พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เป็นสุดยอดพระเครื่องหนึ่งในชุดเบญจภาคี "พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่" วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ สร้างโดยสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ซึ่งถือว่าเป็นพระเครื่องที่นิยมสูงสุดและยกย่องให้เป็น "จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง"
ทำให้นักสะสมพระเครื่องทั่วประเทศต่างอยากได้มาไว้ครอบครองบูชา สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี มีนามเดิมว่า โต เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๗ ปีแล้ว) เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราชที่ ๑๑๕๐ มีมารดาเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่มีชื่อว่า งุด เกศ ส่วนบิดา ไม่มีหลักฐานปรากฏที่แน่ชัด
เล่ากันว่า เมื่อวัยเยาว์ ท่านมีรูปร่างที่บอบบาง เพื่อเป็นการข่มนาม ผู้ใหญ่จึงตั้งชื่อไปในทางตรงกันข้าม และให้มีนามว่า โต ท่านอาศัยอยู่ที่ ณ บ้านตำบลไก่ต้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมรณภาพ ในวันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราชที่ ๑๒๓๔ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ สิริรวมอายุ ๘๕ ปี ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามได้ ๒๐ ปี โดยรับตำแหน่งตั้งแต่อายุ ๖๕ ปี และดำรงฐานันดรศักดิ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์โตมาได้ ๗ ปีเศษ
...
เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ท่านได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดใหญ่เมืองพิจิตร และได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ เมืองชัยนาท จนอายุครบ ๑๘ ปี ท่านก็ย้ายมาศึกษากับอาจารย์แก้ว ณ วัดบางลำพู จังหวัดกรุงเทพฯ และยังได้ศึกษาพระปริยัติธรรมกับเสมียนตราด้วง ขุนพรมเสนา ปลัดเสนา ปลัดกรมนุท เสมียนบุญ และพระกระแสร์ จนกระทั่งได้เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอดิศร สุนทร พระบรมโอรสาธิราชให้ทรงโปรดมาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ ท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี จึงบวชเป็นพระภิกษุ และสมเด็จเจ้าฟ้าพระบรมราชโอรส ทรงรับภาระบรรพชาให้เป็น นาคหลวง และให้ไปบวชตามภูมิลำเนาที่มีโยมแม่ และบรรดาญาติพี่น้องอาศัยอยู่ ณ วัดตะไกร จังหวัดพิษณุโลก
ท่านได้เที่ยวสัญจรไปมาตามสถานที่ต่างๆ ตามนิสัยที่ชอบการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ มุ่งศึกษาหาพระอาจารย์ต่างๆ ที่คงแก่ด้านวิปัสสนากรรมฐานสมถะ โดยการเดินธุดงค์เข้าไปตามป่าตามเขา
จวบจนสำเร็จวิปัสสนาญาณกรรมฐานขั้นสูง ท่านได้มีสมเด็จพระสังฆราชสุกไก่เถื่อนเป็นพระอาจารย์ ที่คอยพร่ำบอก พร่ำสอนวิชาความรู้ต่างๆ ให้แก่สมเด็จโต จนสมเด็จโตเก่งแตกฉานในทุกๆ ด้าน ในตอนนั้น สมเด็จพระสังฆราชสุกไก่เถื่อน มีการสร้างพระสมเด็จวัดพลับขึ้นมาและได้ปลุกเสกเอง จึงทำให้สมเด็จโตได้ความรู้ในการสร้างพระของขลัง หลังจากนั้นไม่นาน ท่านสมเด็จโตก็ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาส ณ วัดระฆัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ได้โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง กระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ พระองค์ได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ตอนอายุ ๖๔ ปี และเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิติ โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่เพราะตอนนั้นในหลวงเป็นถึงเจ้าฟ้า จึงทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำใจที่จะยอมรับยศสมเด็จ ทำให้ท่านต้องรับพระราชทานสมณศักดิ์ไปอีก ๒ ปี แต่ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินสมเด็จโตท่านสามารถหนีพ้นจึงไม่รับยศ โดยการเดินธุดงค์ออกไปหลายเดือนเพื่อหนียศ
ต่อมา ท่านได้เลื่อนยศเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี และอีก 10 ปี ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ
พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นพิมพ์พระพุทธประทับนั่งขัดสมาธิ มีฐานสามชั้น ไม่ปรากฏรายละเอียดของพระพักตร์ ถือได้ว่าพระพิมพ์สมเด็จฯ มีพุทธศิลปแบบสมัยใหม่ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอีกทั้งทำด้วยผงวิเศษ มวลสารของพระสมเด็จฯ ส่วนใหญ่ เป็นปูนขาวผสมผงพระพุทธคุณ คือ ผงมหาราช อิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห ฯลฯ โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ทำผงกรรมวิธีแบบโบราณ นอกจากนี้ยังมีอิทธิวัตถุอื่น เช่น ใบลานเผา ว่าน อิฐหัก ดอกไม้บูชาพระ เศษไม้ ฯลฯ ทั้งหมดนำมาโขลกผสมประสานด้วยน้ำมันตังอิ้ว ทำให้เนื้อพระไม่เปราะหรือแตกหักง่าย เนื้อพระมีความหนึกนุ่ม ด้านพุทธคุณของพระสมเด็จวัดระฆังนั้น จะเด่นทางด้านโภคทรัพย์และเมตตามหานิยม วันนี้ผมจะมาสอนดูลักษณะและตำหนิของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่
...
ชี้ตำหนิ การดูลักษณะพระ
ชี้ตำหนิ การดูลักษณะพระ จำพิมพ์ให้แม่น โบราณเรียก สมเด็จสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก พิมพ์ทรงพระต้องถูก พระพักตร์คล้ายผลมะตูม พระเกศเอียงไปทางซ้ายขององค์พระ วงแขนซ้ายของพระกิ่วเล็กกว่าด้านขวา ตัดชิดซุ้มฝั่งซ้ายของพระแต่องค์นี้ตัดเหลือปีกข้างเล็กน้อย เส้นพิมพ์คมชัดไม่โย้
ด้านหลังย่นแบบเบสิค ธรรมชาติพระสมเด็จ วัดระฆัง เนื้อจะมีรอยย่น รอยโพรง รอยยุบ จะมีรอยหดตัวทำให้เกิดการปริ เนื้อเป็นก้อนๆ เนื้อมวลสารตุ๊บตั๊บ เม็ดมวลสารมีสีแดงมาจากเนื้อดินของซุ้มกอ มีเม็ดดำ ขาว เหลืองออกน้ำตาลสลับกัน
...
ด้านข้างจะเห็นเนื้อมวลสารตุ๊บตั๊บ ธรรมชาติพระสมเด็จ วัดระฆังเนื้อจะมีรอยแยก รอยโพรง รอยยุบ เนื้อจัดมีรูๆ เกิดจากการหดตัวของเนื้อมวลสาร เนื้อพระมีลักษณะเป็นสีขาว น้ำตาลครีมๆ มีเม็ดมวลสารสีแดงจากพระซุ้มกอ พระจะมีลักษณะแอ่นหรือตรงก็ได้ ข้างเรียบตัดด้วยของมีคม ตัดขอบตรงไม่เบี้ยว
...
ผู้เขียน : หยิบกล้องส่องพระ by โทน บางแค
Line : @tone8888
เพจ : โทน บางแค FC.