กรณียเมตตสูตร คือ พระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อเจริญเมตตาธรรม ประกอบด้วยคาถาตามแบบฉันทลักษณ์ภาษาบาลีโบราณ จำนวน 10 บท โดยเป็นปิฎกปรากฏในขุททกปาฐะของพระสุตตันตปิฎก ชาวพุทธเชื่อว่าการสวดมนต์บทกรณียเมตตสูตร จะช่วยคุ้มกันภัยอันตราย เทวดารักษาคุ้มครอง และศัตรูที่คิดร้ายก็จะกลายเป็นมิตร
ประวัติของบทสวดกรณียเมตตสูตร
กรณียเมตตสูตร บางครั้งจะเรียกว่า "เมตตสูตร" เดิมทีเป็นบทสวดให้พระภิกษุทั้งหลายร่วมกันเจริญเมตตา ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเป็นมิตรต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระสูตรกรณียเมตตสูตรมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้สอนพระกรรมฐานแก่พระภิกษุราว 500 รูปในป่า หลังจากได้เรียนรู้พระภิกษุก็แยกย้ายกันไปเจริญกรรมฐานตามใต้ต้นไม้ภายในป่าหิมวันต์
รุกขเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้ ก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากภิกษุจำนวนมากมานั่งบำเพ็ญเพียร โดยทางฝ่ายรุกขเทวดาคิดว่าภิกษุเหล่านี้ต้องนั่งสมาธิเป็นเวลานาน ทำให้พวกตนลำบาก จึงรวมตัวกันหลอกหลอนพระภิกษุ ด้วยการจำแลงกายให้น่ากลัวเพื่อขับไล่พระภิกษุ มาทั้งรูปและกลิ่นที่ไม่เจริญใจ
เหล่าภิกษุถูกรบกวนอย่างหนักจนหาความสงบไม่ได้ จึงพากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสพระคาถากรณียเมตตสูตร ให้พระภิกษุกลับไปเจริญพระกรรมฐานตามเดิม พร้อมกับสวดพระคาถาบทนี้เพื่อเจริญเมตตาให้แก่รุกขเทวดา รวมถึงมารผจญทั้งหลาย เมื่อรุกขเทวดาได้รับฟังกรณียเมตตสูตร ก็มีจิตใจที่อ่อนโยน ร่วมอนุโมทนา และคุ้มครองภัยให้เหล่าภิกษุทั้งหลายสามารถบรรลุพระกรรมฐานได้
...
กรณียเมตตสูตร บทสวด และคำแปล
- กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
สันตินทริโย จะ นิปะโก จะ อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ
นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
สุขิโน วา เขมิโน โหตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา
ทีฆา วา เย มะหันตา วา มัชฌิยา รัสสะกา อะณุกะถูลา
ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
ภูตา วา สัมภะเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ
พยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ
มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
เอวัมปิ สัพพะภุเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ
ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ
กรณียเมตตสูตร แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระคาถาบทนี้แก่ภิกษุทั้งหลายว่า ผู้ฉลาดที่หวังบรรลุธรรม ควรมีความเพียร เป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย ไม่ควรประพฤติความเสียหายใดๆ ที่จะเป็นเหตุให้ผู้อื่นตำหนิเอาได้
ควรแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีรูปกายหรือขนาดกายเช่นไร ก็ให้มีแต่ความสุข ไม่ว่าจะเป็นเหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล ภูตผีหรือสัมภเวสีทั้งหลาย ขอให้สัตว์เหล่านั้นเป็นสุขเถิด ไม่ควรข่มเหง และไม่ควรดูหมิ่นกันในทุกโอกาส ไม่ปรารถนาทุกข์แก่กัน ไม่โกรธ ไม่แค้น ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เหมือนมารดาที่เฝ้าถนอมบุตรด้วยชีวิต
ผู้แผ่เมตตาก็ควรครองสติไว้ตลอดเวลา อยู่ด้วยเมตตา อยู่ด้วยพรหมวิหาร ไม่ยึดถือทิฏฐิ มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ กําจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
อานิสงส์ของการสวดกรณียเมตตสูตร
...
เนื่องจากบทสวดกรณียเมตตสูตร ค่อนข้างยาว ไม่มีแบบย่อ ผู้ที่จะสวดภาวนาจะต้องมีจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง เมื่อสวดแล้วจะเป็นการเจริญสติสมาธิไปในตัว เชื่อว่าผู้ที่สวดเป็นประจำจะเป็นที่รักของเหล่าเทวดา ได้รับการดูแลคุ้มครองภัย ผู้คนรักใคร่ มีใบหน้าผ่องใส นอนหลับสนิท ไม่ฝันร้าย ชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่เป็นมงคล
ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์โค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อปี 2561 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เคยเชิญชวนให้คนไทยร่วมกันสวดกรณียเมตตสูตร พร้อมทั้งศึกษาความหมายของพระสูตรบทนี้ให้กระจ่าง เพื่อส่งกำลังใจและเมตตาธรรมไปยังทุกชีวิตที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น