พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าทางจิตใจของพุทธศาสนิกชน ชาวพุทธที่ขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้าน มักจะมีพิธีเชิญพระพุทธรูปเข้าบ้านตามความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ในบางครั้งก็ไม่สามารถวางโต๊ะหมู่บูชาขนาดใหญ่ เพราะมีเนื้อที่จำกัดในที่อยู่อาศัย “หิ้งพระ” จึงเป็นทางออกของผู้ที่ต้องการจัดพื้นที่ใช้สอยให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

การตั้งหิ้งพระนั้น นิยมใช้ฐานรองพระพุทธรูปหรือเครื่องสักการะ เพื่อให้พระประธานมีระดับสูงกว่าเครื่องสักการะ ได้แก่ กระถางธูป และแจกันดอกไม้ อย่างไรก็ดี น้ำหนักของหิ้งพระนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนติดตั้ง

การจัดหิ้งพระสำหรับวางเครื่องสักการะ

บนหิ้งพระก็วางโต๊ะหมู่บูชาได้ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะหมู่ 5, โต๊ะหมู่ 7 และโต๊ะหมู่ 9 มักทำด้วยไม้ประกอบกันเป็นโต๊ะเล็ก พร้อมเครื่องบูชาหลัก ได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน โดยมีวิธีการพิจารณาก่อนติดตั้งหิ้งพระ ดังนี้

การจัดวางพระประธาน หรือเทพบนหิ้งพระ

หากต้องการจัดหิ้งพระภายในที่อยู่อาศัย หรือร้านค้า ควรพิจารณาว่าจะอัญเชิญพระพุทธรูปแบบใดมาประดิษฐาน หากเป็นพระพุทธรูป ก็ควรเลือกองค์ที่มีหน้าตักเล็กๆ หรือหากเป็นปางห้ามญาติ ห้ามสมุทร ควรเลือกองค์ที่ขนาดพอดี ไม่สูงมากนัก เพราะหากเกิดแรงสั่นสะเทือนจะทำให้พระหล่นจากที่สูงลงมาเสียหาย ไม่เป็นมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย 

...

หากจำเป็นต้องวางเทพองค์อื่นไว้ ก็ควรจัดวางพระพุทธรูปให้อยู่สูงกว่าตามความเหมาะสม หรือเลือกใช้เป็นภาพติดฝาผนังเพื่อลดพื้นที่การจัดวาง แต่ไม่ควรวางเทพต่างศาสนา เพราะเทพแต่ละองค์ก็มีเครื่องสักการะไม่เหมือนกัน หากวางของไว้บนหิ้งพระเยอะจะทำให้ดูรกเกินไป

ความสูงสำหรับติดตั้งหิ้งพระ

บ้าน หรือ คอนโดฯ ที่ต้องการติดตั้งหิ้งพระ ควรพิจารณาความสูงจากความสะดวกของผู้ที่จะถวายเครื่องสักการะเป็นประจำ หากเป็นผู้สูงอายุ ควรติดตั้งให้สูงในระดับที่เอื้อมถึง ไม่ควรต้องใช้เก้าอี้ปีนขึ้นไปวางดอกไม้ ธูป เทียน และควรอยู่ในระดับเหนือศีรษะที่เหมาะสม

บริเวณที่เหมาะสมติดตั้งหิ้งพระ

ไม่นิยมติดตั้งหิ้งพระไว้ที่ใต้คาน ประตู หน้าต่าง หรือใกล้กับทางเดินเข้าออก เพราะถือเป็นทางจร คนที่เดินผ่านไปมาอาจทำกิริยาไม่เหมาะสมต่อหน้าพระพุทธรูป จึงไม่ควรตั้งไว้ทางที่มีคนเดินเยอะๆ และไม่ควรวางสิ่งของอื่นบนหิ้งพระด้วย ป้องกันการหยิบของแล้วทำให้องค์พระหล่น


ทิศการติดตั้งหิ้งพระ

เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของคอนโดฯ ส่วนมาก ไม่นิยมวางหิ้งพระหันหน้าเข้าทิศใต้ และทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าไม่เป็นสิริมงคล แต่มักนิยมหันหิ้งพระไปยังทิศเหนือ, ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออก มากกว่า เพราะเชื่อว่าทิศตะวันออกเป็นทิศที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

นอกจากนี้การจัดวางทิศหิ้งพระ โต๊ะพระ และห้องพระไว้ทางทิศตะวันออก สอดคล้องกับความคิดคนโบราณที่ว่าเป็นทิศรับแดดที่เหมาะสม เป็นทิศที่สร้างบรรยากาศสงบ อากาศเย็นสบายเมื่อต้องสวดมนต์ทำสมาธิ

อย่างไรก็ดี การอัญเชิญพระพุทธรูปเข้ามาในบ้านแล้ว ก็อย่าลืมระลึกถึงพระธรรม อันเป็นแกนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยได้อย่างลึกซึ้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง