โลดแล่นในวงการเพลงสู่ปีที่ 19 นับตั้งแต่เพลงแรก “กอดตัวเอง” วง Lipta (ลิปตา) ของ 2 หนุ่มอารมณ์ดี คัตโตะ-อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล และ แทน-ธารณ ลิปตพัลลภ เติบโตสู่บทบาทใหม่กับการทำค่ายเพลง Kicks Records (คิกส์ เรคคอร์ดส) ซึ่งก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 ปั้น 3 ศิลปินในค่าย “Jeanius (จีเนียส)-โนวา มาคูก์เลีย” และ “Bent (เบนท์)-กิตติธัช พรดอนก่อ” และ “Guncharlie (กันชาร์ลี)-เสฐพงษ์ เอวสุข” ที่ทั้ง 2 หนุ่มทุ่มเทดูแลน้องๆ ในค่ายเต็มที่เปรียบเหมือนคุณพ่อของเด็กๆ และยังคงปรับตัวให้ “ลิปตา” ก้าวต่อไป ซึ่งปีที่ผ่านมาเพลง “ทักครับ” ฟีเจอริง Guygeegee เป็นเพลงไวรัลสุดฮิตแห่งปี เลยชวนทั้งแทนและคัตโตะเปิดมุมมอง ณ วันนี้ เริ่มจาก
การทำค่ายเพลง Kicks Records ของตัวเอง?
คัตโตะ “ก็สนุกดีครับ เหมือนมันมีอะไรที่ได้เรียนรู้อีกแบบมากกว่าความเป็นศิลปิน พอมาทำตรงนี้ก็เหมือนเริ่มใหม่ ซึ่งสนุกดี ชีวิตก็ได้หาอะไรใหม่ๆทำ”
เราเห็นตรงกันตรงจุดไหนว่าอยากทำค่าย?
คัตโตะ “มันเหมือนเป็นสเตจต่อไปของชีวิต เราจบประถมก็ต้องต่อมัธยม แล้วก็มหาวิทยาลัย และเป็นสิ่งที่เรามีความรู้ตรงนี้เราก็ควรทำสิ่งที่เราถนัด เป็นสิ่งที่เราทำมานานแล้ว และควรจะต่อยอดไป พอได้เริ่มทำมันก็สนุกดีนะ”
แทน “จริงๆคัตโตะเคยชวนผมมาประมาณ 5 ปีแล้ว แต่ผมยังไม่ชัวร์กับตัวเองในหลายๆอย่าง และเหมือนเราเพิ่งเริ่มมาโปรดิวซ์งานเยอะๆ เช่น ทำอิ้งค์-วรันธร และพอมันเริ่มประสบความสำเร็จ มันเริ่มเห็นจุดหมายบางอย่าง โอเคมันเลยเริ่มมั่นใจขึ้นนิดนึง และเป็นช่วงโควิด-19 พอดี เป็นช่วงที่อยู่กับตัวเองเยอะ คิดเยอะ เลยได้เริ่มทำค่ายกันมาตอนโควิด-19”
...
เริ่มอะไรใหม่ๆในช่วงที่ทุกอย่างชะงักช่วงโควิด–19?
แทน “ใช่ครับ ผมว่าพอเราเริ่มทุกอย่างตอนที่อะไรมันลงสุดก็เป็นอะไรที่ดีนะ เรามีเวลากับมัน ผมรู้สึกว่าการทำค่ายเพลงหรือการทำศิลปินใหม่ 3 คน มันเป็นระยะยาวและเป็นการเดินทาง มันจะไม่ได้วัดกันที่เพลงแรกหรือปีแรก มันวัดกันเป็น 3 ปี 5 ปี เพราะฉะนั้นผมเลยคุยกับคัตโตะว่ามันคือการเลี้ยงลูก มันคือการค่อยๆดูเค้าเติบโต”
พอเริ่มทำค่าย มองหาศิลปินมาแมตช์กับเรายังไง?
คัตโตะ “หลักๆเลยผมให้แทนเลือกนะ ผมมีความคิดของผมอยู่เหมือนกันแต่ผมให้แทนเลือกเพราะผมเชื่อแทน ให้แทนลองเลือกมาและผมก็บอกว่าผมชอบหรือไม่ชอบเฉยๆ เพราะจริงๆผมมีภาพที่ผมอยากได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ตรงกับแทน แต่ผมรู้สึกว่าให้แทนเป็นคนเริ่มก่อนและผมโอเคก็ค่อยเริ่มกัน”
หันมาถาม “Bent (เบนท์)–กิตติธัช พรดอนก่อ” ศิลปินเบอร์ที่ 2 ของค่ายว่าทำงานกับลิปตาเป็นอย่างไรบ้าง?
เบนท์ “เหมือนกับพี่คัตโตะบอกครับว่าเราเริ่มจากประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ตอนนี้เบนท์ก็เป็นระดับอนุบาลอยู่ เทียบไม่ได้กับที่พ่อๆทำงานมาเกือบ 20 ปี เบนท์ก็เหมือนเริ่มเรียนรู้ในวงการเพราะก่อนหน้านี้ทำเองคนเดียวหมด พออยู่ค่ายเราได้รู้ว่าการทำเพลงมันไม่ได้ทำแค่คนเดียว มีบุคคลที่ช่วยกันเยอะมาก ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้ปรับตัว มันก็สนุกมีความสุข ทุกวันนี้พ่อๆเลี้ยงดีมาก ก็อย่างที่เค้าบอกว่าเหมือนเลี้ยงลูก”
2 หนุ่มมีอะไรในความเป็นศิลปินที่ได้รับการถ่ายทอดมาบ้าง?
เบนท์ “พี่ 2 คนก็จะต่างสไตล์กัน พี่คัตจะแนวสนุก พาไปเจอผู้ใหญ่ พาไปออกงานต่างๆ อยากให้เจอคนเยอะๆงานเยอะๆและเวลาที่เราไปเล่นดนตรีด้วยกัน พอเล่นเสร็จทุกครั้ง พ่อๆก็จะให้มานั่งคุยว่าเป็นยังไงบ้าง วันนี้ทำอะไรไปบ้าง รู้สึกยังไง มีอะไรที่สามารถบอกผมได้ก็บอกทันที ส่วนพี่แทนก็เหมือนกันดูแลเหมือนพ่อเลย”
เอาประสบการณ์ความเป็นศิลปินถ่ายทอดเด็กๆในค่ายยังไงบ้าง?
แทน “จริงๆก็พยายามพาน้องๆไปเล่นคอนเสิร์ตด้วย พอน้องๆเริ่มเป็นศิลปินมา งานบางงานอาจจะยังไม่ได้ไปเล่นในฐานะที่เป็นเค้า เราก็จะพาเค้าไปแจมบ้างในงานใหญ่ๆอย่างบิ๊กเมาเท่น ซีซัน ออฟ เลิฟ ผมว่าการที่เค้าได้มาอยู่บนเวที ได้เห็นรีแอ็กชันของคนดูและวิธีการที่เราแก้ปัญหากันบนเวทีเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น มันก็เป็นสิ่งที่ดีที่เค้าจะได้ไปปรับใช้แม้กระทั่งการทำเพลง วิธีการโปรโมตยังไง ใช้วิธีคิดยังไง เค้าก็ได้มาเห็นและไปปรับใช้”
...
คัตโตะ “สิ่งที่ผมชอบมากเวลาเราพาเค้าไปเรียนรู้อะไรบางอย่าง เราจะไม่บอกให้เค้าทำเหมือนเรา แต่คือพาเค้าไปเรียนรู้ว่ามันมีโลกแบบนี้อยู่ มัน A B C ถึงเวลาจริงๆคุณก็ไปหาทางของคุณเองว่าทางที่คุณจะต้องใช้ เราก็ช่วยแนะนำอุปกรณ์และวิธีการแต่ถึงเวลาคุณต้องหาสไตล์ของตัวเองว่าเพลงมันคืออะไร หรือวิธีทำโชว์ของตัวเองจะเป็นยังไง เหมือนคุณต้องต่อจิ๊กซอว์ให้ตัวเอง”
แล้วความเป็นพ่อๆของศิลปินล่ะ เป็นยังไงบ้าง?
คัตโตะ “ก็ดูแลพวกเค้าอย่างดีครับ จริงๆต้องบอกว่าลิปตาเป็นวงที่ค่อนข้างอินดิเพนเดนต์มาก หมายความว่าเราไม่ได้มีเพื่อนเยอะ เราอยู่ของเรากันเอง ทีนี้พอมีคนที่เข้ามาทำงานกับเรา มีเด็กๆเข้ามาเราก็รู้สึกว่ามันเป็นครอบครัวใหม่ที่เราต้องให้เวลาด้วย เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากได้จริงๆตอนเป็นศิลปินก็คืออยากได้เวลา นี่เป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นการให้เวลาก็เลยเป็นสิ่งสำคัญ ก็พยายามเติมสิ่งนี้เข้าไป ชวนมาเจอกัน มากินข้าวกัน อยากให้มีเวลาตรงนั้นเยอะๆ ให้ไปดูไปมีประสบการณ์เยอะๆนี่คือการเรียนรู้”
แทน “จริงๆน้องๆทั้ง 3 คนในค่ายก็มีความเป็นตัวเองที่ไม่เหมือนกัน มันเหมือนต้นไม้ที่เติบโตอย่างที่คัตโตะบอกว่าแต่ละคนก็ต้องมีเวย์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะไม่พรวนดินหรือรดน้ำเหมือนกันทุกคน มันจะต้องมีเวลาของแต่ละคน และเราก็จะต้องดูทั้ง 3 คนให้ได้ ให้เค้าไปทางที่เค้าควรจะไปได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นมันก็ยากเหมือนกัน พอเราเริ่มทำค่าย นอกจากแค่ศิลปิน มันมีเรื่องของทีมงานเบื้องหลังหรือวิธีการที่เราจะพาค่ายทำยังไงให้ไม่ขาดทุน และเป็นธุรกิจอีกรูปแบบนึงซึ่งผมกับคัตโตะก็ลงมาดูเองด้วยบริหารตลอดเวลา เล่นคอนเสิร์ตด้วยกันก็เยอะแล้ว ปีนี้มีเรื่องค่ายมาอีก มันเลยต้องทำงานกันเยอะขึ้นอีก”
...
ความเป็นลิปตา ณ วันนี้ล่ะ?
แทน “ผมแฮปปี้มากที่มันยังอยู่ แล้วพวกเราเองก็ทำงานกันอย่างหนัก ผม
เชื่อว่าการที่เรามีค่ายและมีน้องๆ ลิปตาก็ต้องทำตัวเองให้มันยังอยู่ได้ ผมรู้สึกว่าการที่เราจะสอนน้องๆถ้าเราไม่ทำให้เค้าดู มันก็ไม่ใช่ และเราก็รู้สึกว่าในปีนี้ในอายุ 19 ขวบหลายๆวงเค้าก็พักกันไปเยอะแล้ว เราก็เป็นหนึ่งในวงที่ยังอยู่และเราก็ยังสนุกอยู่และอย่างปีที่ผ่านมาเรามีเพลง “ทักครับ” ที่ทำให้เราได้ไปคอนเนกต์กับแฟนๆใหม่ๆทั้งติ๊กต่อก ทั้งเด็กๆ ลูกๆหลานๆ เพราะ ฉะนั้นมันเลยถือว่าเป็นการเปิดโลกใหม่ๆ เราก็แฮปปี้ครับแต่ก็ต้องทำงานหนัก มันก็ใช้เวลากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้”
มองกระแสของเพลง “ทักครับ” ตอนนั้นยังไง?
คัตโตะ “จริงๆลิปตามีภาพสนุกเสมอ พอเราทำเพลงเศร้าไปสักพัก เราก็บอกแทนว่าเราต้องสนุกแล้ว ทุกครั้งเราก็ต้องมีช็อตมาทำเพลงสนุกๆ”
แทน “จริงๆผมมองว่าทักครับมันก็คล้ายเพลงเดิมๆที่เราเคยทำมา แต่ผมว่าวิธีการแต่งตัวมันอาจจะเปลี่ยน อย่างท่าเต้น จริงๆเราก็มีท่าเต้นในเพลงก่อนๆนะ แต่เพลงมันไม่ได้ดัง ท่าเต้นเราก็บรีฟกันว่าเราให้คนเต้นห่วยๆอย่างผมและคัตโตะเต้นได้ เราก็ไม่ได้ว่าต้องเข้าคลาสเต้นอะไรหนัก ก็พอมีให้เหมาะกับยุคสมัย แล้วก็ค่อยๆทำ ซึ่งทักครับ ก่อนที่จะดัง มันก็ค่อยๆวิ่งไป ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนกว่าๆที่มันจะบูมขึ้นมา น่าจะในตอนหลังสงกรานต์ของปีที่ผ่านมา ประจวบกับช่วงที่ประเทศเปิดเราก็เลยทำงานเยอะ แต่มันเป็นการที่ผมกับคัตโตะก็ไม่หยุด ปล่อยเพลงแล้วก็ใส่ไปต่อ แล้วก็โชคดีที่คนชอบ”
...
เกินความคาดหมายมั้ย?
“ก็ประมาณนึงแต่สุดท้ายแล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นเพลงเรา และเราก็ทำเพลงประมาณนี้ที่มีแร็ปเปอร์มาฟีท 4-5 เพลงแล้ว แต่กระแสมันอาจจะมาเข้ากับแอปพลิเคชันและไลฟ์สไตล์บางอย่างเลยเกิดสิ่งที่ฮิตขึ้นมา”
คัตโตะเคยบอกว่ามันอาจจะหมดยุคของวงเรา เราปรับตัวยังไง?
คัตโตะ “ใช่ครับ ผมมองว่าเวลาของศิลปินมันไม่ได้มีได้ตลอด สำหรับเรา เรารู้สึกว่า จากวันนึงคุณเคยเป็นเพื่อนพระเอก เวลามันผ่านไป เราไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนพระเอกก็ได้ เป็นตัวร้ายก็ได้ จะเป็นตัวสนุกสนานก็ได้แต่มันก็ยังอยู่ในเรื่องเรื่องนึง ต้องยอมรับการเรียนรู้การเล่นในบทบาทของตัวเองที่มันสนุกขึ้นและเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆที่มันเข้ามา ผมก็เคยคุยกับแทนว่าศิลปินยุคนี้ก็มีความยากอีกแบบ สมัยก่อนก็ยากอีกแบบ สมัยนี้ต้องเล่นติ๊กต่อก ผมเชื่อว่าหลายๆคนอาจจะไม่ยอมเล่น แต่ถ้าเกิดเรามองมันเป็นอุปกรณ์นึง เราก็แค่จอยไปกับมัน อะไรที่เราทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ไหวก็ไม่ต้องทำ เปิดใจกับมันก็สนุกดีและไปได้ ทุกปีก็ต้องปรับตัว ปีนั้นเล่นทวิตเตอร์ ปีนั้นเล่นไอจี หัดตัดคลิป ทำยูทูบ Vlog แต่ละปีก็มีงานใหม่ๆเสมอ เป็นเรื่องดีที่จะต้องเรียนรู้ปรับตัวตลอด อย่างเราเองเราก็เคยมีนะปีที่เราอยู่กับที่แล้วมันก็ไม่เวิร์ก เพราะฉะนั้นผมว่าแต่ละปีก็เรียนรู้และสนุกกับมัน”
รีวิวการเดินทางใน 19 ปีของวงลิปตาถึงวันนี้หน่อย?
คัตโตะ “ตอนนี้เหรอ สำหรับลิปตาน่าจะท้ายๆแล้วเหมือนกันนะ มันก็มีอย่างอื่นที่ต้องทำเยอะ เอาเวลามาดูน้องๆเยอะขึ้น บางอย่างเราอาจจะเคยเห็นแล้วแต่พวกเค้าไม่เคยมาเราก็ต้องพาไป เหมือนเราพาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ เมื่อมีคนยังไม่เคยไปเราก็ต้องตื่นแต่เช้า และก็อาจจะไปดูเรื่องบริษัทเยอะขึ้น แต่ลิปตาก็เตรียมมีเพลงใหม่ รวมทั้งศิลปินใหม่ในค่ายครับ”
แทน “19 ปี ผมเข้าใจว่าความเป็นกราฟของศิลปินมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องธรรมดามาก เราก็รู้สึกว่าเราอยากให้ตัวเองแก่แบบที่เราจะอยู่กับมันไปได้เรื่อยๆ อย่างที่คัตโตะบอก เราอาจจะไม่ได้มี 20-30 งานต่อเดือน แต่ท้ายที่สุดอีก 5-10 ปี อาจจะเล่นงานละ 4-5 เดือน หรืองานเปลี่ยนเป็นแบบอื่นแต่สุดท้ายเรายังอยู่กับดนตรี เรายังได้เล่นคอนเสิร์ตบ้าง ผมว่ามันก็เติบโตแบบที่ควรจะเป็น การเป็นศิลปินอาจจะน้อยลง การบริหารมากขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในอุตสาหกรรมเพลงก็โอเคครับ”.
เรื่อง: สุภลัคน์ วุฒิกรีธาชัย