สถานีวิทยุและโทรทัศน์เจียงซู (Jiangsu Broadcasting Corporation : JSBC) ผู้นำด้านการผลิตรายการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพยอดเยี่ยมที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดตัวรายการโทรทัศน์ใหม่ในประเทศไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ “VIU” (วิว) นำเสนอ 6 รายการวาไรตี้ภายในแนวคิด “จุดประกายคนรุ่นใหม่” เจาะกลุ่มคนเจน Z ชาวไทยให้ได้เข้าถึงหลากหลายแง่มุมของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจีนแบบอินไซด์ พร้อมจับมือโครงการ “China Business Leader” (CBL) หลักสูตรสร้างผู้นำธุรกิจพิชิตตลาดจีน ที่จัดขึ้นโดย Future Fundamental Institute of Thailand ภายใต้การนำของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานหลักสูตร เพื่อร่วมเดินหน้าเผยแพร่สื่อจากประเทศจีนสู่ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
งานแถลงข่าวเปิดตัวรายการโทรทัศน์ใหม่ในประเทศไทยของสถานีวิทยุและโทรทัศน์เจียงซู และการประกาศความร่วมมือกับ โครงการ China Business Leader (CBL) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ณ สถาบันสร้างอนาคตไทย FFIT กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานหลักสูตร CBL เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย ดร.เมืองภูมิ หาญสิริเพชร ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์เจียงซู และมีผู้ร่วมงานอย่างคับคั่ง
...
ภายในงานแถลงข่าวได้เผยความมุ่งมั่นของทั้งสองพันธมิตร ที่จะร่วมกันเผยแพร่สื่อจากประเทศจีนสู่ประเทศไทย และให้ชาวไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อจีน ตลอดจนเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศจีนผ่านรายการต่าง ๆ มากขึ้น ผ่านการนำเสนอรายการโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์เจียงซู ผ่านช่อง "Now Jelli" รายการดังกล่าวประกอบด้วย 6 รายการวาไรตี้ในกลุ่ม ‘จุดประกายคนรุ่นใหม่’ ที่จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์เจียงซู และจะเผยแพร่ในประเทศไทย บนสื่อออนไลน์อย่าง VIU ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของช่อง "Now Jelli" รายการดังกล่าวมีผู้ชมกลุ่มเป้าหมายเป็นหนุ่มสาวชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมเจน Z รายการใหม่ทั้ง 6 รายการ มีดังต่อไปนี้
1. รายการพลิกที่ร้าง สร้างชีวิต (Yell For Fun): รายการเรียลลิตี้โชว์เชิงวัฒนธรรมสำหรับเยาวชน โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มหนุ่มสาวเพื่อพลิกโฉมสถานที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแลนด์มาร์กที่ผสมผสานศิลปะ ความทันสมัย และความสนุกสนานเข้าด้วยกัน ดึงดูดให้มาท่องเที่ยวเช็คอิน สัมผัสเสน่ห์อันงดงามและเป็นเอกลักษณ์ของชานเมืองชนบท
2. รายการหลังม่านเดลิเวอรี่ (Midnight Deliverymen) รายการเชิงสารคดีศึกษาวิถีชีวิตกลุ่มผู้ขับขี่ส่งอาหาร ซึ่งจะได้เข้าใจถึงชีวิตที่มีครบทุกรสชาติของคนส่งอาหาร ความเสียสละทางสังคม ไปจนถึงความสุขในการทำงานของพวกเขา
3. เจ้าสัวเจนใหม่ ซีซัน 1 (The Shining One Season 1) รายการเรียลลิตี้โชว์ของวัยเริ่มต้นทำงาน บอกเล่าเรื่องราวของนักศึกษาฝึกงานด้านการเงิน 9 คนที่ต้องเข้าทดสอบแต่ละด่าน แก้ไขปัญหาทางการเงินในทางปฏิบัติภายใต้การแนะนำของที่ปรึกษาด้านการเงิน เพื่อชิงโควตาเข้าทำงานในสถาบันการเงินชั้นนำ
4. เจ้าสัวเจนใหม่ ซีซัน 2 (The Shining One Season 2) เรียลลิตี้โชว์ในซีซั่นสองนี้มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Banking) การให้คำปรึกษาทางการเงิน สะท้อนภาพลักษณ์ของการทำงานในธนาคารการลงทุนที่เข้มข้นและน่าสนใจ ผ่านการทำงานของนักศึกษาฝึกงานทั้ง 9 คนที่กำลังจะจบการศึกษา มาลงมือปฏิบัติให้เห็นจริง
5. เทคมีเอาท์ไชน่า (Take Me Out China) แบบคัดตอนพิเศษ รายการบันเทิงแถวหน้าของจีน โดยมี “เมิ่งเฟย” พิธีกรชื่อดังเป็นผู้ดำเนินรายการ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เริ่มคิดและเผชิญหน้ากับความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการแต่งงาน ความรัก ทัศนคติการใช้ชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อสังคม
6. จากรากเหง้าสู่เราในวันนี้ (Chinese Practice with Chinese Wisdom) เวอร์ชั่นเผยแพร่นานาชาติ (Global Version) จัดทำขึ้นภายใต้คำแนะนำของสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการนานาชาติ และเยาวชนคนหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนร่วมถกประเด็นค้นหาความลับทางวัฒนธรรมของอารยธรรมจีน อาทิ แผ่นดินของปวงชน ประชาชนเป็นรากฐานของชาติ การปกครองด้วยคุณธรรม การปฏิรูปสิ่งเก่ารังสรรค์สิ่งใหม่ มนุษย์และธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน การพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง และมิตรไมตรีต่อเพื่อนบ้าน
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานหลักสูตร CBL กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์เจียงซู ซึ่งเป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศจีน เข้ามาเผื่อแพร่ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของจีนให้ชาวไทยได้ทำความรู้จักกันอย่างถ่องแท้ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ CBL ที่อยากให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาขยายตลาดไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อมหาศาลด้วยประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน ซึ่งการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดจีนยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ รสนิยมคนจีน รู้ข้อกฎหมายการค้าลิขสิทธิ์ Branding ความเสี่ยงต่าง ๆ และเทคนิคทางการค้าที่มีความเฉพาะ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีอีกด้วย”
ด้าน ดร.เมืองภูมิ หาญสิริเพชร ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์เจียงซู กล่าวว่า “สถานีวิทยุและโทรทัศน์เจียงซู ได้มุ่งมั่นผลิตรายการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพยอดเยี่ยมจำนวนมากมาย ซึ่งเคยได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติมานับไม่ถ้วน การได้เข้ามาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนสู่ประเทศไทยในครั้งนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงความร่วมมือกับโครงการ China Business Leader (CBL) เราเชื่อมั่นว่า จะช่วยเพื่อร่วมเดินหน้าเผยแพร่สื่อจากประเทศจีนสู่ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ สถานีวิทยุและโทรทัศน์เจียงซูไม่ได้มีเพียงการเผยแพร่ทางวิทยุและโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจสื่ออื่น ๆ อีก เช่น ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์อินเทอร์เน็ต สื่อภาพและเสียง ซึ่งครอบคลุมกิจการสื่อมวลชนเกือบทุกรูปแบบในปัจจุบัน ตลอดจนบริษัทนำเที่ยว นอกจากนั้น สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลเจียงซู ยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน "30 องค์กรวัฒนธรรมชั้นนำของจีน" ถึงห้าครั้ง และติดอันดับ "500 แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของจีน" ติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี มีศักยภาพโดยรวมเป็นสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระดับมณฑลชั้นนำของจีน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ทางสถานีได้รับการยกย่องให้เป็นกลุ่มองค์กรที่เจริญก้าวหน้าในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ในมณฑลเจียงซู และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 ผลงานข่าวหลายชิ้นของสถานีได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลไชน่านิวส์ครั้งที่ 33
...