ภาวะ “สมองขาดออกซิเจน” คาดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อดีตนักแสดงสาว ผิง พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์ เสียชีวิตกะทันหันขณะหลับ ซึ่งสาเหตุของสมองขาดออกซิเจนเกิดจากอะไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่
ภาวะ สมองขาดออกซิเจน คืออะไร
ภาวะ สมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia) คือ อาการที่สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการหายใจสั้นและถี่ ความจำเสื่อมชั่วคราว ชัก หรืออาจหมดสติได้ โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น โรคหอบ สำลักควัน โดนบีบรัดบริเวณคอ หรือจมน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ อาการสมองขาดออกซิเจนถือเป็นภาวะอันตราย เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อสมองจนถึงขั้นสมองตายและทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน
- ภาวะขาดอากาศหายใจ เช่น จมน้ำ, สำลักอาหาร, โรคหืดชนิดรุนแรง, ระบบหายใจล้มเหลว, โรคทางระบบประสาทบางโรค เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS -Amyotrophic lateral sclerosis) โรคจาก
การขึ้นที่สูง, ถูกฆาตกรรม, การฆ่าตัวตาย - ภาวะหัวใจหยุดเต้นจากโรคหัวใจเอง หรือจากโรคต่างๆ ที่รุนแรง
- ภาวะชักแบบต่อเนื่องทั้งตัวหมดสติเป็นเวลานาน
- ภาวะพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
- ภาวะช็อกจากความดันโลหิตต่ำมากเป็นระยะเวลานาน
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นระยะเวลานาน
- ภาวะสมองขาดเลือดมาเลี้ยงทั้งสมอง
- ภาวะได้รับสารพิษเกินขนาด ทำให้ร่างกายหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น เช่น ควัน พิษ, การได้รับยาเกินขนาด
สมองขาดออกซิเจน มีอาการอย่างไร
ผู้ที่มีภาวะสมองขาดออกซิเจนจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่สมองขาดออกซิเจน โดยอาจมีอาการเบื้องต้น เช่น รู้สึกสับสนมึนงง มีเหงื่อออกมาก การตัดสินใจแย่ลง เคลื่อนไหวลำบาก ขาดสมาธิ ความจำเสื่อมชั่วคราว เป็นต้น แต่หากสมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
...
- ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
- หายใจเร็ว หายใจติดขัด หรือหายใจมีเสียงหวีด
- หัวใจเต้นเร็ว
- ดวงตาไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง
- ชัก
- หมดสติ
- หยุดหายใจ หรือถึงขั้นสมองตายและเสียชีวิต
การรักษา สมองขาดออกซิเจน
การรักษาภาวะสมองขาดออกซิเจนนี้ เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็ว ด้วยการแก้ไขที่สาเหตุเพื่อให้มีการไหลเวียนของเลือดที่ดีให้เร็วที่สุด โดยการให้ออกซิเจนผ่านทางท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจในระยะแรก ให้ยาเพิ่มความดันโลหิตถ้ามีความดันโลหิตต่ำ ต้องกู้ชีพให้สัญญาณชีพปกติให้เร็วที่สุด เมื่อสัญญาณชีพต่างๆ ปกติแล้ว ก็จะเป็นการค่อยๆ หยุดการใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการใช้เครื่องช่วยหายใจ เช่น ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ รวมถึงการฟื้นฟูสภาพร่างกายและสมองด้วยกายภาพบำบัด และการทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ ซึ่งเป็นการรักษาภายในโรงพยาบาล ระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับสาเหตุและอาการผิดปกติของสมองว่ามากน้อยเพียงใด ร่วมกับการฟื้นตัวของผู้ป่วยว่าดีแค่ไหน
ภาวะสมองขาดออกซิเจนป้องกันได้หรือไม่
ภาวะสมองขาดออกซิเจน สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ รวมถึงการดูแลรักษาโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน เช่น ความดันโลหิตต่ำ ติดเชื้อรุนแรง น้ำตาลในเลือดต่ำ หากมีปัญหาการหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ควรต้องได้รับการกู้ชีพอย่างถูกวิธีและรวดเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน ซึ่งจะทำให้เซลล์สมองตายหรือขาดเลือดและเสียชีวิตในที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง: โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น