จากการได้สัมผัสวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชุมชน หมู่บ้านแห่งศรัทธา เส้นทางแห่งธรรม กับ “ชุมชนพระบาทห้วยต้ม” ทำให้สาวรุ่นใหม่อย่าง ฐิตาภา ตันสกุล ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลมองเห็นคุณค่างานฝีมือของชุมชนชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จึงได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ชาวต่างชาติสร้างธุรกิจเครื่องประดับเงิน แฮนด์ เมด แบรนด์ Stories of Silver เครื่องประดับที่ส่งต่อคุณค่าทางจิตใจและความศรัทธา
คุณจอย-ฐิตาภา ตันสกุล สาวรุ่นใหม่ที่มีดีกรีปริญญาตรี Interior & Pro duct Design Accademia Italiana certified by University of Wales ประเทศอังกฤษ และปริญญาโท MBA จาก Peter Drucker Business School, Claremont Graduate University สหรัฐฯ ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และ Head of Design and Operations ของ Stories of Silver แบรนด์เครื่องประดับเงิน ที่เป็นที่รู้จักของคนที่รักงานคราฟต์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมานานกว่า 10 ปี ซึ่ง คุณจอย เล่าว่า ธุรกิจนี้เริ่มมาจากตอนที่เรียน Product Design มีความสนใจในเรื่อง Sustainability คือ ความยั่งยืน โดยมองถึงการเก็บรักษาวัฒนธรรมที่กำลังสูญเสียซึ่งเมืองไทยมีวัฒนธรรมที่ดีๆ เยอะมาก จากนั้นได้มีโอกาสไปที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ที่ จ.ลำพูน เป็นชุมชนที่สงบมีความน่ารัก มีความศรัทธาในศาสนา วิถีชีวิตของเขาได้ส่งต่อมายังผลิตภัณฑ์งานฝีมือของเขาอย่างเครื่องเงินที่ทำด้วยมือในแบบฉบับของชาวกะเหรี่ยง ความประทับใจทั้งหมดก่อให้เกิดการสร้างแบรนด์ Stories of Silver เพื่อส่งต่องานฝีมือที่เต็มไปด้วยความศรัทธา พร้อมๆกับการสร้างงานเพื่อรักษาคุณค่าของชุมชน โดยมีออฟฟิศและแกลเลอรี ที่เอกมัย 12 และวางจำหน่ายที่เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล ภูเก็ต ไอคอนคราฟต์ ไอคอนสยาม และสยามดิสคัฟเวอรี ทั้งนี้ดูได้ที่ www.stories ofsilver.com IG : stories ofsilver_official และ Line : @storiesofsilver
...
“ตอนนั้น รู้สึกชื่นชอบในเรื่องของการทำเครื่องเงินเขา งานของเขาไม่เว่อวัง มีความฮัมเบิ้ล (humble) เป็นธรรมชาติ เราก็เริ่มหลงรักในเสน่ห์ของความเป็นชุมชนนั้น เลยคิดว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้วัฒนธรรมนี้ยังอยู่ เขาสามารถทำงานที่บ้านตัวเองได้และมีรายได้ จึงมาทำงานร่วมกับคนในชุมชน สร้างงานเครื่องประดับเงิน โดยการทำงานเราตั้งเป้าเพื่อที่จะช่วยเหลือชุมชนและส่งคุณค่าอะไรให้คนอื่น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ช่วงแรกแบรนด์อาจจะไม่มีความชัดเจนมากนัก ตอนแรกคิดว่าผู้สนใจจะเป็นกลุ่มคนที่รักงานคราฟต์ งานฝีมือเครื่องเงิน อันนี้เป็นแค่มองในภาพกว้าง แต่ปัจจุบันเรามีความชัดเจนมากขึ้น เราสามารถบอกสตอรีของแบรนด์ เล่าเรื่องชุมชน คนที่เกี่ยวข้อง มองถึงคนที่ได้รับผลประโยชน์ เราสร้างอะไรให้คนอื่น ไม่ใช่เป็นมาร์เกตติ้งที่จะ push ขายของ แต่เป็นการส่งต่อสิ่งดีๆให้กันและกัน แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้ตลอด ทำอย่างไรให้คนในชุนชนเห็นคุณค่างานของตัวเองและคุณค่าของชุมชน ที่จะทำให้เขาอยากหวงแหนและรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม ส่วนคนที่ซื้อสินค้าก็ได้ส่งผ่านพลังงานที่ดีจากคนทำ” คุณจอยเล่าถึงการทำงาน
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ทำให้มุมมองการทำงานของสาวรุ่นใหม่ คนนี้อาจจะแตกต่างจากคนอื่น ซึ่ง คุณจอย บอกว่า เป้าหมายการทำธุรกิจของจอย ไม่ได้อยู่ที่การสร้างกำไรสูงสุด แต่อยู่ที่การสร้างงานให้ยั่งยืน กับความสุขของตัวเรา การรู้จักตัวตน ที่ว่าเราสามารถทำอะไรได้แล้วทำตรงนั้นให้ดีที่สุด ซึ่งจะเป็นพลังที่จะผลักดันให้เราไปข้างหน้าต่อได้ “เมื่อเราเห็นลูกค้ามีโอกาสมาสัมผัสงาน เขาเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นถึงความงามที่มากกว่าสิ่งที่จับต้องได้ ในความเป็นเครื่องประดับ ซึ่งเราไม่ได้ต้องการที่จะส่งต่อความฉาบฉวย ของ 1 ชิ้นมันมาจากความมีสติ ความเพียรของคนคนหนึ่ง เลยมีความหมายมากกว่า ราคาของเงินค่ะ”...การส่งต่อความสุขในการทำงานของสาวเก่งคนนี้.