คฤหัสถ์ 4 ประการ หมายถึง ความสุขของฆราวาส ตามคำสอนแห่งพระพุทธองค์
หมอลักษณ์ ราชสีห์ โหรฟันธง เผยคำสอน หลังพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง ความสุขอันชอบธรรม ของฆราวาส หนึ่งใน พุทธบริษัท ทั้ง 4 อันได้แก่ ผู้ครองเรือน ประชาชน ชาวบ้าน ในวิถีโลกที่ควรยึดถือและปฏิบัติมี 4 ประการ คือ
- อัตถิสุข คือ สุขเกิดจากการมีทรัพย์ ซึ่งทำให้เกิดความภูมิใจ ที่ตนมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยสัมมาอาชีวะ ในกฎหมาย และศีลฆราวาส ด้วยสติปัญญา แรงกาย ของตน โดยชอบธรรม
- โภคสุข คือ สุขเกิดจากการได้ทรัพย์โดยชอบธรรม ตามข้อแรก การใช้จ่ายทรัพย์บริหารจัดการทรัพย์ ในสิทธิตน ซึ่งตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้นบำรุงตน บิดามารดา สร้างบุญกุศล ตามหลักบุญกิริยา และใช้ทรัพย์ บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ
- อนณสุข คือ สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ความเป็นหนี้ ย่อมเป็นทุกข์ เว้นแต่หนี้ในการบริหารจัดการ ด้วยความรับผิดชอบ ตามกำลัง วัย ตน ที่ต้องก่อร่างสร้างหลักฐาน และการลงทุน แต่ถึงอย่างไรการเป็นหนี้ ย่อมมีความทุกข์ ในดวงจิตจะมีความสุขทางโลกคือ การไม่เป็นหนี้ติดค้างใคร หรือสถาบันการเงิน
- อนวัชชสุข คือ สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ งานอาชีพ ไม่มีโทษ คือ มีวิถีชีวิต ที่มีศีล 5 ศีล 8 กำกับ และไม่ผิดกฎหมาย คือตนนั้นความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหายให้เกิดความผิด มีบทลงโทษ หรือนักปราชญ์ ทั้งหลายจะติเตียนไม่ได้ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกาย วาจา และใจ
นี่คือ “ความสุข” ของ ฆราวาส คฤหัสถ์ 4 ประการตามที่พระพุทธเจ้าทรงให้ไว้เป็นแนวทาง สำหรับผู้ยังมีวิถีทางโลก โลกียวิสัย
ข้อธรรมนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศฯ ได้แสดงธรรมให้พระนวกะ ปี 2543
...
บทส่งท้าย
คฤหัสถ์ แปลว่า ผู้ครองเรือน ผู้มีบ้าน ผู้ออกเรือน
คฤหัสถ์ หมายถึง ชาวบ้านทั่วไปที่มีเหย้าเรือน ยังต้องประกอบอาชีพทำมาหากินตามปกติ ยังมีบ่วงห่วงใยคือเหย้าเรือน ทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา สามี
ฆราวาส แปลว่า การอยู่ครองเรือน การเป็นอยู่แบบชาวบ้าน
ฆราวาส ในความหมายทั่วไป หมายถึง ผู้ครองเรือนหรือชาวบ้าน ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับคำว่าคฤหัสถ์ เช่นคำว่า ฆราวาสธรรม หมายถึง ธรรมของผู้อยู่ครองเรือน