เปิดความหมาย คเณศชยันตี 2566 หรือวันเกิดองค์พระคเณศคืออะไร และในปีนี้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2566 เราพาไปหาคำตอบกับ 10 ข้อควรรู้การไหว้เทพเจ้าแห่งความสำเร็จกัน....

1. คเณศชยันตี หรือ เชื่อกันว่าเป็นวันเกิดพระคเณศ หรือเรียกกันแบบสากลว่า Magha shukla chaturthi, ติลกุนท์จตุรถี, วรัทจตุรถี เป็นเทศกาลหนึ่งในศาสนาฮินดู ซึ่งเฉลิมฉลองวันประสูติของพระพิฆเนศ นิยมฉลองกันมากเป็นพิเศษในรัฐมหาราษฏระ

2. อย่างไรก็ดี วันคเณศชยันตี และ คเณศจตุรถี ซึ่งได้รับความนิยมเฉลิมฉลองทั่วไปนั้นจะแตกต่างกัน แต่ก็มีบางความเชื่อที่ยกย่องให้วันคเณศจตุรถีเป็นการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระคเณศด้วย ในรัฐอุตตรประเทศเรียกว่าเทศกาล “ติโลเชาฐ์” หรือ “สากัตเชาฐ์” และในมหาราษฏระก็มีบ้างที่เรียกว่า “ติลกุนท์จตุรถี”

3. เชื่อกันว่าจุดเริ่มต้นเทศกาลคเณศจตุรถี เริ่มต้นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ก่อนจะขยายความนิยมไปทั่วประเทศ โดยการจัดงานมีด้วยกัน 10 วัน แต่ละวันมีพิธีกรรมที่แตกต่าง

4. ซึ่งวันที่สำคัญถือว่าเป็นไฮไลต์ก็คือวันแรก จะมีพิธีกรรมทางพราหมณ์ ส่วนวันต่อมามีการอ่านบทสวด และแจกอาหาร ขนม ให้กับผู้ยากไร้ พอถึงวันสุดท้ายของเทศกาล มีการนำองค์พระพิฆเนศไปลอยแม่น้ำ

5. เทศกาลนี้ก็มีข้อห้ามสำคัญเหมือนกัน ก็คือ ตลอดเทศกาลคเณศจตุรถี คือ ห้ามฆ่าสัตว์

6. กล่าวให้ถึงที่สุด เทศกาลคเณศจตุรถีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจัดในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีการนำเทวรูปแช่ละลายลงน้ำมากถึง 150,000 องค์ในมุมไบทุกๆ ปี เพราะเชื่อกันว่าเทวรูปดินและพระพิฆเนศที่ได้ละลายไปในสายน้ำนั้นจะกลับไปยังเขาไกรลาส เคียงคู่กับพระศิวะ และ พระปารวตี เทศกาลนี้ถือเป็นการเฉลิมฉลองพระพิฆเนศ ซึ่งชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่ และการขจัดอุปสรรค รวมทั้งเป็นเทพเจ้าแห่งปัญญาและความฉลาดเฉลียว

...

7. คนไทยที่บูชาพระพิฆเนศ และสนใจพิธีในเทศกาลคเณศจตุรถี สามารถเดินทางไปที่เทวสถานที่มีการประกอบพิธี หรือสวดมนต์เพื่อเจริญสติอยู่ที่บ้านของตนเองก็ได้เช่นกัน อย่าง อ.เชียง ปัณณวิชญ์ หมอดูที่นับถือพระพิฆเนศก็มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเชิญชวนถวายบูชาองค์พ่อพระพิฆเนศรับพลังแห่งปัญญา ความสำเร็จ และความร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ หรืออย่างสามารถเดินทางไปที่วัดแขก สีลม หรือ วัดเทพมณเฑียรแถวเสาชิงช้าก็สามารถไปกราบขอพรพระพิฆเนศได้เช่นกัน 

8. วันคเณศชยันตี ปีนี้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2566 ขึ้น 4 ค่ำเดือนมาฆะ ตามปฏิทินฮินดู หรือ “ศุทธ มาฆจตุรถี” สมัยก่อนผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในองค์พระคเณศ จะนำเอาดินผสมเครื่องหอมปั้นเป็นองค์พระคเณศขึ้นมาเพื่อทำบูชา และจะถวายขนมลาดูที่ทำจากงาดำ ให้กับพระองค์ และจะสวดมนต์ทำบูชาพระองค์อยู่ทั้งหมด 4 วันจนครบ จึงนำเอาเทวรูปที่ปั้นขึ้นมานั้นไปลอยน้ำส่งเสด็จ ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีบูชาพระคเณศใน ช่วงคเณศชยันตี

9. ส่วนคนที่ไม่อยากเดินทางอยากจะบูชาด้วยตัวเอง วิธีง่ายๆ จุดประทีป และธูปบูชาหน้าพระพิฆเนศ สวด “โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮะ” 108 จบ 5. ตามด้วยบทคเณศคายตรี “โอม กัง คณปัตเย นะโม นะมะฮะ ศรี สิทธิวินายักกา นะโม นะมะฮะ อัสถะวินายักกา นะโม นะมะฮะ คณปติ บับปา โมรยา”

10. ถวายดอกไม้ ผลไม้ ข้าวสาร ฝ้ายสีแดง-เหลือง น้ำปัญจอมฤต (น้ำนม นมเปรี้ยว น้ำอ้อย เป็นต้น) ที่ขาดไม่ได้เลยคือขนมลาดูงา ถ้าสะดวกให้ไปบริจาคสิ่งของ หรือปัจจัยแก่คนจน ตามกำลังความสามารถ หรือทำทาน สุดท้ายให้นำของไหว้ ไปแจก (และเก็บไว้กินเองส่วนหนึ่ง) กับคนที่เรารัก เพื่อที่จะสำเร็จสมปรารถนาทุกประการ.