย โดยเชื่อว่าการดูแลสุขภาพให้สมดุลจากภายในสู่ภายนอก จะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาวะที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ช่วงที่เราเติบโตเร็วคือช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาอย่างมีนัย ยอดขายร้อยกว่าล้านบาท กลายเป็น 500-600 ล้านบาท ปัจจุบันเรามีร้านในไทย 31 สาขา และสาขาใน 13 ประเทศทั่วโลก รวมถึงบริการสปา 4 สาขา

...

“ปัญญ์ปุริ” มีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าคนอื่นตรงไหน

สมัยนั้นยังไม่มีคนคิดเรื่องทำสินค้าออร์แกนิกจากธรรมชาติ 100% และยังไม่มีคนคิดเรื่องทำโปรดักส์ที่ครบตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า เราเป็นแบรนด์แรกที่ตั้งโพซิชันนิ่งว่าจะเป็นแบรนด์ลักชัวรี เราอยากไปสู่ตลาดโลกยังไง อยากแข่งขันในตลาดโลกยังไง เป็นคอมมิตเลยว่าเราจะใช้ส่วนผสมจากเกษตรอินทรีย์ไร้สารเคมี 100% เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ ถ้าพูดถึงโปรดักส์เด่นสุดยกให้ออยล์ ขายดีตั้งแต่วันแรกมาถึงปัจจุบัน ความเป็นออยล์เราอยู่กับมันมานาน มีความเป็นธรรมชาติ 100% ประเทศเรามีความเชื่อมโยงกับการใช้น้ำมันในการดูแลผิวและนวดอยู่แล้ว

...

เห็นโลกกว้างมาเยอะ อะไรคือจุดขายมัดใจของเมืองไทย

ผมเคยฝันไว้ว่าอยากให้ผลิตภัณฑ์ไทยโกอินเตอร์ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เหมือนเอาธงชาติไทยไปปักไว้ตามมุมต่างๆของโลก อยากให้ฝรั่งมาเข้าคิวรอซื้อของคนไทยบ้าง เราต้องทำโปรดักส์ที่มีรากเหง้าจากความเป็นไทยจริงๆ ขายความเป็นธรรมชาติและความเอ็กโซติกแบบตะวันออก ไม่ใช่ทำของไฮเทคแข่งกับฝรั่ง ยังไงก็สู้ไม่ได้ แบรนด์ปัญญ์ปุริสร้างความโดดเด่นจากส่วนผสมของสมุนไพรไทย, พืชพรรณธรรมชาติ และดอกไม้นานาชนิดในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นมะลิ, กระดังงา, ตะไคร้, ไม้จันทน์หอม, ว่านหางจระเข้, มะพร้าว, แตงกวา, ข่า, ขิง, น้ำผึ้ง และสะระแหน่ ผลิตภัณฑ์ของเราปลอดน้ำหอมและสารกันเสีย เราเลือกใช้กลิ่นจากเอสเซนเชียลออยล์บริสุทธิ์ 100% ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวแบบไทยๆที่ฝรั่งทึ่ง เทรนด์โลกที่หันมาชื่นชอบความเป็นธรรมชาติก็มีส่วนทำให้เราประสบความสำเร็จในการปลุกปั้นผลิตภัณฑ์สปาไทยสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก

สองทศวรรษที่ผ่านมา อะไรคือบทเรียนราคาแพงสุด

ช่วงวิกฤติโควิดเป็นช่วงท้าทายที่สุด ต้องขอบคุณทีมงานที่พร้อมปรับตัวและสู้ไปด้วยกัน เมื่อก่อนเราโฟกัสที่ร้านในห้างฯ ออนไลน์ก็โฟกัสน้อยมาก แต่พอห้างฯปิดหมดเราหนักเลย ต้องเร่งสร้างร้านค้าออนไลน์ใน Shopee และ Lazada ภายใน 2 อาทิตย์ เพื่อให้เกิดยอดขาย ขณะเดียวกันก็ต้องปรับองค์กรครั้งใหญ่ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และพยายามหาช่องทางทำเงินทุกอย่างเพื่อให้ได้กระแสเงินสด อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องทำ คิดผลิตภัณฑ์ใหม่เร็วมาก โดยต่อยอดจากวัตถุดิบเดิมที่มีอยู่ ตอนโควิดแอลกอฮอล์ถือเป็นตัวช่วยชีวิต เราใช้เอสเซนเชียลออยล์จากแซนเดิลวูดกิโลละเป็นแสน ทำแอลกอฮอล์ขวดละ 300-400 บาท ซึ่งมันหอมมาก และขายดีมาก ระหว่างนั้นก็กลับมาดูโปรดักส์ที่มีอยู่ เพื่อปรับหน้าตา ปรับสูตร และรีดีไซน์ใหม่หมด เราคิดสองอย่างคือทำยังไงให้หายจมน้ำได้ และเมื่อขึ้นบกแล้ว เราจะวิ่งต่อไปยังไง ก็ทำสองอย่างนี้ไปพร้อมกัน โจทย์สำคัญคือหลังวิกฤติโควิด คนจะกลับมาใช้บริการสปาไหม จะกลับมาช็อปปิ้งในร้านเราไหม ผมลุกขึ้นมาไล่เปลี่ยนหน้าร้านทุกสาขา เพื่อมอบเอกซ์พีเรียนซ์ใหม่ๆให้ลูกค้าที่แตกต่างจากออนไลน์

การเดินทางบทใหม่ของ “ปัญญ์ปุริ” จะมุ่งหน้าไปทางไหน

เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโปรดักส์อินโนเวชันตลอดเวลา ในฐานะผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ๆของวงการ ล่าสุด เราเป็นแบรนด์แรกที่ออกเพอร์ฟูมออยล์ น้ำหอมที่ใช้เบสจากน้ำมัน สำหรับคนแพ้แอลกอฮอล์ บำรุงผิวได้ด้วยและติดทนนาน นอกจากนี้เรายังพยายามปรับปรุงรีเทลเอกซ์พพีเรียนซ์ให้น่าสนใจขึ้น ให้ลูกค้ารู้สึกมีเอนเกจเมนต์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ลงทุนด้านดิจิทัลต่อเนื่อง และอยากมีรีเลชันชิพกับผู้บริโภคโดยตรง พร้อมขยายเซอร์วิสของเราไปยังประเทศอื่นๆ และส่งเสริมด้านความยั่งยืน ในเมืองไทยเราเป็นเบอร์ต้นๆในลักชัวรีเซ็กเมนต์ และถ้าพูดถึงแบรนด์ไทยในภูมิภาคนี้ก็เชื่อว่าเราไม่เป็นสองรองใคร ถ้าญี่ปุ่นเป็นเจ้าธุรกิจความงามที่มีนวัตกรรมล้ำหน้า ขณะที่เกาหลีเป็นผู้นำตลาดฟาสต์บิวตี้และการทำศัลยกรรม ผมเชื่อว่าประเทศไทยคือผู้นำรายต่อไปในด้านเวลเนส ที่ผนวกความงามกับสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน ผมอยากเห็นแบรนด์เราเป็นลักชัวรีแบรนด์ระดับโลกที่มาจากเมืองไทย การสร้างแบรนด์เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน 20 ปีที่ผ่านมา ทุกโมเมนต์เป็นไมล์สโตน ผมดีใจที่มีส่วนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เวลเนสและสปาก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งไม่สามารถสร้างได้ในชั่วข้ามคืน เพราะเป็นเรื่องของแพชชัน ต้องเริ่มจากการที่เราหลงใหลอะไรมากๆ ต้องอินกับสิ่งที่เราทำมากๆ พอแพชชันหนักมาก เราจะพยายามทำอย่างดีที่สุด และไม่ยอมแพ้ ฝึกฝนตัวเองเรื่อยๆ จนกลายเป็นเพาเวอร์!! ปัญญ์ปุริก็พยายามทำอย่างนั้น ผมดีใจเวลาลูกค้าต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทย และตามหาปัญญ์ปุริ ถ้าเป็นธุรกิจสปาและบริการไม่มีใครสู้คนไทยได้ ผมภูมิใจมากที่เราสู้มาถึงจุดนี้ กระทั่งผลิตภัณฑ์สปาไทยได้รับการยอมรับคุณภาพไปทั่วโลก แต่เราก็ไม่หยุดนิ่งนะครับ พยายามก้าวไปข้างหน้าให้ไกลกว่าคนอื่น ผมไม่ชอบทำอะไรเหมือนคนอื่น ฝันอยากสร้างปัญญ์ปุริให้เป็นแบรนด์เนมระดับโลกที่ทุกคนต้องนึกถึงเป็นชื่อแรก เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและพืชพรรณธรรมชาติของเอเชีย แต่คงต้องใช้เวลา.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่