ไหว้ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ เสริมมงคลหนุนดวงรับปีใหม่ 2568 หากต้องการเดินทางไปไหว้ศาลหลักเมืองเพื่อขอพรในเรื่องต่างๆ ควรใช้อะไรบ้าง ไหว้ใช้ธูปกี่ดอก ควรไปไหว้วัน-เวลาไหนดี ไทยรัฐออนไลน์ได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร" มาฝากกัน พร้อมขั้นตอนการไหว้ที่ถูกต้อง และพิกัดจุดจอดรถใกล้บริเวณนั้น เช็กทุกข้อสงสัยได้ที่นี่

เปิดประวัติศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

"ศาลหลักเมือง" สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) หลังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ซึ่งเสาหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ โดยมีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสามีลักษณะเป็นรูปบัวตูม

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่ เนื่องจากต้นเดิมชำรุดทรุดโทรม โดยใช้เสาไม้สักเป็นแกนอยู่ด้านใน ทำยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ เพื่อเสริมความรุ่งเรืองให้เป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี ใน พ.ศ. 2525 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมืองให้สวยงามสมบูรณ์

ปัจจุบันบริเวณศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ยังมีการสร้างศาลเทพารักษ์ล้อมรอบ เพื่อให้เป็นที่สถิตของทั้ง 5 เทพรักษ์ ที่เชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูป

...

ทางด้านกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศาลหลักเมืองเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2518 โดยมีการกำหนดให้วันที่ "21 เมษายน" ของทุกปี เป็นวันสถาปนาองค์พระหลักเมือง และจะมีการจัดพิธีบวงสรวงตามประเพณีพราหมณ์

ไหว้ศาลหลักเมือง 2568 ใช้อะไรบ้าง ใช้ธูปกี่ดอก?

บริเวณศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ มีจุดบริการดอกไม้ ธูป เทียน โดยสามารถร่วมทำบุญและบริจาคได้ตามกำลังศรัทธา

การไหว้ศาลหลักเมือง จะใช้ธูป 3 ดอก หรือ 9 ดอกก็ได้ และใช้เทียน 1 เล่ม รวมไปถึงยังมีชุดไหว้เสริมสิริมงคลต่างๆ ประกอบด้วย

  • ธูป 
  • เทียน
  • แผ่นทองคำเปลว
  • ดอกบัว
  • พวงมาลัย
  • ผ้าแพร 3 สี
  • น้ำมันตะเกียง

นอกจากนี้ ยังมีจุดให้เช่าบูชาวัตถุมงคล ตลอดจนประชาชนสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้มีละครรำสำหรับถวายแก้บนได้อีกด้วย 

วิธีไหว้ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ ที่ถูกต้อง ทำตามได้ง่ายๆ 5 ขั้นตอนต่อไป

1. เริ่มด้วยการไหว้สักการะหอพระพุทธรูป โดยให้ถวายดอกบัว 1 ดอก โดยไม่ต้องจุดธูปและเทียน

2. ไหว้องค์พระหลักเมืองจำลอง ให้จุดธูป 3 ดอก (บ้างก็ไหว้ 9 ดอกก็ได้) พร้อมด้วยจุดเทียนอีก 1 เล่ม ในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นให้ปิดทองคำเปลวพระพุทธรูปเพื่อเสริมสิริมงคล และให้ผูกผ้าแพร 3 สี บนองค์ศาลหลักเมืองจำลอง

3. ต่อมาให้ไหว้องค์พระหลักเมือง โดยให้กราบสักการะ และถวายพวงมาลัย ห้ามจุดธูปและเทียน รวมถึงห้ามปิดทอง

4. ไหว้สักการะศาลเทพารักษ์ ซึ่งเป็นที่สถิตขององค์เทพศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 ที่เชื่อว่าคอยคุ้มครองศาลหลักเมืองและดูแลบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขตามความเชื่อคนไทยโบราณ ได้แก่ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง

5. ขั้นตอนสุดท้ายของการไหว้ศาลหลักเมืองก็คือ เติมน้ำมันตะเกียงที่พระปางประจำวันเกิดของตัวเอง แนะนำให้เติมเพียงครึ่งขวดเท่านั้น โดยอีกครึ่งที่เหลือให้เทลงในอ่างสะเดาะเคราะห์ ถือเป็นอันเสร็จขั้นตอนการไหว้ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ

แผนผังศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร (ภาพโดย : www.bangkokcitypillarshrine.com
แผนผังศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร (ภาพโดย : www.bangkokcitypillarshrine.com

...

ไหว้ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ นิยมขอพรเรื่องอะไร?

ประชาชนจะนิยมไปไหว้ขอพรศาลหลักเมืองในช่วงวันขึ้นปีใหม่ หรือเทศกาลวันสำคัญ โดยจะถือว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ดีและเป็นสิริมงคล

นอกจากนี้ ยังเชื่ออีกว่าหากอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดใด ก็ควรไปไหว้สักการะศาลหลักเมืองของจังหวัดนั้น เพื่อขอพรและบอกกล่าวฝากตัวให้ศาลหลักเมืองช่วยคุ้มครองดูแล

การไปไหว้ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ มักจะขอพรเรื่องงานให้รุ่งเรืองเจริญก้าวหน้า และขอพรเรื่องโชคลาภให้การเงินไม่ติดขัด นอกจากนี้ ยังเชื่ออีกว่ายังเป็นการหนุนดวงให้ชีวิตราบรื่นตลอดทั้งปีอีกด้วย

ข้อแนะนำในการแต่งตัวไปไหว้ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ

  • ผู้ชาย : ควรสวมเสื้อสีสุภาพ สวมกางเกงขายาว ห้ามใส่เสื้อกล้ามหรือเสื้อแขนกุด
  • ผู้หญิง : ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย มิดชิด สวมเสื้อมีแขน กางเกงหรือกระโปรงที่มีความยาวคลุมเข่า ห้ามใส่เสื้อสายเดี่ยว แขนกุด เสื้อกล้าม กางเกงหรือกระโปรงสั้น รวมไปถึงชุดรัดรูป

...

ไหว้ศาลหลักเมือง ไปวันและเวลาไหนดี?

ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30-18.30 น. เข้าฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยในช่วงเทศกาลพิเศษ เช่น วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และเทศกาลวันตรุษจีน จะเปิดให้บริการตลอดทั้งคืน

เดินทางมาไหว้ศาลหลักเมือง จอดรถที่ไหนได้บ้าง

หากเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ สามารถนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) มาลงที่สถานีสนามไชย หลังจากนั้นออกทางออก 2 เดินตามป้าย "ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร"

สำหรับประชาชนที่นำรถยนต์ส่วนตัวมาเอง สามารถจอดรถได้ที่ท้องสนามหลวง ตามวันและเวลา ดังนี้

  • วันจันทร์-วันศุกร์ : จอดได้ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.
  • วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ : จอดได้ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.

ทั้งนี้ ใกล้กับศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญของไทยอีกมากมาย โดยเฉพาะวัดเก่าแก่คู่กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว), วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์), วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เป็นต้น สามารถเดินทางไปไหว้ขอพรเสริมสิริมงคลที่วัดเหล่านี้ได้เช่นกัน

...

ขอบคุณภาพและข้อมูล : ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร