พระผงวัดรังษีสุทธาวาส พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงดำ ลงรักลงชาด ปิดทอง หลังกดตรายันต์

"ผู้ใดมีพระวัดรังษี ผู้นั้นชีวีไม่วางวาย" พระนิพนธ์ที่กล่าวถึงของดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า เป็นคำบรรยายถึงพุทธคุณของพระผงวัดรังษีได้อย่างลึกซึ้งด้วยกลอนบทนี้ วันนี้มาชมพระผงวัดรังษี พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงดำ ลงรักลงชาดปิดทอง หลังกดตรายันต์ ถือได้ว่าเป็นพระวัดรังษีที่สวยมากองค์หนึ่ง องค์พระมีหน้ามีตาครบเครื่อง ความเก่าปรากฏจากความแห้งของรัก ความสดใสของชาดสีแดงและแผ่นทองเก่า

ในอดีต พระผงวัดรังษีเป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมากกว่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ จนมีคำกล่าวในยุคนั้นว่า เอาพระสมเด็จวัดระฆังฯ มาแลกก็ไม่ยอม พระผงวัดรังษีถือได้ว่าเป็นพระเครื่องที่ยากจะหาคู่เทียบได้ในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังถือว่าเป็นพระเครื่องที่หาชมได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่สวย คม ชัด แบบองค์นี้

พระผงวัดรังษี พิมพ์ใหญ่องค์นี้เนื้อผงสีดำ ลงรักลงชาดปิดทอง หลังกดตรายันต์ ส่วนเนื้อหามวลสารขององค์พระเมื่อส่องดูจะเห็นว่าแห้งมาก และหดตัว ทำให้เส้นสายพิมพ์พระปรากฏคมชัด มีลักษณะสวยเด่นคือองค์พระประธาน นั่งขัดสมาธิเพชร พระพักตร์ติดชัดทุกส่วน พระกรรณด้านซ้ายองค์พระจะใหญ่กว่าพระกรรณด้านขวาและกางออกมากกว่า พระกรด้านซ้ายขององค์พระถือคนโทน้ำมนต์ บริเวณข้อศอกด้านขวาองค์พระจะหักพับลึกชัดเจน และสังฆาฏินูนเด่นชัด

พระผงวัดรังษี พิมพ์ใหญ่องค์นี้เนื้อผงสีดำ ลงรักลงชาดปิดทอง หลังกดตรายันต์
พระผงวัดรังษี พิมพ์ใหญ่องค์นี้เนื้อผงสีดำ ลงรักลงชาดปิดทอง หลังกดตรายันต์

...

ส่วนพระบาทขวาขององค์พระจะพาดทับพระบาทข้างซ้าย และส่วนของพระบาทและฝ่าพระบาททั้งสองข้างขององค์พระจะเด่นชัดเป็นมิติเพราะการหดตัวของเนื้อหามวลสารองค์พระ บริเวณผ้าทิพย์จะคมชัดและลึกเป็นมิติเช่นกัน ส่วนของดอกบัวที่ติดขอบฐานในพิมพ์ใหญ่นี้ ดอกบัวด้านซ้ายขององค์พระจะดอกโตที่สุดและติดขอบมากที่สุด และไล่เรียงมาทางฝั่งขวาขององค์พระ ดอกบัวฝั่งขวาขององค์พระจะไม่ติดเส้นขอบฐานพระและเป็นดอกที่เล็กที่สุด ส่วนขอบจะมีเส้นขอบบนและมีปีกปลิ้นล้นกรอบเป็นสันรอบองค์พระส่วนล่าง ด้านหลังจะมีตรายันต์ประทับอยู่จมลึกเป็นมิติชัดเจน

พระผงวัดรังษีสุทธาวาส 1.2 ล้าน ป๋องสุพรรณการันตีรุ่นนี้หาชมยาก

พระผงวัดรังษี มีทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ

1. พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงดำ ลงรักลงชาด ปิดทอง หลังกดตรายันต์
2. พิมพ์ใหญ่ เนื้อผงขาว
3. พิมพ์กลาง เนื้อผงขาว
4. พิมพ์เล็ก เนื้อผงขาว

พระผงวัดรังษีสุทธาวาส 1.2 ล้าน ป๋องสุพรรณการันตีรุ่นนี้หาชมยาก
พระผงวัดรังษีสุทธาวาส 1.2 ล้าน ป๋องสุพรรณการันตีรุ่นนี้หาชมยาก

นอกจากนี้ พระผงวัดรังษี เนื้อผงขาว ทั้ง 3 พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก นั้น มีทั้งชนิดปิดทองและไม่ปิดทอง การสร้างพระผงวัดรังษีนั้น สันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างขึ้นในราว 2437-2439 จากเอกสารการโปรดเกล้าฯ ให้ วัดรังษีสุทธาวาส ขึ้นกับวัดบวรนิเวศวิหารในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหลักฐานปรากฏชัดว่า ในช่วงปี 2442 พระธรรมกิติ (แจ้ง) ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดรังษีสุทธาวาสอยู่แล้ว มีบันทึกถึงกรรมวิธีการปิดทองของพระวัดรังษีว่า มีความแตกต่างจากพระสมเด็จวัดระฆังฯ ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งจะนำองค์พระจุ่มรักก่อนแล้วจึงปิดด้วยทองคำเปลว

แต่สำหรับพระผงวัดรังษี ใช้ทองคำเปลวปิดลงบนแม่พิมพ์พระก่อน แล้วจึงกดพิมพ์ เมื่อถอดองค์พระออกจากแม่พิมพ์ ทองคำเปลวก็จะติดบนองค์พระ ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวนี้ ทองคำเปลวมักจะติดไม่แน่น เมื่อระยะเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน องค์พระบางองค์จึงมีทองคำเปลวติดบ้าง และหลุดออกไปบ้าง

พระผงวัดรังษีสุทธาวาส 1.2 ล้าน ป๋องสุพรรณการันตีรุ่นนี้หาชมยาก

...

อย่างไรก็ตามแนวทางการพิจารณาพระผงวัดรังษีนั้น ซึ่งเป็นพระเก่าและหาชมองค์จริงได้ยากนั้น ก็ต้องจำภาพรวมลักษณะพิมพ์ รวมทั้งเนื้อหามวลสาร ความแห้งเก่าของรัก ความแห้งเก่าของชาด และทองคำเปลวที่ติดองค์พระเช่นองค์นี้ ยิ่งหากได้มีโอกาสสัมผัสและเห็นองค์จริงแบบผู้เขียน จะเข้าใจ และเปรียบเทียบกับองค์อื่นได้ง่าย วัดรังษีสุทธาวาส เป็นวัดโบราณ สถาปนาขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บนพื้นที่ริมกำแพงพระนคร ด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างวัดรังษีสุทธาวาส คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ตามจารึกที่ปรากฏบนผนังพระอุโบสถวัดรังษีสุทธาวาส

วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2366 ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 6 ปี พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเอาใจใส่ในการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระอุตสาหะในการทำหน้าที่เป็นนายช่างและตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง จุดเปลี่ยนสำคัญของวัดรังษีคือปี พ.ศ.2458 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำริที่จะรวมวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งกำลังเสื่อมโทรมอย่างเต็มที่เข้ากับวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อจะได้ทรงจัดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ในคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการได้ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จากนั้นเป็นต้นมาก็เหลือแต่คณะรังษี และมาเป็นคณะเหลืองรังษี ซึ่งเป็นคณะหนึ่งในวัดบวรนิเวศวิหารในปัจจุบัน

ผู้เขียน : ป๋องสุพรรณการันตี