พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม พระสมเด็จฯ วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์พระประธานในพระชุดเบญจภาคี ท่านผู้สร้างคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

พุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ของพระสมเด็จฯ ระฆังฯ มีมากมาย นับว่าเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งตั้งแต่มีวงการพระเครื่องมา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่พระนครศรีอยุธยา ท่านมีอายุยืนยาวนานถึง 5 แผ่นดิน โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลไม่กี่คนที่อยู่ทันเห็นรัชกาลที่ 1 พระองค์จริง

ทั้งนี้ เมื่อท่านอุปสมบท รัชกาลที่ 1 ทรงพระเมตตารับเป็นนาคหลวง อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านเป็นศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน พระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นผู้สร้างพระสมเด็จฯ อรหังขึ้น ทั้งนี้ ว่ากันว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ดำเนินรอยตามการสร้างพระตามสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน

...

ในปี พ.ศ. 2407 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์” หลังจากนั้น 2 ปี ในปี พ.ศ. 2409 ท่านได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ วัดระฆังโฆสิตาราม สำหรับมูลเหตุในการสร้างพระสมเด็จฯ วัดระฆังนั้น เล่ากันว่า

เมื่อครั้งที่ท่านขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องพระพิมพ์ ในครั้งนั้นท่านได้พบพระพิมพ์โบราณที่วัดเสด็จซึ่งเป็นวัดร้าง ท่านจึงได้นำพระพิมพ์เหล่านั้นกลับมาบางส่วนพร้อมทั้งดำริที่ว่าจะสร้างพระเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาเหมือนดังที่คนโบราณได้กระทำมา

สำหรับมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระสมเด็จฯ ประกอบด้วย ปูนขาวเป็นส่วนใหญ่ (เอาเปลือกหอยมาเผาเป็นปูนขาว) ผงพุทธคุณ ซึ่งเกิดจากการเขียนอักขระลงบนกระดานชนวนแล้วลบ จากนั้นนำผงที่ได้มาปั้นแล้วนำมาเขียนใหม่ ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยเริ่มจากผงปถมัง ผงอิทธิเจ ตรีนิสิงเห มหาราช และพุทธคุณ ผงที่ได้จึงมีอานุภาพสูงสุด ส่วนผสมอื่น ๆ ได้แก่ ใบลานเผา ดอกไม้แห้ง เศษจีวรพระ และเนื้อพระประสานด้วยน้ำมันตังอิ้ว เพื่อกันการแตกร้าว

สำหรับขั้นตอนกรรมวิธีนั้น นำเอามวลสารผสมแล้วนำมาตำเป็นเนื้อพระสมเด็จ ปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ตัดออกเป็นชิ้น ๆ (เรียกว่าชิ้นฟัก) นำเนื้อพระสมเด็จชิ้นฟักวางลงที่แม่พิมพ์ ซึ่งแกะจากหินชนวน แล้วกดเนื้อพระกับแม่พิมพ์ ตัดขอบพระเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ตอกตัดดอกไม้ไผ่ที่ใช้จักสาน สำหรับแม่พิมพ์พระสมเด็จฯ วัดระฆัง มีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ
1. พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์ประธาน)
2. พิมพ์ฐานแซม
3. พิมพ์เจดีย์
4. พิมพ์ปรกโพธิ์
5. พิมพ์เกศบัวตูม

พุทธคุณของพระสมเด็จวัดระฆังสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายด้าน ขึ้นชื่อในด้าน “เมตตามหานิยม” เป็นอย่างมาก

ผู้ที่บูชาพระสมเด็จเชื่อว่าจะได้รับความเมตตาจากผู้คนรอบข้าง ทำให้มีคนช่วยเหลือเกื้อกูล มีเสน่ห์และได้รับความนิยมชมชอบ เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการเจรจา การค้าขาย หรือต้องพบปะกับผู้คนบ่อยครั้ง พุทธคุณที่โดดเด่นอีกด้านคือ “ความแคล้วคลาด”

เชื่อกันว่าผู้ที่บูชาจะปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ ทั้งจากอุบัติเหตุ อันตรายทางกาย และอันตรายจากศัตรู รวมถึงการป้องกันจากสิ่งชั่วร้าย ไม่ว่าจะเป็นคุณไสยหรือมนต์ดำ พุทธคุณด้าน “โชคลาภและความเจริญรุ่งเรือง” ทำให้ผู้ที่บูชามีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการเงิน ธุรกิจประสบความสำเร็จ ช่วยดึงดูดโชคลาภและโอกาสดี ๆ ให้เข้ามาในชีวิต

การบูชาพระสมเด็จวัดระฆังช่วยให้จิตใจสงบและมั่นคง มีสติและสมาธิในการดำเนินชีวิต ความศรัทธาต่อพระพุทธคุณของพระเครื่องจะช่วยให้ผู้บูชามีความมั่นใจในสิ่งที่ทำ ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคหรือความยากลำบาก อีกทั้งยังมีพุทธคุณในการ “ป้องกันคุณไสยและสิ่งชั่วร้าย” เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ศรัทธาที่เชื่อว่าจะป้องกันอาถรรพ์หรือพลังลบต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่บูชาปลอดภัยจากพลังอันไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ การมีพระสมเด็จวัดระฆังยังช่วยเพิ่มบารมีแก่ผู้ที่ต้องการความเคารพและการยอมรับจากผู้อื่นอีกด้วย

...

วันนี้ผมนำสุดยอดพระเครื่องของวงการมาให้ชมครับ องค์นี้คือพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม เป็นองค์ที่สมบูรณ์แบบมากไม่มีชำรุดอุดซ่อมใดๆ และที่สำคัญพระองค์นี้อยู่ในหน้าปกหนังสือพระเครื่องโบราณ ถูกตีพิมพ์เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ที่เรียกว่าอยู่ในทำเนียบองค์ตำนานอีกหนึ่งองค์ ซึ่งต้องบอกเลยว่าจะหาพระสวยสมบูรณ์แบบนี้ในยุคนี้ได้ยากยิ่งนัก นี่คือจักรพรรดิแห่งพระเครื่องเมืองไทย ที่หาชมได้ยากยิ่ง

ชี้ตำหนิ จำพิมพ์พระให้แม่น ใบหน้าพระพักตร์ลักษณะคล้ายรูปไข่ เส้นเกศจรดซุ้มและทะลุออกมาเล็กน้อย เส้นซุ้มจะหนาเป็นสันคมมีมิติ รอบขอบตัดมองเห็นชัดเจน ลักษณะการตัดขอบของวัดระฆังจะตัดชิดซุ้ม องค์พระเนื้อจะมีความแห้ง เม็ดมวลสารหดตัวเป็นก้อนๆ มีคราบเป็นคราบแป้งโรยพิมพ์ เพื่อไม่ให้เนื้อขององค์พระติดพิมพ์ ที่บริเวณฐานแต่ละชั้นจะมีเส้นเล็กๆ เพิ่มขึ้นมา นี่คือที่มาของชื่อ “ฐานแซม”

ด้านหลังมีโพรงที่เกิดจากมวลสารหดตัวเป็นธรรมชาติ และมีการหดตัวลักษณะเป็นเม็ดก้อนๆ มวลสารจะมีเม็ดสีแดงส้มเป็นเม็ดมวลสารมาจากพระกรุทุ่งเศรษฐี เนื้อมวลสารตุ๊บตั๊บเป็นธรรมชาติของพระสมเด็จวัดระฆัง จะมีเม็ดมวลสารเม็ดขาวเม็ดดำ และมีรอยเศษไม้ ตามตำนานเล่าว่าเป็นไม้ไก่กุก

...

ด้านข้างจะเห็นลักษณะของพระจะแอ่นเล็กน้อยและพิมพ์ฐานแซมส่วนมากองค์พระจะบางๆ ด้านข้างของวัดระฆังจะเป็นแบบสับตัดตรง ไม่เบี้ยว มีโพรงที่เกิดจากเม็ดมวลสารหดตัว รอยย่นเป็นธรรมชาติ

โทนบางแค
โทนบางแค

...

ผู้เขียน : หยิบกล้องส่องพระ by โทน บางแค
Line : @tone8888
เพจ : โทน บางแค FC.