ของไหว้พระจันทร์ ตำนานของไหว้พระจันทร์ 2018 ขนมไหว้พระจันทร์ 2561 10 ข้อตำนานแห่งเทศกาลไหว้พระจันทร์ ด้านในมีคำตอบ
1. เทศกาลแห่งฤดูใบไม้ร่วง
เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Festival) รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง ในภาษาจีนคือ จงชิวเจี๋ย หมายถึง เทศกาลช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่พระจันทร์เปล่งแสงสวยงามที่สุด เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมของชาวจีน เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (กันยายนตามปฏิทินสากล) ปัจจุบันเทศกาลนี้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก
2. ไหว้ดวงจันทร์ฉลอง
ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกรด้วย ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น
3. เป็นวันแห่งครอบครัว
อย่างที่บอกว่าเป็นวันที่พระจันทร์สวยงามที่สุด นั่นจึงเป็นต้นกำเนิดของขนมไหว้พระจันทร์ อันมีลักษณะกลมดุจดั่งดวงจันทร์เต็มดวง และยังถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวจีนทั่วโลกที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว และร่วมกินขนมไหว้พระจันทร์ พบปะ พูดคุย และใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกัน
4. ตำนานแห่งแม่นางฉางเอ๋อ
ตามตำนานเล่าว่า มีเทพธิดาแห่งดวงจันทร์องค์หนึ่ง นามว่า "ฉางเอ๋อ" ซึ่งเป็นหญิงคนรักของโฮวอี้ นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวง จากทั้งหมด 10 ดวง ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์ จึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตธรรมดาเช่นมนุษย์ทั่วไปบนโลกมนุษย์กับฉางเอ๋อ แต่แล้วโฮวอี้ก็ถูกคนสนิททรยศฆ่าตาย ส่วนฉางเอ๋อดื่มน้ำอมฤตเพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ แล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งตามลำพังด้วยความเศร้าสร้อย
...
ต่อมากษัตริย์ฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น พระองค์ได้ทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในสุบินนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อที่พระองค์ได้พบเจอมา
จากนั้นมา การร่ายรำแบบนี้ก็แพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีมาตั้งแต่บัดนั้น โดยหญิงสาวชาวจีนในยุคนั้น จะนิยมสวดขอพรจากฉางเอ๋อ เพื่อให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไปดุจดั่งแม่นางฉางเอ๋อ
5. ตำนานทางประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งตำนานหนึ่งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน เล่าว่า ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่จากชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) จนได้มีการก่อกบฏขึ้นของชาวฮั่น ด้วยการแอบส่งสารบอกต่อๆ กันในไส้ขนม ความว่า คืนนี้เมื่อเวลายาม 3 ให้ทุกบ้านจัดการสังหารทหารมองโกลให้หมด อันเป็นที่มาของขนมชนิดนั้น ซึ่งว่ากันว่าก็คือขนมไหว้พระจันทร์นั่นเอง นำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน
6. ปีนี้ตรงกับวันไหนนะ?
สำหรับวันไหว้พระจันทร์ของปีนี้ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจีน ส่วนปฏิทินสากลตรงกับวันที่ 24 กันยายน 2561 แต่สำหรับห้างร้านที่ทำขนมไหว้พระจันทร์ ก็เริ่มทำขายกันแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นมา
7. วิธีไหว้พระจันทร์
ก่อนหน้านี้ ชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากเชื่อว่า พระจันทร์ถือเป็นหยิน ซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง (ผู้ชายเป็นหยาง) ดังนั้นจึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้ แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งหญิงชายก็สามารถไหว้ได้ทั้งคู่
ช่วงเวลา : การไหว้พระจันทร์จะเริ่มต้นตอนหัวค่ำ ซึ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า ถึงแม้ปีไหนหรือสถานที่แห่งใดมองไม่เห็นพระจันทร์ แต่ชาวจีนก็จะยังจัดพิธีไหว้พระจันทร์ในค่ำคืนนั้นเหมือนเดิม พิธีไหว้จะเสร็จประมาณ 4-5 ทุ่ม
สถานที่ : ลานหน้าบ้านหรือดาดฟ้า โดยมีการตั้งโต๊ะ ทำซุ้มต้นอ้อย มีธูปเทียน กระดาษเงิน กระดาษทอง ที่พับเป็นเงินตราจีน โคมไฟและสิ่งของเซ่นไหว้
ขั้นตอนการไหว้ : - ไหว้เจ้าในช่วงเช้า จัดของไหว้ตามปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะ
- ไหว้บรรพบุรุษช่วงสาย จัดของไหว้เหมือนตอนเช้า แต่เพิ่มผลไม้ เช่น ส้มโอผลใหญ่ๆ สวยๆ
- ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ (บางบ้านไหว้ตอนดึก รอให้พระจันทร์เต็มดวง) เตรียมอาหารเจแห้ง 5 อย่าง คือ วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม, ฟองเต้าหู้, ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้อะไรก็ได้ที่ไม่มีไข่แดงเค็ม และต้องไม่ใช่ไส้โหงวยิ้ง, ขนมโก๋, ผลไม้, เครื่องดื่ม (น้ำชา), กระดาษเงิน กระดาษทอง, ธูป 3 ดอก หรือธูปมังกรดอกใหญ่ดอกเดียว และเทียนแดงคู่
หลังเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์ โดยต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามเกินหรือขาด และแต่ละชิ้นต้องมีขนาดที่เท่ากัน
8. หน้าตาขนมไหว้พระจันทร์
ขนมไหว้พระจันทร์ มีลักษณะสัณฐานทรงกลม ลักษณะคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่างๆ จากนั้นนำไปอบ และเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม มีไส้ต่างๆ เป็นธัญพืช ใช้สำหรับเซ่นไหว้ดวงจันทร์ นับเป็นของสำคัญที่ใช้ในเทศกาลนี้ และนิยมรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์สำหรับเทศกาลนี้ จะทำทานกันแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
9. มีไส้อะไรบ้าง?
ภายในขนมไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิม นิยมบรรจุไส้ต่างๆ เป็นธัญพืชและเนื้อผลไม้กวน รสหอมหวาน เช่น ทุเรียน, เมล็ดบัว, แมคคาเดเมีย, ถั่ว, พุทราจีน เป็นต้น แต่ปัจจุบันก็ได้มีดัดแปลงใส่เนื้อสัตว์ต่างๆ เข้าไป เช่น กุนเชียง, ไข่เค็ม, หมูแฮม, หมูแดง, หมูหยอง, กังป๋วย เป็นต้น
...
10. ขนมแบบประยุกต์
ปัจจุบัน มีการทำขนมในสไตล์ประยุกต์ต่างๆ มากมาย เช่น ขนมไหว้พระจันทร์สตาร์บัคส์ที่มีไส้เป็นกาแฟและชาเขียว รวมไปถึงขนมไหว้พระจันทร์แบบไอศกรีมที่มีไส้เป็นรสผลไม้ต่างๆ บางเจ้าได้มีการดัดแปลงใส่ไส้ต่างๆ เพิ่มขึ้นจากในอดีตมาก เช่น ช็อกโกแลต, ชาเขียว, คัสตาร์ด, อัลมอนด์, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น หรือดัดแปลงไปเป็นแบบต่างๆ เช่น ดัดแปลงคล้ายขนมโมจิ ปัจจุบันกลายมาเป็นธุรกิจสำคัญที่มีการแข่งขันสูงมากในช่วงเทศกาลนี้ในแต่ละปี.