ทำไมต้องจุดประทัดในวันตรุษจีน เป็นข้อสงสัยยอดฮิตของชนรุ่นหลังที่พบการจุดประทัดในช่วงวันตรุษจีนและวันเทศกาล และกลายเป็นวัฒนธรรมจุดประทัดแก้บนในบางพื้นที่อีกด้วย ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมารู้จักตำนานความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการจุดประทัดของคนจีนโบราณ ว่ามีประวัติและความเป็นมาอย่างไร

ความเชื่อเกี่ยวกับการจุดประทัดของคนจีน

ตำนานเกี่ยวกับ “ซานเซียว” ในช่วงตรุษจีน

ความเชื่อเกี่ยวกับตัวประหลาดซานเซียว ที่รูปร่างหน้าตาเหมือนคนแคระแต่วิ่งเร็ว มักมาขโมยของชาวบ้านกินในช่วงก่อนปีใหม่ ชาวบ้านที่วิ่งขับไล่ก็มักจับตัวไม่ทัน หรือหากจับได้ก็จะต้องป่วยไข้เป็นโรค จนไม่มีใครกล้าสู้กับซานเซียว วันหนึ่งมีชาวบ้านใช้ปล้องไม้ไผ่เป็นฟืนหุงข้าวอยู่ ตัวซานเซียวกลุ่มหนึ่งตรงเข้ามาจะขโมยข้าว แต่ช่วงที่ปล้องไม้ไผ่โดนไฟปะทุ ตัวซานเซียวก็ตกใจหนีเตลิดไปไม่กล้าเข้ามาใกล้อีก ชาวจีนที่มีความเชื่อนี้จึงนิยมจัดหาปล้องไม้ไผ่มาไว้ก่อกองไฟในช่วงตรุษจีน เพื่อป้องกันตัวซานเซียวเข้ามา

...

ตำนานเกี่ยวกับ “ตัวเหนียน” ในช่วงตรุษจีน

คนจีนสมัยก่อนมีความเชื่อเรื่อง “ตัวเหนียน” เป็นสัตว์ประหลาดหน้าตาคล้ายหมี สิงโต เสือ หรืองูพิษผสมกัน เชื่อกันว่าสัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก จะออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดังน้ันชาวบ้านจึงหวาดกลัวและซ่อนตัวในช่วงตรุษจีนเพื่อไม่ให้ตัวเหนียนทำร้าย

ตรุษจีนปีหนึ่งมีชายแก่ไร้บ้าน ได้อาสาช่วยชาวบ้านไล่ตัวเหนียน ด้วยวิธีการนำกระดาษสีแดงมาติดไว้ที่บานประตู และจุดเทียนให้สว่างไสว รวมถึงจุดประทัดไล่ตัวเหนียน เมื่อมีเสียงดัง “ปัง ปัง ปัง” ตัวเหนียนก็หนีไป ดังนั้นการจุดประทัดก็กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนช่วงเทศกาลตรุษจีนตลอดมา

การจุดประทัดช่วงตรุษจีน ในประเทศไทย

การติดต่อค้าขายระหว่างชาวไทยและชาวจีนนั้นมีมานานตั้งแต่อดีต แต่ตามที่มีเอกสารบันทึกอย่างเป็นทางการก็อยู่ในช่วงยุคสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวจีนเข้ามาทำการเกษตรค้าขาย โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี ที่มีเอกสารขออนุญาตจุดประทัดในเทศกาลตรุษจีน ค้นพบในช่วงปี พ.ศ. 2470 - 2473 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 7

“... ถ้าบุคคลผู้ใดในเขตร์ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับถือลัทธิธรรมเนียมจีน มีความประสงค์จะจุดประทัดไหว้จ้าวในกำหนด ๔ วันที่ดังกล่าวแล้ว ข้างต้นถืออนุญาตให้จุดได้ แต่การจุดประทัดผู้จุดต้องหาของครอบ อย่าให้เปลวไฟกระเด็นไปในที่ต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะพึงเกิดมีขึ้นในการต่อไป..”

ความสำคัญของการจุดประทัด

นับแต่อดีตหลังจากคิดค้นประทัดขึ้นมา ประโยชน์ของประทัดคือใช้เป็นอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มคนใกล้เคียง หรือใช้เป็นสัญญาณ รวมถึงใช้จุดเพื่อไล่นกที่มาทำลายพืชผล และใช้จุดในงานเทศกาลตรุษจีนเพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดโชคลาภและขับไล่สิ่งชั่วร้าย

จุดประทัด ผิดกฎหมายหรือไม่

...

การจุดประทัดเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาของกลุ่มคนชาวไทยเชื้อสายจีน ที่อาจก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ชาวบ้าน ดังนั้นจึงมีกฎหมายควบคุมทั้งการครอบครอง จำหน่าย และการจุดประทัด

การจุดประทัดในช่วงเทศกาล อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมของหน่วยงานเทศบาล หรือหน่วยงานปกครองที่เกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. ร้านค้าที่มีการจัดเก็บดอกไม้เพลิง ประทัด หรือวัตถุเคมีที่มีส่วนผสมของระเบิด จะต้องได้รับอนุญาต
2. งดจำหน่ายประทัดลม หรือดอกไม้เพลิงที่อาจเป็นอันตรายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
3. ร้านค้าที่มีใบอนุญาตจำหน่ายประทัด หรือดอกไม้เพลิง จะต้องจำหน่ายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
4. ผู้ที่จุดประทัดเล่นให้เสียงดังโดยไม่มีเหตุสมควร ทำให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370
5. ในช่วงเทศกาล หรือช่วงเวลาที่มีเหตุจำเป็น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดพื้นที่การเล่นดอกไม้เพลิงและการจุดประทัดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550


ที่มา : www.finearts.go.th