ชาวไทยเชื้อสายจีนเมื่อใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีนต่างคาดเดาอาหารที่จะได้รับประทานในวันรวมญาติหรือวันไหว้เจ้าได้แน่นอน หนีไม่พ้นไก่ต้ม อีกสองวันคือไก่คั่วเกลือ บ้านไหนครีเอตหน่อยก็ไปทำไก่ผัดเม็ดมะม่วง เราเคยรับประทานแต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องมีไก่ต้มเป็นพระเอกในทุกงานตรุษจีน เปลี่ยนเป็นเป็ดต้มหรือหมูหันบ้างได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบ

ตามความเชื่อของจีนเชื่อว่าการไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนเป็นการขอพรปีใหม่ให้เจ้าที่ช่วยดูแลครอบครัวให้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น ทำการค้าทำงานก็สำเร็จรุ่งโรจน์ ปรารถนาสิ่งใดก็สมหวังตลอดปี ดังนั้นการจัดวางเครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่จึงจัดใหญ่จัดเต็ม เลือกแต่ของดีชื่อและความหมายเป็นมงคล โดยมีพระเอกของโต๊ะขาดไม่ได้ หาอะไรแทนก็ไม่ได้ นั่นคือไก่ต้ม

ความหมายของไก่ต้ม

ไก่ แสดงถึงความขยันขันแข็ง เพราะไก่เป็นสัตว์ที่ตื่นเช้า ยิ่งขยันก็บ่งบอกว่าหน้าที่การงานก็เจริญรุ่งเรือง ทำการค้าขายได้ประสบความสำเร็จ

ไก่ต้มมาหมดทั้งตัวและเครื่องใน

หน้าตาของไก่ต้มในจานแปลก็ไม่ค่อยน่ามองสักเท่าไร แต่ไม่สามารถตัดทิ้งไปได้ ตามความเชื่อต้องนำไก่มาไหว้เจ้าครบทั้งตัวพร้อมเครื่องใน ห้ามตัดหัวหรือขาอย่างเด็ดขาด เพราะบนหัวของไก่มีหงอน ที่เปรียบเสมือนหมวกของขุนนางในสมัยก่อน ส่วนเครื่องในแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

...

บางบ้านไหว้ทั้งเป็ดและไก่

เพราะเป็ดมีความหมายถึงความบริสุทธิ์ และแสดงความมั่งคั่ง อีกทั้งธรรมชาติของเป็ดคือเก่งทั้งเดินบนบก ว่ายน้ำ ได้ บินก็ได้อีก เลยแสดงถึงความสามารถรอบด้านที่ใครก็อยากเป็น ดังนั้นการไหว้เจ้าที่ด้วยเป็ดก็สิริมงคลเช่นกัน และแน่นอนว่าต้องไหว้ทั้งตัวและเครื่องในเช่นเดียวกับไก่

สัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ต้องมีเช่นกัน

ส่วนมากการจัดโต๊ะไหว้เจ้าควรมีเนื้อสัตว์ 3 อย่างหรือ 5 อย่าง โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ไก่ เป็ด หมู โดยเป็นหมูติดมันเป็นเส้นใหญ่ สื่อถึงความสมบูรณ์พูนสุข และถ้าพอมีกำลังทรัพย์จะเพิ่มอีก 2 อย่างคือ ปลาหมึกแห้งตัวใหญ่ มีความหมายว่า ชีวิตเหลือกินเหลือใช้ มีใช้ไม่หมด และปลานิ่งหรือปลาต้ม เป็นสัญลักษณ์ของชื่อเสียงเกรียงไกรนำมาซึ่งทรัพย์สมบัติมากมาย โดยทั้งหมดต้องมาเป็นตัวไม่ตัดหัวไม่ควักไส้ แม้แต่ปลาก็ไม่ขอดเกล็ดออก