สร้างความตระหนักรู้แก่สตรีไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี รพ.จุฬาภรณ์ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดแคมเปญ “ปวดท้องน้อย” พูดสิ พูดได้ สัญญาณเตือนที่ต้องระวังโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอาการ “ปวดท้องน้อย” MAY is Pelvic Pain Awareness Month โดยมี ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี และ พญ.กตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์มาให้ความรู้ พร้อมกันนี้เปิดโอกาสให้สตรีที่มีอาการปวดท้องน้อยที่ลงทะเบียนเข้าร่วมรับบริการประเมินอาการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วยวิธีอัลตราซาวด์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่บริเวณ ชั้น 1 รพ.จุฬาภรณ์ 400 เตียง เขตหลักสี่
ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร อธิบายว่า นับเป็นปีที่สองแล้วที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ออกมากระตุ้นเตือนสตรีไทยให้เล็งเห็นความสำคัญของอาการปวดท้องน้อยแล้วอย่าปล่อยผ่าน แนะนำว่าควรรีบเข้ามาปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการปวดท้องน้อยในกลุ่มผู้หญิง อาจจะไม่ใช่เรื่องปกติอย่างที่เราคิด แต่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นโรคที่ผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม และอาการปวดท้องน้อย ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณเตือนให้ได้ระวังจากภัยร้ายที่อาจแสดงออกมาในรูปแบบของโรคร้ายชนิดอื่นๆได้ด้วย ยิ่งในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ก็อาจจะคิดว่าการปวดท้องน้อยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความจริงอาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างก็ได้ ซึ่งโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปนอกโพรงมดลูก โดยอาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ และผนังกระเพาะปัสสาวะ หรือบางครั้งอาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ ทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะอาการปวดท้องน้อย สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงมักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน เช่น สตรีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อนๆ สตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้ากว่าปกติ สตรีที่รอบเดือนมาถี่หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือน แต่ละรอบสั้น เป็นต้น
...
ด้าน พญ.กตัญญุตา นาคปลัด กล่าวว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาดได้โดยธรรมชาติของโรค แต่จะดีขึ้นเองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนการรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ การรักษาด้วยยา, การรักษาด้วยการผ่าตัด และการรักษาร่วมกันระหว่างการให้ยาและการผ่าตัด ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอน ทั้งนี้ สามารถนัดหมายเพื่อปรึกษาแพทย์กับทางศูนย์สุขภาพสตรี รพ.จุฬาภรณ์ ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ผ่านทาง LINE Official @chulabhorn hospital โดยเปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น.