- กระเช้าลอยฟ้าขึ้น "ภูกระดึง" หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว
- ฟังเสียงจากประชาชน กรณีการสร้าง "กระเช้าลอยฟ้าภูกระดึง"
- "ภูกระดึง" เป็นอุทยานแห่งชาติ จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องสิ่งแวดล้อม
"ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง" เพียงป้ายไม้ขนาดใหญ่ที่มีข้อความธรรมดา แต่กลับทำให้บรรดานักเดินป่าทั้งหลายใจฟู เพราะเมื่อไหร่ที่ได้พบกับป้ายนี้ เท่ากับว่าได้ใช้ความแข็งแรงของร่างกาย และจิตใจ ในการเดินขึ้นมายืน ณ จุดสูงสุดของ "ภูกระดึง" จ.เลย ของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้แล้ว ซึ่งจะมีรางวัลรออยู่ข้างหน้า คือการได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ซึ่งมีไฮไลต์ที่ความสวยงามบนยอดภูกระดึงแห่งนี้

กระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาโครงการออกแบบก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา วาระการประชุมมีการนำเสนอโครงการของแต่ละจังหวัดเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ซึ่งจังหวัดเลยมีการเสนอโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึงด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. อนุมัติในหลักการเพื่อนำไปเรียงลำดับพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ และในรายละเอียดโครงการ มีการเสนอให้ออกแบบการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณ 28 ล้านบาท นำไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต้องการให้มีการสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าที่สร้างรายได้ในพื้นที่ และสร้างรายได้เข้าจังหวัด ขณะเดียวกันก็มีการทำ EIA มาแล้วหลายครั้ง
ขณะที่ "ภูกระดึง" เป็นอุทยานแห่งชาติ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะทำอะไรก็จะต้องระมัดระวังเรื่องสิ่งแวดล้อม และขยะ ส่วนการดำเนินการจะแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ ก็อยู่ที่การดำเนินงาน งบประมาณ และจังหวัด ซึ่งการออกแบบการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ส่วนทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไรนั้นไม่ได้มีกำหนดไว้

เสียงจากประชาชน กรณีการสร้าง "กระเช้าลอยฟ้าภูกระดึง"
จากการสำรวจนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพิชิตยอดภูกระดึงจำนวนมาก จนลูกหาบไม่เพียงพอต่อการบริการ มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ และนอกพื้นที่ จ.เลย ก็มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ที่จะมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเช่นกัน
นายวันที หมวดโคกสูง รองประธานชมรมลูกหาบภูกระดึง เผยว่า ทางชมรมเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ส่วนที่ลูกหาบเห็นด้วยเพราะจะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จะมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามา แม่ค้า ร้านค้าขายดีขึ้น ส่วนคนที่จะขึ้นกระเช้าก็ขึ้นไป ส่วนคนที่แบกของก็แบกไปไม่ได้เสียหายอะไร ส่วนลูกหาบที่ไม่เห็นด้วยไม่ทราบเพราะอะไร
ในปัจจุบันลูกหาบมีน้อย คนรุ่นใหม่มีน้อย รุ่นเก่าก็แก่ตัวลง ซึ่งปัจจุบันมีลูกหาบกว่า 200 คน ถ้าช่วงที่นักท่องเที่ยวมากันเยอะก็ไม่พอ แต่ก่อนลูกหาบมีเป็นพันคน ส่วนการสร้างรายได้แต่ละคนตอบไม่ได้ แล้วแต่ความขยันของแต่ละคน เพราะน้ำหนักคิดกิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนตนเองเห็นด้วยที่จะมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
ขณะที่ น.ส.รัชนีภรณ์ เกตุแก้ว นักท่องเที่ยว เล่าว่า การสร้างกระเช้าเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่อยากจะขึ้นไปภูกระดึง แต่สุขภาพไม่แข็งแรง จึงอยากเลือกขึ้นกระเช้า ส่วนใครอยากพิชิตภูกระดึงด้วยใจตัวเองก็เลือกเดินได้ เหมือนกับกลุ่มตนที่มากัน 10 คน ก็มีความคิดแตกต่างกันไป ส่วนตัวเองไม่อยากให้มีกระเช้า เพราะถือว่าครั้งหนึ่งที่เดินขึ้นภูกระดึง ส่วนคนในกลุ่มอยากให้สร้างเพราะขึ้นสบายไม่ต้องเดินให้เหนื่อย

ส่วน น.ส.วรุณรัตน์ ม่วงวัฒนกุล นักท่องเที่ยว เผยว่า ไม่เห็นด้วยที่จะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เมื่อตอนอายุ 20 กว่าตั้งแต่เรียนปริญญาตรี แต่ก่อนหนทางขึ้นภูกระดึงลำบากกว่านี้อีก แต่ปัจจุบันหนทางสะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก แต่ถ้าขึ้นกระเช้าจะไม่ได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ ถามว่าเหนื่อยไหมมันเหนื่อย แต่เราคือผู้พิชิตภูกระดึง การที่มีอะไรที่สะดวกสบายเกินไปมันดีกับผู้สูงวัย แต่ก็มีผู้สูงอายุขึ้นมารำลึกความหลังกัน ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
ทางด้าน นายนฤมิตร สาณะเสน ผู้ประกอบการร้านค้าอำเภอภูกระดึง เผยว่า เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการสร้างกระเช้าภูกระดึง จริงๆ แล้วกระเช้าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ภูกระดึงก็ยังเหมือนเดิม ส่วนการกังวลเรื่องอาชีพของลูกหาบนั้น จริงๆ ไม่ต้องกังวล เพราะทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเยอะมาก ลูกหาบไม่พออยู่แล้ว ถ้ามีกระเช้าเขาก็มีอาชีพรับรองอยู่แล้ว
ดังนั้นถ้ามีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงจริงๆ จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมต้องดีขึ้นอยู่แล้ว ปริมาณคนที่เข้ามาในอำเภอภูกระดึงก็จะเยอะขึ้น ทำให้ส่วนตัวเห็นด้วย.