โฆษณาแต่ละสินค้าทางโทรทัศน์นั้น จะสั้นๆไม่กี่สิบวินาทีที่ออกอากาศ จึงเป็นโจทย์หินของผู้สร้างสรรค์งานโฆษณาว่า ทำอย่างไร จะสร้างสรรค์ได้กระชับ ได้สาระ และติดหูติดตาผู้บริโภค

ชมปั๊บเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อสารทันที

ที่สำคัญคือ จดจำแบรนด์ ตลอดถึงเนื้อหาของสินค้าได้แบบไม่กังขา สับสนกับ ยี่ห้ออื่น??

ด้วยเงื่อนไขนี้ ความจริงที่ได้รับจากสปอตโฆษณาต่างๆ จึงเป็นเรื่องราวที่นำเสนอ ไม่ครบถ้วน ภาษาบ้านๆเรียกว่า พูดความจริง ครึ่งเดียว อีกครึ่งให้จินตนาการเอาเอง

ยาทุกชนิดและสิ่งที่เกินจริง “ห้ามโฆษณา”

ในส่วนของยาจะยกเว้น เพียงยาสามัญประเภทพาราเซตามอล อาจโฆษณาได้...

เซียนการตลาดจึงเลี่ยงออกมาใช้โฆษณาแฝง เช่น การรีวิว การบอกต่อ เป็นไดอะล็อกในบทละครทีวี ให้ตัวละครเป็นผู้ใช้ในเรื่องราวนั้นๆ

การโฆษณาประกันชีวิต ก็เข้าข่ายพูดความจริงครึ่งเดียว ไม่เสนอในรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ!!

สปอตโฆษณาของบริษัทประกันบางแห่ง เนื้อหาจึงค่อนข้างเทาๆ เพราะดูง่าย “ตอนสมัคร”

แต่ตอนคุ้มครองนั้น มีขั้นตอนตามกฎหมายหลายประการที่ไม่ง่ายตอนเคลมเหมือนโฆษณา!!

หน่วยงานที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคมีจริง แต่สูตรสำเร็จของราชการมักอ้างว่า เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ส่อให้เห็นถึงโครงสร้างระบบและการบริหารจัดการบกพร่อง!!

งานใดต้องใช้คนเยอะ บุคลากรกลับไม่ค่อยมี งานใดที่สบาย เจ้าหน้าที่กลับมีมากจนล้น สุมศีรษะกันอยู่

งานใดได้หน้า ได้กระแส ได้ออกสื่อ บุคลากรจะไม่ขาดแคลน

ยกตัวอย่าง การไล่ล่าเฟกนิวส์ทางการเมืองแบบไม่จำเป็น กลับมีกำลังพลเหลือเฟือ!!

สรุปดื้อๆสั้นๆว่า บ้านเมืองใดเรียงลำดับ ความสำคัญของงานยังไม่เป็น ระบบก็จะสับสน

...

สุดท้าย...ผู้บริโภคคือ ประชาชนก็เสียผลประโยชน์!!

“สันติพงษ์ นาคประดา”

‘‘แจ๋วริมจอ’’
jaewrimjor@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “ทีวีบันเทิง” เพิ่มเติม