เห็นชื่อ เดฟ พาเทล นักแสดงชาวอังกฤษ ที่เคยฝากฝีมือในหนัง “ไลออน” ที่ได้เข้าชิง 6 รางวัลออสการ์ ครั้งที่ 89 หรือย้อนไปในปี 2551 “สลัมด๊อก มิลเลียนแนร์” ที่พาเทลแสดงนำ ก็ประสบความสำเร็จคว้า 8 รางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 และตอนนี้พาเทลมีงานแอ็กชันทริลเลอร์ชิ้นใหม่ ที่เล่นเองและกำกับเองเป็นเรื่องแรกในชื่อ “มังกี้ แมน” (Monkey Man) บทหนังได้แรงบันดาลใจจากตำนานหนุมาน เล่าเรื่องของนักสู้หนุ่มผู้สวมหน้ากากกอริลลา แต่เก็บความแค้นสุมอก รอวันสะสางกับทุกคนที่พรากชีวิตของมารดาเขาไป

และถึงจะเป็นเรื่องราวในอินเดีย แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่เมืองบาตัม ในอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อไล่เรียงดูชื่อทีมงานของ “มังกี้ แมน” ก็สะดุดนามของโปรดักชันดีไซเนอร์ชื่อ พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ ผู้ออกแบบงานสร้างชาวไทยฝีมือดี ที่มีประสบการณ์งานสาขานี้ทั้งไทยและต่างประเทศ “ไทยรัฐ” เลยไม่รอช้าที่จะสนทนากับเขาก่อนที่ “มังกี้ แมน” จะลงโรงฉายในไทย

เปิดประเด็นที่มุมมองการทำงานกับ เดฟ พาเทล ที่ พวัสส์ เผยว่าประทับใจและได้กลายเป็นเพื่อนกับพาเทลไปแล้ว โดยชมเปาะถึงความเป็นคนหนุ่มมีพลังและความมุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์กับหนังเรื่องนี้เป็นอย่างดี “เวลาได้ฟังเขาบรีฟก็จะมีความชัดเจนตั้งแต่เจอกันครั้งแรก คือสถานการณ์ของการทำหนังเรื่องนี้ค่อนข้างต่างจากหนังที่ผมเคยทำมาตลอดชีวิต คิดสภาพคนกลุ่มหนึ่งติดเกาะกัน มันเลยใกล้ชิดกันหมดทั้งในและนอกเวลางาน ก็จะสะดวกในการทำงานเพราะรับรู้เรื่องทุกอย่าง ช่วยกันแก้ปัญหาที่มันต้องมีอยู่แล้วในระหว่างงานสร้าง”

...

ส่วน อิสระในการนำเสนอแนวคิด อุปสรรคมีไหม และสิ่งที่ยากที่สุดคืออะไร พวัสส์ เผยว่าในช่วงแรกก่อนที่ ชาโรน ไมเออร์ ผู้กำกับภาพ จะมา เขากับเดฟจะทำงานล่วงหน้ากันก่อนในด้านการวางสถานที่ในการถ่ายทำ การออกแบบฉากหลักๆ เช่น วัดฮินดู ร้านอาหารหรูในคิง คลับ (King Club) “เดฟจะเล่าแกนความคิดหลักที่เขาอยากจะได้ในหนัง และยอมรับความยืดหยุ่นในขั้นตอนการผลิตได้มาก เพราะเข้าใจในเงื่อนไขข้อจำกัดที่มีมากกว่ากองถ่ายทำหนังในเวลาปกติและจากการที่เรากำลังจะผลิตภาพยนตร์ที่เหตุการณ์เกิดในอินเดียแต่ถ่ายทำนอกประเทศอินเดีย เมื่อชาโรนมาถึงงานที่เราปรึกษากันในส่วนใหญ่คือการออกแบบแสงในฉากที่มาจากแหล่งแสง เช่น ชนิดของไฟที่ติดตั้งในฉาก เช่น ไฟแอลอีดี ที่ติดตั้งในห้องน้ำในคิง คลับ เป็นต้น ส่วนตัวผมนั้นได้ทำ Design concept book ไปตั้งแต่อ่านเรื่องย่อมาจากเมืองไทย ทางเดฟและผู้อำนวยการสร้างได้เห็นมันก่อนที่ผมจะเดินทางไปถึงเกาะบาตัม ในเล่มจะแสดงมู้ดและโทนของภาพยนตร์ในเบื้องต้นตามที่ตีความออกมาจากบทภาพยนตร์ ส่วนที่ชัดเจนสุดคือการที่จะจำแนกชนชั้นของตัวละครและสถานที่ของเขาเหล่านั้นนะครับ”

การยกกองถ่ายทำถึงอินโดนีเซียต้องวางแผนดีไซน์และจัดหาอุปกรณ์อย่างไรนั้น พวัสส์ เผยว่า ไม่เคยทำงานในอินเดียมาก่อน แต่เคยทำงานที่เกาะบาตัมมาหลายครั้งแล้ว จึงค่อนข้างรู้จักสถานที่และลักษณะภูมิประเทศของเกาะนี้ดีพอสมควร “เดฟเดินทางจากอินเดียเข้าไปที่เกาะโดยตรงก่อนผมไม่นาน และผมเป็นทีมงานคนแรกๆที่ไปถึง ทำการเก็บตัวตามมาตรการป้องกันโควิดจนพ้นระยะแล้ว ก็เริ่มงานหาสถานที่ถ่ายทำในเกาะทันทีร่วมกับ เดฟ ที่ Infinite Studio เป็นโรงถ่ายทำภาพยนตร์ที่มี Backlot และ Soundstage อยู่ ดังนั้นงานหลักในช่วงแรกคือการวางแผนว่า ฉากไหนจะสร้างในสตูดิโอ ฉากไหนจะเตรียมเพื่อถ่ายทำในสถานที่นอกสตูดิโอ ในแง่การหาสถานที่ถ่ายทำหนังเป็นงานที่หนักมาก ในช่วงต้นของการเตรียมงาน ในบางฉาก เช่น หมู่บ้านในวัยเด็กของ ‘Kid’ เรารู้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าเราจะหาได้แต่หุบเขา ส่วนตัวบ้านเรือนแบบอินเดียนั้นต้องสร้างขึ้นมาทั้งหมด

...

“การหาอุปกรณ์แต่งฉากมีการวางแผนที่ทางทีมอินเดียจะจัดส่งมาทางเรือตรงจากบอมเบย์มาที่เกาะส่วนหนึ่ง ส่วนที่หาได้ในอินโดนีเซียก็จะมีการจัดส่งมาทางเรือจากจาร์กาตา รวมทั้งหลายอย่างที่สร้างขึ้นใหม่ที่บาตัม เช่นยานพาหนะแบบของอินเดีย” ส่วน การควบคุมงานสร้างและใช้บริการทีมงานท้องถิ่นเป็นอย่างไร เจ้าตัวเผยว่า “คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโปรดักชันดีไซเนอร์คือคนสร้างฉาก แต่จริงๆแล้วงานอาร์ตไดเรกชันมันไม่ได้มีแค่ฉาก มันยังมีการตกแต่งที่จริงในการถ่ายทำ การสร้าง การดัดแปลงสถานที่จริง ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนของงานฝ่ายศิลปกรรม ก็จะต้องมีการพูดคุยโดยตรงกับฝ่ายคอสตูม และผู้กำกับภาพเพื่อกำหนดทิศทางเรื่องการจัดแสงต่างๆ รวมถึงคุยกับ visual effect supervisor เพราะหนังแบบนี้มันต้องมีการไปทำเอฟเฟกต์ต่อจากงานของเรา”

และก่อนปิดการสนทนา พวัสส์ ให้คำตอบกับคำถามที่ว่า เมืองไทยจะเติบโตงานสายโปรดักชันดีไซเนอร์ได้ขนาดไหน “สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าเขาพัฒนากันเร็วมากอยู่แล้วครับ ด้วยความรวดเร็วในการเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ โอกาสก็มีมากขึ้น แล้วประเทศเราก็เป็นฮับของคนสร้างหนังทั่วโลก ดังนั้น โอกาสที่โปรเจกต์ต่างๆจะหมุนเวียนผ่านเข้ามาจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่สำคัญคือ ผมคิดว่าอยากให้ทุกคนมองทุกโปรเจกต์เป็น career path ต้องทำทุกงานให้ออกมาดี เพราะทุกๆงานจะส่งผลต่องานต่อๆไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆในแง่องค์ความรู้คงเรียนเท่าทันกันได้หมด แต่การทำงานเป็นระบบสากลก็สำคัญ เช่น เรื่องของเวลา การสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์โดยตรง แต่มันเป็นกระบวนการในอุตสาหกรรมที่ต้องให้ความสำคัญพอๆกับงานคราฟต์ ซึ่งมันมีส่วนสำคัญอย่างมากและเราสามารถพัฒนากันได้ครับ”.

เรื่อง: ศุภางค์ภัค เศารยะพงศ์

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่