• Future Perfect
  • Articles
  • จิตสุภา วัชรพล: การคิดวิเคราะห์ ทักษะสำคัญที่เด็กไทยต้องมีในยุคดิจิทัล (วิดีโอ)

จิตสุภา วัชรพล: การคิดวิเคราะห์ ทักษะสำคัญที่เด็กไทยต้องมีในยุคดิจิทัล (วิดีโอ)

Sustainability

ความยั่งยืน15 ต.ค. 2567 18:48 น.

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการศึกษานับเป็นบันไดก้าวสำคัญที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ในเวลาเดียวกันยังเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้แต่ละประเทศได้บุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งต่อความยั่งยืนให้กับคนรุ่นถัดไป

ในช่วงที่ผ่านมา มูลนิธิไทยรัฐ มีส่วนร่วมผลักดันให้การศึกษาขยายตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในเขตเมือง หรือที่ที่มีประชากรหนาแน่นเพียงอย่างเดียว

คุณจิตสุภา วัชรพล ในฐานะกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มต้นงาน Thairath Afternoon Gala: Empowering through Education เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนประเทศผ่านระบบการศึกษาจากมุมมองของนักธุรกิจชั้นนำของประเทศอย่าง บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

คุณจิตสุภา วัชรพล กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ
คุณจิตสุภา วัชรพล กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ

คำถามแรกที่ถามไปยังคุณจิตสุภา ในทรรศนะของกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ ซึ่งดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่มีอยู่ 111 แห่งทั่วประเทศ เกี่ยวกับคำจำนวน 3 พยางค์ที่ว่า “การศึกษา” สำคัญอย่างไร เธอกล่าวว่า การศึกษาเป็นวิธีการเดียวที่ยั่งยืนที่สุด ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนคนหนึ่งให้ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และจับต้องได้มากที่สุด 

“สิ่งเหล่านี้เราเห็นว่ามันเกิดขึ้นจริงจากการทำโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง 111 โรงทั่วประเทศ แล้วเราก็เห็นว่ามีเยาวชนหลายๆ คน ที่เขาได้รับโอกาสเข้ามาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เมื่อจบออกไปก็สามารถไปเรียนต่อ ไปประกอบอาชีพอื่นๆ และประสบความสำเร็จในชีวิตในแบบที่เขาคาดหวังไว้” 

คุณจิตสุภา ยกตัวอย่างว่า มีเด็กที่เป็นชาติพันธุ์ท่านหนึ่ง มาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ช่วงม.1 ถึง ม.3 ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อเขาซึ่งเป็นเด็กชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน แต่หลังจากนั้นเมื่อเขาจบออกไปจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา สิ่งที่เขาเลือกเรียนต่อก็คือคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า เพราะเขาเคยได้รับโอกาสในการเรียนหนังสือ เขาจึงเชื่อว่าการศึกษาสามารถ “เปลี่ยนแปลงชีวิต” อีกทั้งการเป็นครูก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต

“นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่ภาคภูมิใจ” 

สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริง และใครหลายคนก็เห็นตรงกันว่า ในเวลานี้โลกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสูง หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีอำนาจในการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เหล่าผู้มีอำนาจควรวางนโยบายอย่างไร ในโลกที่อยู่ในยุคสมัยที่เคลื่อนที่ด้วยความไวสูง ประเด็นนี้ คุณจิตสุภา กล่าวว่า เรื่องของการศึกษานับเป็นเรื่องที่ยากมาก และใหญ่เกินกว่าที่จะทิ้งภารกิจนี้ไว้ที่กระทรวงศึกษาเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยการบูรณาการของทุกๆ ภาคส่วนในสังคม รวมถึงครอบครัว เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาพร้อมกับผลักดันการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง และจริงใจ 

“สุดท้ายแล้วเราก็ได้ยินว่ามีความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษามาเกือบ 20 ปี แต่ว่าเราก็ยังคุยกันเรื่องเดิม ถกกันในปัญหาเดิมๆ แล้วเราก็ไม่เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีผลลัพธ์ที่ทุกคนจับต้องได้เป็นนัยสำคัญว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วจริงๆ”

คุณจิตสุภา เล่าให้เห็นภาพมากขึ้นว่า จริงๆ แล้วมีเด็กนักเรียนที่เขาอยากเรียน ครอบครัวก็ส่งเสริมให้ศึกษาเล่าเรียน แต่พ่อและแม่อาจเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เด็กจึงต้องอยู่กับปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัด แต่เมื่อปู่ย่า หรือตายายเป็นผู้ป่วยติดเตียง สุดท้ายก็เป็นเด็กที่ต้องดูแลผู้สูงอายุจนไม่ได้เรียน ก่อนที่จะตั้งคำถามย้อนกลับมาว่า ในกรณีแบบนี้ เด็กจะสามารถเดินทางไปเรียนหนังสือได้อย่างไร 

“กรณีแบบนี้ ถือเป็นเรื่องที่เกินภาระหน้าที่ของกระทรวงศึกษา เพราะฉะนั้นต้องเกิดการบูรณาการ เช่นสาธารณสุข หรือกระทรวงแรงงานเข้ามาเพื่อให้เคสเล็กๆ ที่ ‘จริงมากๆ’ ในสังคม เพื่อให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา”

จิตสุภา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ไทยรัฐทำผ่านทางมูลนิธิไทยรัฐ แล้วก็เป็นโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ตั้งแต่ปี 2513 นี่คือ กระบวนการที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดที่หน่วยงานเอกชนหน่วยงานหนึ่งจะสามารถมอบให้กับสังคมได้ ซึ่งก็คือการสร้างโรงเรียน แล้วส่งมอบให้กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดูแลบริหารจัดการต่อ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุน การดูแลเด็กที่ขาดแคลนทุนการศึกษา ทุนอุปกรณ์การเรียน หรือในบางโรงเรียนก็ดูแลการไปรับ-ส่ง การจัดหาที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน เพื่อให้เด็กเดินทางได้สะดวกขึ้น และการสนับสนุนหลักสูตรที่รู้สึกว่าจะมีประโยชน์กับนักเรียน ต่อสังคม และประเทศชาติ เช่น หลักสูตรสื่อมวลชนศึกษาหรือว่าหลักสูตรพลเมืองดี 

คุณจิตสุภา วัชรพล ความเหลื่อมล้ำการศึกษาถือเป็นปัญหาเร่งด่วน
คุณจิตสุภา วัชรพล ความเหลื่อมล้ำการศึกษาถือเป็นปัญหาเร่งด่วน

เมื่อพูดถึงด้านอุปสรรคของระบบการศึกษาไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไม่ได้มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหานี้ มีแต่การพูดลอยๆ อยู่ในอากาศ ไม่ได้ถูกดึงมาปฏิบัติที่จับต้องได้ เลยไม่ได้เกิดการขับเคลื่อนหรือเดินไปข้างหน้า

“ในเชิงระยะยาว รู้สึกว่าหลักสูตรที่เป็นแกนกลาง อาจไม่ทันต่อยุคสมัย หรือความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ หรือตลาดโลกที่มีการแข่งขันเกิดขึ้นในทุกวันนี้” เธอเล่าต่อไปว่า “อีกเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคหรืออาจทำให้การผลักดันเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเปลี่ยนแปลงได้ยากก็คือคุณภาพของครู และการบริหารจัดการครู ซึ่งมีสาเหตุสืบเนื่องต่อกันเป็นทอดๆ เช่น การจัดการงบประมาณที่ลงไปยังทรัพยากรบุคคล ก็คือครู รวมถึงเรื่องภาระหน้าที่คุณครูต้องรับผิดชอบจากภาระการสอน การทำหลักสูตร การเตรียมอุปกรณ์การสอน การเตรียมเนื้อหา ไปจนถึงงานวิจัย และงานประเมิน เป็นต้น”

คุณจิตสุภา อธิบายเสริมว่า ในอีกด้านหนึ่งมันอาจไม่ใช่อุปสรรคเสียทีเดียว หากแต่เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องช่วยกันแก้ไข แล้วถกแถลงอย่างจริงจังว่าเราจะยกระดับ พัฒนา หรือเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการครูให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

ในขณะที่ปัญหาเร่งด่วนในหัวข้อการศึกษา มุมมองของคุณจิตสุภา ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำการศึกษา โดยเน้นย้ำว่า ไม่ใช่แค่เร่งด่วนเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในยุคนี้

“ถึงแม้ว่าทุกวันนี้โลกจะมีเอไอ มีแพลตฟอร์มช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน แต่เราก็ยังเห็นว่ามีเด็กและครอบครัวอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแม้กระทั่งระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้เรียนฟรี 15 ปี” 

คุณจิตสุภา กล่าวเสริมว่า เพราะฉะนั้น ในเชิงหลักการเราเริ่มที่จะมีการพูดคุยกันมากขึ้นแล้วว่าต้องมีการปฏิรูปยกเครื่องหลักสูตร หรือว่าพัฒนาศักยภาพของครูที่จะต้องไปสอนเด็กนักเรียน แต่ว่ามันก็ยังทำให้เราไม่สามารถที่จะผลักดันหรือขับเคลื่อนประเทศไปในทางที่เราวาดฝันไว้ได้จริงๆ เพราะสุดท้ายยังมีคนอีกจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือครอบครัวที่เขาไม่มีแม้แต่เงินจะไปซื้อข้าวในวันนี้ ในมื้อถัดไป ฉะนั้นนับประสาอะไรกับการส่งลูกหลานไปโรงเรียน

“ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา แต่ระบบ บริบท สภาพแวดล้อม หรือทรัพยากรที่เขาจะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาได้ มันยากมากๆ แล้วก็ใช้พละกำลังเยอะเกินกว่าที่คนคนหนึ่งจะฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปได้ ฉะนั้นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษายังเป็นปัญหาที่ใหญ่ และอาจวิกฤตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพแวดล้อม บริบทของการแข่งขันจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน”

Critical Thinking หรือการคิดในเชิงวิพากษ์ หนึ่งในทักษะที่ต้องเติมเข้ามาสำหรับการศึกษาไทย
Critical Thinking หรือการคิดในเชิงวิพากษ์ หนึ่งในทักษะที่ต้องเติมเข้ามาสำหรับการศึกษาไทย

ในช่วงที่คนทั้งโลกกำลังดำเนินเข้าสู่ “ครึ่งหลัง” ของทศวรรษนี้ ในมุมมองของคุณจิตสุภา คิดว่า ทักษะด้านการศึกษาที่จำเป็นที่สุดเป็นเรื่องของ Critical Thinking หรือการคิดในเชิงวิพากษ์ โดยเฉพาะในยุคที่เราเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลไหลเข้ามา ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่จริงและไม่จริง เพราะฉะนั้น การมีพื้นฐานของความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแยกแยะว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นอย่างไร ควรทำอย่างไรที่จะตอบสนองกับชุดข้อมูลนั้น รวมถึงการที่จะคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ในสถานการณ์ที่ว่า เด็กหรือคนคนหนึ่งต้องเลือกเดินทางไหน หรือตัดสินใจอย่างไร ก็มีความจำเป็นต้องใช้ Critical Thinking เป็นพื้นฐานก่อนไปสู่ทักษะอื่นๆ ที่สำคัญในชีวิต

“เมื่อเราดูคะแนนสอบ Programme for International Student Assessment: PISA ของเด็กไทย จะเห็นได้ว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี ถ้าปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ ปีหน้าก็อาจไหลลงไปเรื่อยๆ 

ในช่วงท้ายเราได้ถามคำถามในเชิงสมมติว่า ถ้าหากประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ สามารถพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา หลักสูตรที่ว่านั้นจะเน้นเรื่องใดเป็นสำคัญ คุณจิตสุภาให้คำตอบว่า เมื่อดูจากบริบทของสภาพสังคม และเทคโนโลยี หลักสูตรที่อยากทำ นั่นคือ หลักสูตร Media Literacy หรือการรู้เท่าทันสื่อ

“ที่จริงนี่เป็นหลักสูตรที่ไทยรัฐวิทยาทำแล้ว” เธอกล่าว “แต่อยากทำให้เข้มข้นมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเพราะไทยรัฐเป็นสื่อแล้วให้คนมาอ่านข่าวจากเรา แต่ ‘สื่อ’ ที่หมายถึงในหลักสูตรนี้ เป็นข้อความหรือคอนเทนต์ที่เด็กๆ หรือเยาวชน พบเห็นบนเฟซบุ๊ก หรือจากโซเชียลมีเดีย จากเพื่อนๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน” 

ความสำคัญของหลักสูตรนี้ เป็นเพราะนี่คือยุคสมัยที่มีเอไอ มีการใช้เอไอในทางที่ผิด เพราะฉะนั้นเด็กน่าจะต้องมีกำแพง ชุดความคิด หรือข้อมูลพื้นฐาน อย่างน้อยเพื่อให้สามารถตัดสินใจ วิเคราะห์ แยกแยะได้ว่าข้อความหรือคอนเทนต์ที่เห็นในชีวิตประจำวันเป็นข้อความที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องจริงหรือไม่

SHARE

Follow us

  • |