สมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย กรุเก่า วัดบางขุนพรหม เป็นวัดซึ่งมีแต่ครั้งกรุงธนบุรี เดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดวรามาตาราม" แต่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า "วัดบางขุนพรหม" ต่อมามีถนนตัดผ่านจึงแบ่งแยกออกเป็นสองวัด คือ วัดบางขุนพรหมใน และวัดบางขุนพรหมนอก ซึ่งมีชื่อต่อมาก็คือ "วัดอินทรวิหาร" นั่นเอง ส่วนวัดบางขุนพรหมนอก ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดใหม่อมตรส" ซึ่งเป็นวัดต้นตำนานพระกรุที่ลือชื่อก็คือ "พระสมเด็จบางขุนพรหม" ที่มีชื่อเสียงขจรขจายเป็นอย่างยิ่ง เดิมทีวัดบางขุนพรหม มีผู้อุปถัมภ์อุปการะวัดเป็นกำลังสำคัญก็คือ "พระองค์เจ้าอินทร์" และเป็นผู้ที่สนิทชิดเชื้อกับ "สมเด็จพุฒาจารย์โต" (พรหมรังสี) อริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างยิ่ง พระองค์เจ้าอินทร์ได้สละทรัพย์เพื่อซื้อที่ดินมอบให้แก่วัดบางขุนพรหมเพื่อขยายให้กว้างขวางเป็นจำนวนมากปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างภายในวัดให้สวยงาม

ต่อมาเมื่อสิ้นพระองค์เจ้าอินทร์ ผู้มีอุปการะวัดคนต่อมาก็คือ "เสมียนตราด้วง" ต้นตระกูล "ธนโกเศศ" ท่านเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ บูรณะวัดบางขุนพรหมหายจากการชำรุดทรุดโทรม หลังจากพระองค์เจ้าอินทร์ได้สิ้นพระชนม์ลง แต่เสมียนตราด้วงผู้นี้ก็เป็นผู้ที่เคารพและศรัทธาต่อสมเด็จพุฒาจารย์โตเป็นอย่างที่สุดถึงขนาดได้สร้างพระองค์ใหญ่ถวายแด่สมเด็จพุฒาจารย์โตก็คือ "พระหลวงพ่อโต" ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทรวิหาร สมเด็จพุฒาจารย์โต มักจะมาจำวัดและเทศนาที่วัดบางขุนพรหมประจำ ทำให้มีความสนิทชิดเชื้อกับเสมียนตราด้วง โยมอุปถัมภ์ วัดบางขุนพรหมเป็นอย่างดี เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต ท่านได้เป็นผู้ที่สร้างพระสมเด็จวัดระฆัง สุดยอดของพระเครื่องของเมืองไทย ซึ่งท่านได้สร้างเมื่อปี 2409 ภายหลังจากท่านได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น "สมเด็จพุฒาจารย์" และสิ้นสุดการสร้างเมื่อปี พ.ศ.2413 ท่านได้สร้างพระ "สมเด็จวัดบางขุนพรหม" ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อเสียงขจรขจาย ไม่แพ้พระสมเด็จวัดระฆังเลยทีเดียว

...

ในปี พ.ศ.2413 เสมียนตราด้วง ได้อาราธนาสมเด็จพุฒาจารย์โต ให้สร้างพระขึ้นมา เพื่อบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่วัดบางขุนพรหม เพื่อไว้สืบทอดศาสนาและไว้สำหรับภายภาคหน้า เมื่อยามบ้านเมืองหรือประชาชนทุกข์ร้อน ก็จะได้นำมาไว้ใช้เพื่อขจัดความทุกข์ร้อน เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โตจึงอนุญาตและได้ทำการสร้าง โดยให้นำแม่พิมพ์ของ "หลวงวิจารณ์ เจียรนัย" ซึ่งเป็นแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังมาให้ในการสร้าง และทำให้แม่พิมพ์เพิ่มขึ้นมาใหม่อีก โดยพิมพ์ของหลวงวิจารณ์ เจียรนัย มีอยู่ทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ

1. พิมพ์ปรกโพธิ์

2. พิมพ์ใหญ่

3. พิมพ์ทรงเจดีย์

4. พิมพ์เกศบัวตูม

5. พิมพ์ฐานแซม

ส่วนพิมพ์ที่ทำขึ้นมาใหม่อีก 4 พิมพ์คือ

1. พิมพ์เส้นด้าย

2. พิมพ์สังฆาฏิ

3. พิมพ์ฐานคู่

4. พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร ทำให้พิมพ์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมมีทั้งหมด 9 พิมพ์ด้วยกัน เสมียนตราด้วงได้นำวัสดุประกอบการสร้าง คือ ปูนขาว ผง ตลอดจนวัสดุในการผสมให้เป็นเนื้อพร้อมที่จะทำพระ ส่วนเจ้าประคุณสมเด็จได้มอบผงวิเศษอันมีชื่อเสียงของท่านมาผสม ผงวิเศษนั้นก็คือ ผง 5 ชนิดที่ใช้ผสมกับเนื้อพระที่ใช้ทำพระสมเด็จวัดระฆังอันลือชื่อ ประกอบด้วย 1.ผงอิธะเจ 2.ผงปถมัง 3.ผงตรีนิสิงเห 4.ผงมหาราช 5.ผงพุทธคุณ

เมื่อนำมาผสมเสร็จก็นำไปกดที่แม่พิมพ์ เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต ก็เข้าทำพิธีปลุกเสก ในครั้งนั้น สมเด็จพุฒาจารย์โต ได้นำพระวัดระฆังที่ท่านสร้างไว้ก่อน จำนวนหนึ่งประมาณ สี่บาตรพระ เข้าไปร่วมบรรจุไว้ในเจดีย์ด้วย

ในปี พ.ศ.2425 ได้มีคนลอบนำพระออกมาจากเจดีย์ เพราะกิติศัพท์ของพระสมเด็จ ใช้รักษาโรคห่า (อหิวาตกโรค) ได้ โดยใช้วิธีตกหรือการตกพระ คือการนำลำไม้ไผ่ยาว ๆ ส่วนปลายข้างหนึ่งของไม้ไผ่นำดินเหนียวมาพอกให้เป็นตุ่ม แล้วสอดเข้าไปในช่องอากาศขององค์พระเจดีย์ให้ปลายไม้ไผ่มีดินเหนียวพอกกระทบกับพื้น เพื่อจะได้พระติดขึ้นมา ทำให้ได้พระไปจำนวนหนึ่ง

ในปี พ.ศ.2436 เกิดสงครามไทยกับฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนพากันไปตกพระอีก เพื่อจะได้พระมาไว้ป้องกันตัว คราวนี้ได้พระไปจำนวนมากพอสมควร และในปี พ.ศ.2450 ก็มีการตกพระอีก พระที่ทำการตกทั้งสามครั้งนั้น จะได้พระที่อยู่บนๆ ไม่โดนดินหรือเศษฝุ่นในเจดีย์ทับถม จึงเป็นพระที่มีความสวยงามชัดเจน มีคราบกรุจับน้อย ซึ่งมักจะเรียกกันว่า "พระกรุเก่า"

ในปี พ.ศ.2500 ได้มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งคิดจะได้พระทางลัด จึงได้ลอบไปเจาะองค์พระเจดีย์เสียเลยและได้พระจำนวนมาก ทำให้กรรมการของวัดบางขุนพรหมได้ประชุมกัน แล้วพร้อมตกลงที่จะเปิดกรุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เพื่อที่จะนำออกจำหน่ายให้ประชาชน เพื่อนำเงินมาบูรณะวัด จึงมีการเปิดกรุเป็นทางการ โดยได้ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นประธานในการเปิดกรุในครั้งนั้นได้พระมาประมาณ 2,900 องค์ เป็นพระที่สมบูรณ์ และที่ชำรุดแตกหักอีกเป็นจำนวนมาก พระที่แตกกรุออกมาจะมีคราบกรุจับหน้าเสียส่วนใหญ่ เพราะโดนดินและเศษปูนในเจดีย์ทับถม ความสวยงามเป็นรอง พระที่ทำการตกพระครั้งแรกๆ พระที่ทำการเปิดกรุเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2500 จึงเรียกกันว่า "พระกรุใหม่" มีครบทั้งหมด 9 พิมพ์ ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น พิมพ์ที่มีน้อยที่สุด คือ พิมพ์ปรกโพธิ์ คือ พบแค่ 17 องค์เท่านั้น แต่ที่พิเศษกว่านั้นก็คือ ได้พบพระของวัดเกศไชโย และพระปางไสยาสน์ (พระนอน) อีกจำนวนไม่มากนัก พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ไม่ว่าจะเป็นพระกรุเก่า หรือพระกรุใหม่ พุทธคุณไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพระสมเด็จวัดระฆังเลย เพราะสมเด็จพุฒาจารย์โตพรหมรังสี ท่านได้ร่วมในการสร้างและปลุกเสก เพราะฉะนั้น พุทธคุณนั้นสุดยอดเหมือนกันเลยทีเดียว

...

หากกล่าวถึง พระสมเด็จ ชื่อของ “พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม” และ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” ซึ่งต่างเป็นพระเครื่องที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้สร้างและปลุกเสก ย่อมเป็นศรัทธาและนิยมกันในวงการผู้สะสมพระเครื่อง ในด้านพุทธคุณนั้นพระสมเด็จบางขุนพรหมก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพระสมเด็จวัดระฆังเลยเพราะสมเด็จพุฒาจารย์โต ท่านได้ร่วมในการสร้างและปลุกเสก วันนี้ผมจะมาสอนดูลักษณะและตำหนิของพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย กรุเก่า

ชี้ตำหนิ

...

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย กรุเก่า ดูพิมพ์ทรงเป็นหลัก เกศเป็นสันคมตูม อกและแขนใหญ่ เส้นซุ้มคมชัดเจน รอยตัดคมชัด ตัดตรงเป็นเหลี่ยมแท่ง เรียกว่าสับตอก เนื้อมีความนุ่มหนึบคล้ายวัดระฆัง เนื้อมีลักษณะคล้ายวัดระฆังแต่อ่อนกว่า

ด้านหลังเห็นรักชัดเจน ความเก่าของคราบรักจะแห้งๆ มีการรัดตัวของรัก เป็นความเก่าของรักแต่เดิมโบราณ บริเวณขอบมนฝนเก่าแต่โบราณ ทำให้พิจารณาง่ายขึ้นเพราะเห็นเนื้อด้านใน มองเห็นเม็ดมวลสารต่างๆ ชัดเจน

...

ด้านข้าง รอยตัด สับตอก ตัดตรงเป็นเหลี่ยมแท่ง ความเก่าคราบรักเก่ามีลักษณะแห้งๆ ติดแน่น เป็นการลงรักแต่โบราณ

โทน บางแค
โทน บางแค

คอลัมน์ : หยิบกล้องส่องพระ by โทน บางแค
Line : @tone8888
เพจ : โทน บางแค FC.