แฟนๆขา ประจำลุ้นหวยรวยเบอร์แทบจะทุกงวดจะมี “เลขเด็ด” ที่เกี่ยวกับ “แม่ผึ้ง” พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่งของประเทศไทยให้ลุ้นอยู่ตลอด หากย้อนไปเมื่อครั้งครบรอบ 30 ปีแห่งการจากไปในปีที่แล้ว...เลขทั้งหมดที่ขายดีก็จะมี 13, 30, 31, 61, 04
ปีนี้...วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ครบรอบการจากไป 31 ปี “ราชินีลูกทุ่ง” แม้แม่ผึ้งจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ก็มีความพยายามการจดจำอันยอดเยี่ยม ทำให้ “พุ่มพวง” เจิดจรัส จนเป็นลูกทุ่งสาวคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวทีหรู โรงแรมดุสิตธานี
บนเส้นทางความฝัน “รำพึง จิตรหาญ” หรือ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” เกิดเมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ.2504 เป็นลูกคนที่ 5 ของครอบครัว จากเด็กน้อยที่ร้องเพลงในไร่อ้อย ระหว่างช่วยครอบครัวทำงาน เสียงร้องที่อ่อนหวาน ทำให้พ่อเห็นแวว จนพาเธอไปแข่งขันตามเวทีประกวดตั้งแต่อายุ 8ขวบ
โดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย”
...
จากเสียงร้องอันแว่วหวานทำให้ “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย” กวาดรางวัลทุกการประกวด พ่อจึงพาไปฝากเป็นลูกบุญธรรม “ราชาเพลงแหล่” ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เมื่ออายุ 15 ปี และได้อัดแผ่นเสียงเพลงแก้วรอพี่ ก่อนครูมนต์เมืองเหนือเห็นแวว จึงได้นำมาปลุกปั้นให้เจิดจรัส ด้วยชื่อ พุ่มพวง ดวงจันทร์
บนเส้นทางที่ต้องไต่เต้าไปสู่ราชินีลูกทุ่ง ช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ โดยร้องเพลง “รักไม่อันตราย” แก้เพลงของนักร้องรุ่นพี่คือ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ที่ร้องเพลง “รักอันตราย”
ความล้มเหลวครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญ ทำให้สาวจากไร่อ้อยต้องยุบวงดนตรี แต่ยังไม่คิดหันหลังให้แสงไฟหรือกลับคืนบ้านนาดั่งเพลงที่ร้องไว้ กระทั่ง “นายห้าง” ประจวบ จำปาทอง สนับสนุนทำให้เริ่มมีเพลงติดหูคนฟัง และต่อมาได้ร่วมตั้งวงดนตรีกับรุ่นพี่จากเมืองสุพรรณคือ “เสรี รุ่งสว่าง”
แม้ว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไปจะทำให้กระแสเพลงลูกทุ่งลดบทบาทลง ถูกแทนที่ด้วยเพลงสตริง ทว่า...“พุ่มพวง” จากที่เคยมีเพลงหวาน เช่น สาวนาสั่งแฟน คนดังลืมหลังควาย ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการลูกทุ่ง ด้วยทำนองเพลงป๊อปและเนื้อเพลง ตามแบบฉบับสาวยุคใหม่ ที่พร้อมจะต่อปากต่อคำ...จีบฝ่ายชาย
...ไม่เขินอายเหมือนยุคก่อน ดังเช่นเพลงหนูไม่รู้, หนูไม่เอา, พี่ไปดู หนูไปด้วย, ขอให้รวย
13 มิถุนายนนี้ ครบ 31 ปี การจากไปของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีการจัดงานรำลึกที่ “วัดภาษี” เอกมัย และอีกที่ “วัดทับกระดาน” จ.สุพรรณบุรี ความพิเศษปีนี้ มีการตั้งหุ่น “แม่ผึ้ง” ใหม่เป็นตัวที่ 13 พร้อมไขปริศนา ทำไมต้องแก้บนด้วยโต๊ะเครื่องแป้งตามความเชื่อและโต๊ะเครื่องแป้งนำไปไหน
ด้วยความที่ปีนี้เป็นปีที่ 31 ของการจากไป เลยมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี การจัดงานเป็นธรรมเนียมในวันแรกๆจะมีการจัดงานประกวดร้องเพลง ส่วนคอนเสิร์ตมีด้วยกัน 3 เวที ด้วยมีศิลปินกว่า 300 ท่าน แจ้งความจำนงในการเดินทางมาร่วมแสดงตลอดงาน 9 วัน 9 คืน
แต่ละวัน...ยังคงเนืองแน่นไปด้วยประชาชน แม้จะเป็นวันทำงานตามปกติ แต่ก็ยังมีคนเดินทางมากราบไหว้ขอพร รวมถึงเขย่าเซียมซีเสี่ยงทายหาเลขเด็ดกันไม่ขาดสาย
นับรวมไปถึงมีผู้นำสิ่งของมาแก้บนกันมากมาย แต่ในงานที่จะเห็นมากเป็นพิเศษคือประชาชนที่มาไหว้พุ่มพวง มักจะแต่งกายด้วยชุดลายเสือเพื่อมากราบเคารพพุ่มพวง โดยมีกลุ่มหนุ่มสาวเดินทางจากกรุงเทพฯแต่งกายด้วยชุดลายเสือ บางคนใส่เสื้อลายเสือ บางคนใส่กางเกงลายเสือมาเที่ยวงาน
...
ถามไถ่มักได้ความว่า ทุกๆคนนัดกันแต่งชุดให้มีลายเสือมา เพราะแม่ผึ้ง พุ่มพวงชอบ เลยใส่มาไหว้
แน่นอนว่าบรรยากาศจะยิ่งคึกคัก แฟนเพลงค่อนข้างตื่นตัวมาก ในการมาร่วมรำลึกการจากไปครั้งนี้
“วัดทับกระดาน” จุดที่แฟนเพลงนิยมมาไหว้เพื่อรำลึกถึงพุ่มพวง ดวงจันทร์ คือจุดตั้งหุ่นที่ 1, 2, 4, 5 ภายในวัดโดยมีหุ่นแม่ผึ้ง ตั้งไว้ทั้งหมด 13 จุด กระจายอยู่ทั่วบริเวณวัด
สำหรับ “หุ่นตัวที่ 13” เป็นตัวสุดท้าย ที่น้องสาวและลูกของแม่ผึ้งสร้างขึ้นมาใหม่ จึงมีความสวยงาม ขณะที่พื้นที่ในการตั้งหุ่นเป็นเงินที่ได้รับจากการบริจาคของแฟนเพลง จนทางวัดสามารถซื้อพื้นที่ส่วนนี้ได้ 6 ไร่ นำมาทำเป็นสถานปฏิบัติธรรม ถือว่าเป็นสถานที่แห่งความรักและศรัทธาต่อพุ่มพวง ดวงจันทร์
น่าสนใจว่าทุกจุดที่ตั้งหุ่นภายในวัดล้วนมีความผูกพันกับแม่ผึ้ง ยกตัวอย่างเช่นจุดที่ 1 บริเวณต้นไทร เป็นจุดที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ เคยมาเล่นคอนเสิร์ตเมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่
น่าสนใจว่าด้วยความศรัทธาที่มีต่อ “พุ่มพวง” ทำให้ผู้คนเดินทางมาขอพรให้สมปรารถนาในหลายๆเรื่อง แน่นอนว่าเมื่อสำเร็จสมดังหวังตั้งใจแล้วก็กลับมาแก้บน โดยมีเครื่องสำอาง เสื้อผ้า
...
แต่...สิ่งที่มีจำนวนมากคือ โต๊ะเครื่องแป้ง กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจากการบอกปากต่อปากของคนที่มา ว่าแม่ผึ้งมีอุปนิสัยรักสวยรักงาม เลยมีการนำโต๊ะเครื่องแป้งมาแก้บน พอนานเข้ามีจำนวนมาก คนทั่วไปที่มาแก้บนก็อยากมอบสิ่งของที่มีขนาดใหญ่ เมื่อสมปรารถนาเลยทำให้วัดมีโต๊ะเครื่องแป้งจำนวนมาก
นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ก็มีคนนำโต๊ะเครื่องแป้งมาแก้บนจำนวนมากแล้ว โดยมีขนาดและรูปแบบแตกต่างกันออกไป ซึ่งคนที่นำมาแก้บนจะมีการเขียนชื่อตัวเองไว้ด้านหลังเพื่อเป็นบุญกุศล ในการมอบให้กับวัด
ด้วยความที่มี “โต๊ะเครื่องแป้ง” จำนวนมาก ทางวัดมีการบอกกล่าวแม่ผึ้งก่อนทุกครั้ง ในการนำโต๊ะเครื่องแป้งไปจำหน่ายแก่ผู้สนใจ โดยนำเงินที่ได้มามอบเป็น “ทุนการศึกษา” ให้กับนักเรียนยากไร้ ในช่วงครบรอบวันเสียชีวิตทุกปี
ฝากไว้ว่าแฟนเพลงที่จะนำโต๊ะเครื่องแป้งมาแก้บนสามารถนำมาไว้บริเวณที่ตั้งหุ่นตัวที่ 1 และจุดที่ 2 ซึ่งจะมีสถานที่กว้างขวางสามารถตั้งได้ แต่ไม่ให้นำมาตั้งจุดที่ 13 เนื่องจากมีสถานที่คับแคบ และเป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรม
...
พลิกแฟ้มปูมประวัติ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากมีชื่อเสียงก็กลับเก็บตัวเงียบห่างหายจากเวที จนวันที่ 20 มีนาคม 2535 ได้เดินทางจากเชียงใหม่ เพื่อเข้ารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลที่จังหวัดจันทบุรี ต่อมาได้ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช...แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเอสแอลอี
หรือ...โรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการขั้นรุนแรงลุกลามไปถึงไต
ด้วยอาการป่วยทรุดหนักจึงตัดสินใจออกจากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อไปรักษาตัวด้วยแพทย์ทางเลือกที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงที่หมายได้แวะกราบพระพุทธชินราชในช่วงบ่าย หลังจากนั้นเกิดอาการช็อกหมดสติ ญาติได้นำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้
“พุ่มพวง”...ราชินีลูกทุ่ง จึงจากไปเมื่อเวลา 20.55 น. วันที่ 13 มิถุนายน 2535 ด้วยวัย 31 ปี และในปีนี้ก็เป็นปีที่ครบรอบการจากไป 31 ปีพอดิบพอดี.