การจัดเตรียมของถวายสังฆทานเพื่อ "ถวายสังฆทาน" ถือเป็นการทำบุญกุศลอีกรูปแบบหนึ่งที่เชื่อว่าให้อานิสงส์มาก เนื่องจากเป็นการถวายแก่คณะสงฆ์ส่วนรวมที่ไม่จำกัดเฉพาะรูปใดรูปหนึ่ง หลายคนอาจเลือกถวายสังฆทานในวันเกิด เพื่อเป็นการเสริมมงคลในชีวิต หรืออาจจะถวายสังฆทานให้กับผู้ล่วงลับก็ได้เช่นกัน

การถวายสังฆทานคืออะไร ของที่ถวายแต่ละอย่างมีความหมายหรือไม่ และของถวายสังฆทานควรมีอะไรบ้าง ไทยรัฐออนไลน์ได้รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว

รู้จักการทำบุญ "ถวายสังฆทาน" คืออะไร?

การถวายสังฆทาน คือ การถวายเครื่องอุปโภคและบริโภคที่มีประโยชน์แก่คณะสงฆ์ หรือหมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกเจาะจงที่รูปใดรูปหนึ่ง ส่วนความหมายของถวายสังฆทาน ประกอบด้วยคำ 2 คำ ได้แก่

  • สังฆะ หมายถึง พระภิกษุตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป
  • ทาน หมายถึง การให้ หรือการแบ่งปัน

ทั้งนี้ ของถวายสังฆทานมีหลายรูปแบบ ปัจจุบันมีทั้งที่จำหน่ายเป็นสังฆทานสำเร็จรูป หรือจะซื้อสิ่งของต่างๆ มาจัดชุดสังฆทานเองก็ได้ หลักๆ แล้วจะเน้นของที่ใช้ประโยชน์สำหรับพระภิกษุ หากเป็นอาหารคาวหวานก็จะถวายก่อนเพล หากเป็นของแห้งและของใช้อื่นๆ สามารถถวายเวลาใดก็ได้ บางคนก็อาจเน้นถสายเป็นอุปกรณ์อื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อวัดแทนก็ได้เช่นกัน

...

ของถวายสังฆทาน ควรมีอะไรบ้าง พร้อมความหมายที่แฝงไว้

ของถวายสังฆทานพระสามารถหาซื้อสิ่งของต่างๆ เพื่อมาจัดเป็นชุดสังฆทานเองได้ โดยเลือกสิ่งของที่จำเป็นต่อพระภิกษุสงฆ์ เมื่อถวายแล้วท่านจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ส่วนจำนวนของถวายสังฆทานไม่ได้กำหนดว่าต้องมีจำนวนกี่ชิ้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกของแต่ละคน ขณะเดียวกันบางคนก็อาจนิยมจัดเป็นเลขมงคลของถวายสังฆทาน 9 อย่าง ยกตัวอย่างเช่น  

1. ยารักษาโรค
ความหมาย : มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

2. ผ้าไตรจีวร
ความหมาย : ผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ไปได้

3. น้ำหรือเครื่องดื่ม
ความหมาย : ชีวิตราบรื่นและไร้อุปสรรค

4. ร่ม
ความหมาย : ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข

5. หนังสือธรรมะ
ความหมาย : มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

6. อาหารแห้ง
ความหมาย : มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยากแร้นแค้น

7. ของใช้ส่วนตัว
ความหมาย : มีทรัพย์และเงินทองใช้ไม่ขาดมือ

8. มีดโกน 
ความหมาย : ขจัดอุปสรรค และทำให้เคราะห์ร้ายทุเลาลง

9. หลอดไฟ
ความหมาย : ชีวิตก้าวหน้าและมีความเจริญรุ่งเรือง

หมายเหตุ : ของถวายสังฆทาน สามารถเลือกจัดถวายเองได้ ไม่มีการกำหนดตายตัวว่าควรใช้สิ่งของใดบ้าง ระบุเพียงว่าควรเป็นสิ่งของที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุสงฆ์

คำถวายสังฆทาน และคำแปลบทถวายสังฆทาน

บูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวังตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมะสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ (กราบ)

คำกล่าวอาราธนาศีล

มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ

...

คำถวายสังฆทาน

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆอิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปลบทถวายสังฆทาน
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ สาธุ

การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง ทำอย่างไรให้ได้บุญ

การถวายสังฆทาน ควรให้ความสำคัญตั้งแต่การเตรียมของถวายสังฆทาน หากซื้อของอุปโภคก็ควรเช็กวันหมดอายุให้ดีก่อน หรือหากซื้อของใช้ก็ควรเลือกของที่สะอาด สภาพสมบูรณ์เรียบร้อย หรือหากเลือกซื้อชุดสังฆทานสำเร็จรูปจากร้านค้า ก็ควรเลือกซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ สิ่งของภายในชุดสังฆทานสามารถนำไปใช้งานได้จริง 

...

ส่วนการถวายสังฆทานให้ได้บุญ ผู้ถวายจะต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ มีเจตนาบริสุทธิ์ และถวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยไม่เลือกเฉพาะเจาะจงว่าจะถวายพระสงฆ์องค์ใด และหากพระสงฆ์ที่รับสังฆทานนั้นเป็นผู้ปฏิบัติชอบด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเสริมสร้างบุญกุศลให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของการถวายสังฆทานนั้น นอกจากบำรุงพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายทางธรรมให้เรารู้จักการทำทาน ไม่ยึดติดกับสิ่งของภายนอกนั่นเอง