3 วันหลังตึกถล่ม แรงงานก่อสร้างไร้ที่พึ่ง เงินค่าแรงที่ทำไปแล้วก็ยังไม่ได้รับ

หลังจากเกิดเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (31 มีนาคม 2568) กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังคงตามหาญาติคนรู้จักของพวกเขาไม่พบ ยังคงรอคอยความช่วยเหลือและต้องการความชัดเจนจากทางกระทรวงแรงงาน
ทูซาร์ (Thu Zar) เป็นหนึ่งในแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ทำงานก่อสร้างและเธอกำลังตามหาเพื่อนร่วมงานที่หายไป 4 คนจากเหตุการณ์อาคารถล่ม ประกอบด้วย ชาวเมียนมา 3 คน ได้แก่ Aung Kyaw Phyo อายุ 21 ปี เพศชาย, Myinttun อายุ 31 ปี เพศชาย, Saw Aung Ye Soe อายุ 32 ปี เพศชาย และอีกหนึ่งคนที่เป็นคนสัญชาติไทย
ทูซาร์ระบุว่า จนถึงตอนนี้เวลาผ่านมา 3 วันแล้ว แต่เธอยังไม่ได้รับการติดต่อหรือความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ มีเพียงการเปิดให้เธอลงทะเบียนแจ้งคนสูญหายเท่านั้น ทำให้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. เป็นต้นมา ทูซาร์ต้องเดินทางโดยรถแท็กซี่ที่มีค่าใช้จ่าย 300 บาทจากบริเวณแคมป์คนงานที่เธอพักอาศัยบริเวณคลอง 3 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ติดต่อกันมา 3 วันเพื่อมาติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวที่บริเวณตึกอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มลงมา
“ตอนนี้เราไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย และไม่รู้ว่าต้องไปหาใครที่ไหนอย่างไร”
ทูซาร์กล่าวกับทางผู้สื่อข่าว โดยเธอและเพื่อนร่วมงานที่สูญหายนั้นทำงานให้กับบริษัทเอสเอ ที่เป็นหนึ่งในผู้จ้างเหมาช่วงในการสร้างอาคารดังกล่าว สิ่งเดียวที่เธอทำได้ตอนนี้คือการขอนายจ้างลาหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และเดินทางมาติดตามความคืบหน้าการค้นหาเพื่อนร่วมงานของเธอด้วยตนเอง
รวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานคลินิกกฎหมายแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ที่เป็นคนประสานงานช่วยเหลือทูซาร์ระบุว่า ตามข้อมูลที่เธอมีตอนนี้พบว่า คนงานที่ติดอยู่ในซากอาคารตอนนี้มีคนไทย 52 คน เมียนมา 26 คน ลาวและกัมพูชาอย่างละ 1 คน และระบุตัวตนไม่ได้ 24 คน โดยในจำนวนนี้พบว่าเป็นการจ้างงานเหมาช่วงต่องาน
ข้อมูลจากเครือข่ายที่ทำงานด้านองค์กรประชากรข้ามชาติพบว่า มีบริษัทคู่สัญญารับเหมาสร้างตึก สตง. อาคารก่อสร้างย่านจตุจักร บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และบริษัทอิตาเลียนไทย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยมีผู้จ้างเหมาช่วง และมีแรงงานทำงานในตึกขณะเกิดเหตุประมาณ 15 บริษัทและผู้รับเหมาประกอบด้วย
- บริษัท 9 พีเค
- ทีมงานช่างสำรวจที่ถูกจ้างเป็นทีมสำรวจงานสถาปัตย์
- บริษัทยูนิค
- บริษัทเอสเอ
- บริษัท TTSW
- บริษัท CN progress
- บริษัท P&J
- บริษัทก้องเก้า
- ผู้รับเหมาส่วนบุคคล
- บริษัทภูมิสเคป
- ผู้รับเหมานอก
- ผู้รับเหมานอกที่ บ.ไชน่า จ้าง
- ผู้รับเหมานอกที่ บ.ไชน่า จ้าง
- ผู้รับเหมานอกที่ บ.ไชน่า จ้าง
- ผู้รับเหมานอกที่ บ.ไชน่า จ้าง
โดยมีบริษัทคู่สัญญาที่รับเหมาสร้างตึกคือบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และบริษัทอิตาเลียนไทย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และพบผู้จ้างเหมาช่วงกว่า 15 บริษัท ทำให้เกิดความยุ่งยากในการตรวจสอบสถานะของแรงงาน รวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาล
รวมทั้งในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติที่เพิ่งอนุญาตให้ดำเนินการถึงสิ้นเดือน มี.ค. นี้ ทำให้ส่งผลต่อสิทธิต่างๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลารอยต่อ ความกังวลหลักตอนนี้สำหรับรวีพร จึงเป็นเรื่องค่าชดเชย ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งเรื่องของเอกสารประจำตัวแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อาคารถล่ม โดยเธอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม แสดงความชัดเจนต่อแนวทางการจัดการเรื่องนี้ว่าแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิอะไรบ้าง
ทางด้านซาย ทุน ส่วย ที่ทำหน้าที่ล่ามและเป็นตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่อยู่ในพื้นที่อาคารถล่มตลอด 3 วันที่ผ่านมา ระบุถึงสถานการณ์ความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติว่า แรงงานส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องการตามหาญาติตัวเองไม่พบ รวมทั้งการขาดคนกลางประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาลที่พวกเขาต้องเดินทางไปติดต่อด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้
“แรงงานในพื้นที่ตอนนี้ไม่มีที่พึ่ง คนงานที่เคยทำงานอยู่ในไซต์ก่อสร้างที่อาคารถล่มถูกลอยแพ เงินค่าแรงที่ทำไปแล้วก็ยังไม่ได้รับ กลายเป็นผลกระทบที่ลุกลามต่อจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น”
ซาย ทุน ส่วย สะท้อนเสียงจากแรงงาน โดยเขากล่าวต่อว่าแรงงานก่อสร้างที่มาทำงานก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เดินทางมาจากหลายไซต์งาน เช่น ห้วยขวาง ดอนเมือง เจริญกรุง บางแค คลองเตย เป็นต้น รวมทั้งมาจากหลายนายจ้างที่ทำให้ยากต่อการช่วยเหลือและเยียวยา มีนายจ้างรับเหมาไม่ติดต่อลูกจ้าง ทำให้หลายคนไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งกระทรวงแรงงานไม่ทำงานเชิงรุกร่วมกับนายจ้างเพื่อทำบัญชีลูกจ้าง รวมทั้งยืนยันสิทธิว่าลูกจ้างทุกคนมีประกันสังคม
โดยข้อมูลจากกรมจัดหางานพบว่า มีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ทำงานก่อสร้างอยู่ทั้งหมด 666,130 คน แบ่งเป็นประเภทนำเข้าตาม MoU 112,032 คน, ตามมติ ครม. 7 กุมภาพันธ์ 2566 288,321 คน, ตาม มติ ครม. 3 ตุลาคม 2566 265,777 คน ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง ทาง อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ให้ข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานไว้ 4 ข้อคือ
ข้อ 1 งานก่อสร้างเป็นลักษณะการทำงานที่มีหลายผู้รับจ้างงานช่วง ดังนั้นถ้าดึงฐานข้อมูลจากผู้รับจ้างงานช่วงไม่ได้ จะไม่สามารถประเมินความเสียหายของคนงานได้ ดังนั้นกระทรวงแรงงานต้องเรียกบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และบริษัทอิตาเลียนไทย ส่งชื่อบริษัทรับเหมาที่เข้าไปทำงาน และรายชื่อของลูกจ้างของแต่ละผู้รับเหมา รวมทั้งหลักฐานการนำส่งประกันสังคมและกองทุนทดแทน
อดิศรเชื่อว่าจำนวนคนงานที่สูญหายไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเลขที่ถูกเปิดเผยออกมาเท่านั้น
ข้อ 2 กระบวนการประสานงานและการสื่อสารที่ยังขาดความชัดเจน ยังพบกรณีที่แรงงานข้ามชาติไปขอรับความช่วยเหลือแต่ไม่สามารถสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ ได้ ดังนั้นกระทรวงแรงงานควรเป็นผู้ประสานงานหลักระหว่างตัวแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 3 การเยียวยารับผิดชอบจะต้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้นายจ้างชั้นต้นที่เป็นบริษัทคู่สัญญาที่รับเหมาสร้างตึกร่วมรับผิดชอบค่าชดเชย โดยไม่ให้ความรับผิดชอบทั้งหมดตกไปอยู่กับผู้รับเหมารายย่อย
ข้อ 4 กระบวนการทางเอกสารและการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาพบว่าการพิสูจน์ตัวตนและทายาทผู้รับผิดชอบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติทำได้ค่อนข้างยาก จึงควรมีจุดประสานงานเรื่องนี้ที่ชัดเจน เพื่อทำงานตรวจสอบและดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างครอบคลุม
“กระทรวงแรงงานควรประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินจำเป็นสำหรับแรงงาน”
อดิศร กล่าวในตอนท้าย โดยแสดงความเป็นกังวลว่าตอนนี้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อาคารถล่ม ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน รวมทั้งในเรื่องของการตกอยู่ภายใต้สภาวะตกงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ควรที่จะเข้ามาช่วยเหลือและจัดหางานให้คนงานกลุ่มนี้โดยเร่งด่วน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน
อัพเดทสถานการณ์ล่าสุดเวลา 16.20 น. พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนระหว่างลงพื้นที่ตึก สตง. ถล่ม กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารืออยู่กับบริษัทผู้รับเหมา เพื่อตรวจสอบสิทธิประกันสังคมของแรงงาน 18 คน ที่มีการยืนยันการเสียชีวิต โดยหากอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ก็จะได้รับเงินเยียวยาประมาณ 2 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม บริษัทรับเหมาจะต้องรับผิดชอบ
พิพัฒน์ กล่าวต่อว่าวันนี้กระทรวงแรงงานจะเริ่มมาตั้งศูนย์ประสาน 24 ชม. และได้นำล่ามทั้งภาษากัมพูชาและพม่า เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาติดต่อประสานงานแจ้งคนหายได้
ภาพ: ณฐาภพ สังเกตุ