เริ่มนับถอยหลังในการที่ประเทศไทยเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ในระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งจะมีผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำองค์กรโลกที่สำคัญ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอระดับแนวหน้าจากทุกเขตเศรษฐกิจในการเข้าร่วม งานนี้ สนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ APEC CEO Summit 2022 Chair และ APEC Business Advisory Council Member ผู้รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ได้จัดงานประกาศความพร้อมในการจัดงาน ที่แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน

ดร.ดิสพล จันศิริ และ ปวิชญา คล้ายอักษร นักศึกษาผู้ชนะการประกวดชุดยูนิฟอร์ม
ดร.ดิสพล จันศิริ และ ปวิชญา คล้ายอักษร นักศึกษาผู้ชนะการประกวดชุดยูนิฟอร์ม

...

งานนี้ภาคเอกชนได้เน้นย้ำด้านความพร้อมในการประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่คาดว่าจะมีผู้นำภาคธุรกิจจากทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกไม่ต่ำกว่า 500-600 คน ไม่รวมคณะผู้ติดตามและทีมงาน ทั้งนี้ในการจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ รวมทั้งจะมีการจัดงานกาลาดินเนอร์ จะมีการถ่ายทอดความเป็นไทยทั้งในด้านอาหาร ศิลปวัฒนธรรม ของที่ระลึก ตลอดจนการจัดทริปท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มาร่วมงานและคณะผู้ติดตามหลังวันงาน เพื่อสร้างความประทับใจและปลุกกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยด้วย พร้อมกันนี้คณะทำงาน APEC CEO Summit 2022 ยังถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านชุดยูนิฟอร์มที่ตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce จะสวมใส่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ไทย อันนับเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการถ่ายทอด Soft power หรือการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมไทยผ่านสายตาชาวโลก ออกแบบโดยนักศึกษา คณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านการนำกลิ่นอายของผ้าฝ้ายที่งดงามและอ่อนช้อยของภาคเหนือ ผสานกับลวดลายช้างอันนับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองและมีเรื่องราวของความเป็นไทยนานาประการ เล่าเรื่องเรียงร้อยอยู่ในเส้นสายของยูนิฟอร์มชุดนี้

ทั้งนี้ ดร.ดิสพล จันศิริ คณบดีคณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยฯได้รับการมอบหมายจากทางหอการค้าไทย ให้นักศึกษาออกแบบชุดที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย จึงจัดทำโครงการประกวดแข่งขันการออกแบบ UNIFORM โดยให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะชั้นปีที่ 1 ได้ร่วมกันแข่งขันออกแบบและแสดงผลงานในงาน DAD Design APEC Day 2022 ผลงานที่ได้รับเลือกได้แก่ เสื้อสูทลายช้างออกแบบโดย ปวิชญา คล้ายอักษร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้นำอัตลักษณ์หรือภาพจำของภาคเหนือ ทำให้รู้สึกถึงความงดงาม นุ่มนวล สร้างความผ่อนคลาย โดยการนำช้างมาสร้างสรรค์ด้วยลายเส้นกับจินตนาการที่ประสานคล้องกัน เริ่มจากจุดไปสู่เส้นสายและรวมเป็นหนึ่งที่อยู่ภายในรูปสัญลักษณ์ของช้างมีที่มาจากสิ่งผูกพันกับแผ่นดินไทยนับตั้งแต่อดีตกาล สัตว์คู่บ้านคู่เมืองอย่าง “ช้าง” ได้มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นไทย

ด้าน ปวิชญา คล้ายอักษร ผู้ออกแบบ เปิดเผยว่า คอนเซปต์นี้มาจากที่ตนชอบการแต่งกายของทางภาคเหนือและเสื้อม่อฮ่อม ที่เป็นภูมิปัญญาไทยในการนำสีครามมาย้อมเป็นผ้าม่อฮ่อม ตนจึงอยากนำมาทำเป็นชุดเพื่อรู้สึกถึงความเป็นไทยและความผ่อนคลาย และนำภาพช้างมาประสานเป็นเส้นจนกลายเป็นภาพช้าง ที่แสดงความผูกพันของแผ่นดินไทยและช้าง ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนจากอดีต การทำศึกสงคราม ความเกี่ยวข้องที่สัมพันธ์ทั้งในด้านศาสนา พระมหากษัตริย์ เศรษฐกิจและสังคม.