ภาพแหวนที่ท่านได้เห็นด้านบนนี้ เป็นแหวนทองคำสลักยันต์เกราะเพชร วัดท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2556 ในพิธีไหว้ครู และเป่ายันต์เกราะเพชรเสาร์ห้าในวันที่ 7 ธันวาคมในปีนั้น ยันต์เกราะเพชรมีที่มาจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา
แหวนยันต์เกราะเพชรข้างต้นนี้ ถือว่าเป็นการออกแบบเครื่องประดับที่รวมความเชื่อของผู้เลื่อมใสไว้ โดยใช้รูปยันต์เกราะเพชรหลวงพ่อปาน ขนาด 11x11 มิลลิเมตร ประดับบนแหวนหน้าทองคำ เนื้อทองคำ ราคาไปไกลกว่าน้ำหนักทองที่แท้จริงไปแล้ว
ประวัติ “ยันต์เกราะเพชร” หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
ยันต์เกราะเพชรมีประวัติที่มาจากหลวงพ่อปาน เกิดวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2418 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงพ่อปานอุปสมบท ในปี พ.ศ.2439 ที่วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา และได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติ ณ วัดสระเกศ ศึกษาการปลุกเสกและเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง สวรรคโลก
เชื่อกันว่าอิทธิฤทธิ์ของยันต์เกราะเพชรของหลวงพ่อปานนี้ ท่านไม่ได้รับรองว่าจะคงกระพันชาตรี แต่หากใครรับไปแล้ว จะไม่ตายโหง ไม่ถูกคุณผี คุณคน จะป้องกันอันตรายจากบุคคลที่จะเข้ามาทำลายด้วยวิชาการต่างๆ และจะไม่ตายด้วยพิษของสัตว์
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้ให้เล่าที่มาของยันต์เกราะเพชรไว้ว่า
...
“ยันต์เกราะเพชรนี้ หลวงพ่อปานศึกษาจากตำราพระร่วง โดยตัดมาจากส่วนหนึ่งของธงมหาพิชัยสงคราม เป็นการนำเอาพุทธคุณบทต้นมาเขียนเป็น ตัวขอม อ่านตามขวางว่า
อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา
ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง
ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท
โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ
ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ
คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ
วา โธ โน อะ มะ มะ วา
อะ วิ สุ นุต สา นุส ติ
สำหรับ ยันต์เกราะเพชร คือ เป็นคาถา อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจรณสัมปันโน สุคโต โลกวิทู อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ สัตถา เทวมนุสสานัง พุทโธ ภควาติ เรียกกันว่า ห้องพระพุทธคุณ แต่เขียนลงมาอย่างหนังสือเจ๊ก เขียนลง ไม่เขียนตามบรรทัด เขียนลงมา ๗ คำ แล้วก็ไปขึ้นต้นใหม่เรียงกันไป ก็ว่า อิระชาคะตะระสา ติหังจะโตโรถินัง นี่เรียกว่า อิติปิโส ๘ ทิศ อย่างนี้แหละ แล้วก็ชักเป็นยันต์ เรียกสูตรตามเส้นที่เขาชักไป สำหรับยันต์เกราะเพชรนี่หลวงพ่อปานปลุกได้ดีมาก เพราะว่าเวลาท่านจะเป่าให้ใครนั้น ท่านเขียนยันต์ใส่กระดานดำไว้”
อำนาจ ยันต์เกราะเพชร และที่มาด้านพุทธคุณ
ผู้ที่มีความเชื่อเรื่องอำนาจพุทธคุณของยันต์เกราะเพชรนั้นได้สร้างวัตถุบูชา ในรูปแบบของยันต์ กำไลข้อมือ แหวน ภาพถ่ายติดผนัง เพื่อตั้งวางในจุดที่เหมาะสม เชื่อว่าอำนาจพุทธคุณของยันต์เกราะเพชรนั้นจะคุ้มครองเรื่องเหตุแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่ให้ตายโหง ดังที่วัดท่าขนุนได้สรุปไว้ ดังนี้
ผู้ที่รับยันต์ไปแล้ว ถ้ารักษาไว้ได้จะมีอานุภาพดังนี้
1. จะไม่ตายโหงอย่างเด็ดขาด
2. จะไม่ตายด้วยพิษสัตว์ทุกชนิด
3. ปลอดภัยจากไสยศาสตร์ทุกชนิด
4. ไสยศาสตร์ทุกประเภท จะสะท้อนกลับไปเอง
การรับยันต์เกราะเพชรในอดีต จะกระทำในวันเสาร์ห้า หมายถึง วันเสาร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือนใดก็ได้ ผู้รับยันต์ต้องจัดเครื่องบูชาธูปเทียน 1 ชุด พระเกจิผู้เป่ายันต์ไม่ได้เป่าให้ผู้รับยันต์ทีละคน กระทำได้ทีละหลายหมื่นหลายแสนคน ผู้ที่ไม่ได้มาเข้าพิธีก็ตั้งมั่นสมาทานศีลกรรมฐานรับยันต์ กล่าวเล่าต่อกันว่า ผู้เข้ารับยันต์ เมื่อยันต์จับตัว ผู้รับจะมีอาการต่างๆ เช่น ร้อนใบหู ร้อนหน้า ขนลุกขนชัน คันยุบยิบ หรือจับไข้ และจะหายไปได้เอง
เมื่อรับยันต์เกราะเพชรเข้ามาอยู่กับตัวแล้ว ผู้รับยันต์จะต้องสมาทานศีลบริสุทธิ์ 5 ข้อ หรืออย่างน้อยต้องรักษาศีล 2 ข้อ คือ ห้ามกินเหล้า และห้ามลักขโมย และต้องสวดมนต์ไหว้พระ อาราธนาบารมีของท่านมาเป็นเกราะเพชรคลุมกาย
ยันต์เกราะเพชรที่รู้จักกันในประเทศไทย มีหลากหลายที่มา ได้แก่
- ยันต์เกราะเพชร วัดบางโค
- ยันต์เกราะเพชร วัดท่าซุง
- ยันต์เกราะเพชร หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
- ยันต์เกราะเพชร วัดท่าขนุน
- ยันต์เกราะเพชร วัดบางพระ
- ยันต์เกราะเพชร วัดทุ่งเศรษฐี
ข้อห้ามของผู้รับยันต์เกราะเพชร
ใครที่รับยันต์เกราะเพชรไปแล้วถูกกลั่นแกล้ง ให้ทำเฉย ผลกรรมของบุคคลนั้นจะกลับสู่ตัวผู้กระทำเอง เมื่อเขาแกล้งเราด้วยวิธีใด ก็จะได้รับความลำบากในวิธีนั้น แต่ย้ำว่าผู้รับยันต์เกราะเพชร มีข้อห้ามว่า
- ห้ามดื่มสุราเมรัยเด็ดขาด เว้นแต่ว่าเป็นกระสายยา
- ห้ามทุจริตด้วยการลักขโมย หรือฉ้อโกงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
...
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวความเชื่อของผู้ที่บูชาเรื่องยันต์ อันเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ว่ากันว่าในข้อห้ามนี้ ถ้าหากใครประพฤติไม่ได้ ยันต์เกราะเพชรก็จะไม่คุ้มครอง ต้องรักษาศีล อยู่ในธรรม.
ที่มาภาพ : www.watthakhanun.com