กับชีวิต 7 ปีที่ไม่มีคอนเสิร์ตใหญ่ นักร้อง นักดนตรีและนักแต่ง เพลงมากความสามารถ “แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข” กลับมาพร้อมกับความคึกคักของบรรยากาศวงการเพลงในเมืองไทย เตรียมจัดคอนเสิร์ตใหญ่ในรอบ 7 ปีกับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่ 3 ที่จะอัดแน่นไปด้วยความพิเศษกว่าทุกครั้งใน “แสตมป์ ด้วยรักและแอบดี” วันเสาร์ที่ 24 ก.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี จัดโดยไลฟ์ เนชั่นเทโร

งานนี้แสตม์เผยความพร้อมเตรียมหอบทุกความพิเศษมาโชว์แบบแน่นๆ เพลงจากทุกอัลบั้มที่สร้างสรรค์มากว่า17 ปี พร้อมแขกรับเชิญคนสำคัญที่จะมาร่วมสร้างสีสันความสนุก และยังอัปเดตชีวิตเติบโต ณ ตอนนี้

เล่าถึงคอนเสิร์ตใหญ่ “แสตมป์ ด้วยรักและแอบดี”?

“รู้สึกว่าชีวิตเดิมกลับมาแล้วหลังไม่ได้เล่นดนตรีมา 2 ปีกว่า และคอนเสิร์ตใหญ่ก็กลับมาแล้วไม่ได้เล่นมา 7 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ผมฝันตลอดว่าอยากกลับไปแสดงคอนเสิร์ตที่อิมแพ็ค อารีน่า อีกสักครั้ง อยากทำสิ่งที่ติดค้างคาอยู่ในใจให้ดีขึ้นและดีที่สุด”

...

บอกว่ากลับมาทวงคืนอิมแพ็ค ยังติดค้างอะไรอยู่?

“ตอนนั้นปี 2015 ผมรู้สึกว่าเป็นช่วงที่ผมจิตใจไม่ปกติ มีความเครียดความเศร้า ความไม่เข้าใจตัวเอง พอเราผ่านมา เราโตขึ้น เราทำบริษัทเอง ทำงานเอง เลยพบว่าเราปกติแล้ว เราโตขึ้นอะไรหลายๆอย่างผ่านไป เลยรู้สึกว่าตอนนี้เราน่าจะได้เล่น อยากจะเล่น รู้สึกว่าตัวเองน่าจะทำได้ดีกว่านั้น ก็เลยกลับมาด้วยรักและแอบดีครับ ซึ่งเพลง “แอบดี” ผมไม่เคยหยิบมาเล่นในงานใหญ่ๆ พอทำเพลงนี้มาแล้วดังปุ๊บก็เจอโควิด-19 เลย ส่วนชื่อคอนเสิร์ตได้จากคนในแฟนเพจช่วยกันตั้งสนุกมาก มีชื่อที่น่ารักและสร้างสรรค์เยอะมากและช่วงนั้นหนังเรื่องธอร์ :ด้วยรักและอัสนี กำลังเข้าฉายพอดี เลยรู้สึกว่าเป็นชื่อที่ติดปากชื่อนี้แหละ และเพลงแอบดี ให้ความรู้สึกเหมือนเพลงความคิดของยุคก่อน คือเพลงฮิตในยุคถัดมาของผม ถ้าเรากลับมาด้วยคำว่าด้วยรักและแอบดีน่าจะเป็นการอัปเดตตัวเราด้วย คิดว่าเป็นคอนเสิร์ตที่น่าจะสนุก”

เป็นศิลปินประสบการณ์สูง พอทำคอนเสิร์ตใหญ่ในเวลานี้แบกความกดดันกว่าเดิมมั้ย?

“ผมว่าผมตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปได้แล้ว เมื่อก่อนไปโฟกัสสิ่งที่คอนเสิร์ตอื่นเค้ามีกันแล้วเราต้องมี แต่พอเล่นแล้วทำให้รู้ว่าเราไม่ต้องมีก็ได้นี่ (ยิ้ม) เช่น การโชว์ประหลาดๆ การพูดเยอะๆยาวๆ เราเล่นดนตรีที่เหมาะกับเรา พูดในปริมาณที่พอเหมาะ เรียงเพลงแบบที่คิดว่าแฟนเพลงเราชอบ ด้วยวัยนี้เราทิ้งความไม่จำเป็นออกไป”

สิ่งที่อยากสื่อสารผ่านคอนเสิร์ตครั้งนี้ล่ะ?

“ผมว่าแฟนเพลงน่าจะอิน ได้ฟังทุกเพลงที่อยากฟัง ผมว่าตอนนี้ผมกำลังโตเต็มวัย ตอนนั้นมันยังมีความไม่เข้าใจโลกหลายอย่าง แต่ตอนนี้เราเข้าใจมากขึ้น และตั้งใจว่าจะบันทึกการทำคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นหนังสารคดี ทั้งการเตรียมงาน เตรียมทุกอย่าง และบันทึกการแสดงคอนเสิร์ต อยากทำเก็บไว้ครับ”

เป็นช่วงชีวิตที่เรารู้สึกว่าความคิด ประสบการณ์สุกงอมดี?

“ตอนนี้รู้สึกอย่างนั้นนะ แต่ว่าผ่านไปอีก 5 ปีอาจจะรู้สึกว่าตอนนั้นเราแย่จัง แต่ยอมรับว่าก็รู้สึกดีกว่า 5 ปีก่อน ชอบตัวเองตอนนี้มากกว่าเมื่อก่อนมาก เหมือนเรารู้แล้วว่าอะไรดีกับเรา อะไรที่พอดี ไม่ใหญ่ไปเล็กไป”

แขกรับเชิญก็ว้าว ทำไมต้องเป็นคนเหล่านั้น ทั้งกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่, สิงโต นำโชค, วี วิโอเลต?

“กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ก็มาทุกงานเป็นคู่หูที่ทุกคอนเสิร์ตต้องมีเค้า ตอนนี้เค้าใหญ่โตเป็นเจ้าของบริษัท เค้ายังสละเวลามา เราเห็นชีวิตกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย รู้จักกันมา 22 ปี ส่วน สิงโต นำโชค เคยฟีเจอริงเพลงกันและไม่เคยมาขึ้นคอนเสิร์ต เค้าก็จะช่วยพูดคุยให้ทุกคนเอนจอยสนุกมากๆ และน้อง วี–วิโอเลต ตามสถิติเป็นคนที่ฟีเจอริงกับผมมากที่สุดในโลก ตกใจเหมือนกันไปๆมาๆร้องด้วยกันมา 4 เพลง น้องน่ารักมากๆ เจอกันตอนเดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ปี 2 และพอเป็นนักร้องก็ได้จับคู่มาร้องด้วยกันตลอด ตอนนี้เค้าก็โด่งดัง เท่มากๆ ก็ภูมิใจในตัวเค้าครับ และมีเซอร์ไพรส์อีก และเรียกว่าได้ดื่มด่ำกับเพลงของแสตมป์อย่างเต็มที่จริงๆครับ”

...

แสตมป์ได้เปิดประสบการณ์การทำเพลงที่ญี่ปุ่นด้วย คิดมั้ยว่าดนตรี จะพาเราไปไกลถึงขนาดนั้น?

“เอาจริงๆภาพที่เราจะได้ไปออกทีวีท่ีนั่นไม่มีในหัวเลย ล่าสุดเพิ่งไปญี่ปุ่นมาเดือนที่แล้ว ได้กลับไปรายการทีวีรายการเดิมที่เคยไปออกก่อนโควิด-19 รู้สึกว่าเค้าเอ็นดูเราดี เอ็นดูคนไทย ตอนนี้คนญี่ปุ่นอินเมืองไทยมาก ชอบซีรีส์วายของไทยมากๆ ชอบไบร์ท-วิน, พีพี-บิวกิ้น กัน”

การทำเพลงได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นก้าวสำคัญ?

“จริงๆก็จะมีแพลนทุก 3-4 เดือนให้ออกเพลง น่าจะเป็นเพลงที่ฟีเจอริงกับศิลปินญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ พอคนญี่ปุ่นชอบเมืองไทยตอนนี้ ผมก็ร้องเพลงไทยได้เลย เมื่อก่อนเราอาจจะต้องปรับความเป็นญี่ปุ่นแต่ตอนนี้ทุกอย่างเปิดกว้างขึ้นครับ”

อยากไปอยู่จุดไหนของวงการเพลงญี่ปุ่น?

“ผมอยากไปอยู่ญี่ปุ่นเลยครับ เป็นคนชอบประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว แพลนตอนแรกคืออยากไปอยู่เลยไปหาอะไรทำตรงนั้น”

เรื่องภาษาญี่ปุ่นล่ะตอนนี้พูดได้เยอะมั้ย?

“ตอนนี้พูดได้แค่สั่งอาหาร แต่ถ้าให้แต่งเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นคงยังเพราะมันยากจริงๆ ร้องยังยากเลย”

แพลนถึงกับซื้อบ้านที่ญี่ปุ่นเลยมั้ย?

“คงไม่ถึงกับซื้อหรอกครับ อาจจะไปเช่า เพราะหลายคน บอกว่ามันมีเคล็ดว่าถ้าซื้อจะไม่ค่อยได้ไป (หัวเราะ)”

...

แสตมป์ถือว่าเป็นศิลปินที่ปรับตัวตามโลกเสมอ เราอัปเดตยังไงกับโลกที่ปรับเปลี่ยนตลอด?

“จริงๆผมก็เป็นคนที่ฟรีซตัวเองพอสมควรมากกว่าคนอื่นนะ ผมก็เปิดรับอะไรใหม่ๆแต่ก็ชอบของเก่าๆ แต่ผมอาจจะชอบฟังเพลงใหม่ๆ ดูหนังใหม่ๆ จริงๆก็ไม่ได้ต้องตามกระแสทุกอย่างแต่ก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพลงอะไรออก อะไรกำลังมาแต่ไม่ได้ทำอะไรกับกระแสขนาดนั้น และผมชอบคุยกับเด็กๆว่าเค้าคิดอะไรกัน ผมว่า เด็กๆน้องๆศิลปินคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติไหนในโลก ชอบไปดูคอนเสิร์ตรุ่นน้องว่าเค้าเล่นยังไงกัน เอามาปรับใช้กับตัวเองบ้าง ผมเพิ่งคิดได้ว่า คำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนมันแทบใช้ไม่ได้แล้ว เพราะน้ำร้อนที่เราเคยอาบมันไม่มีตอนนี้แล้ว มันคนละน้ำกัน โลกที่เราเคยอยู่มันคนละใบกับตอนนี้ เท่ากับว่าสิ่งที่เราเสพมา ประสบการณ์ต่างๆเรามันเหมือนเราไปอยู่อีกดาวนึงเลย เราจะเอาชีวิตเราไปบอกเค้าว่าทำแบบนี้แล้วจะดี ทำแบบนี้สิก็คงไม่ได้ เค้าอยู่อีกโลกนึงที่เป็นอีกเรื่องแล้ว เรารู้สึกว่าเค้าต้องเอาน้ำเย็นมาบอกเรา รู้สึกว่าเราไม่ได้เก่งกว่าเค้าเลย”

การที่ปรับตัวตลอดทำให้กลุ่มของแฟนๆมีทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และแฟนต่างประเทศ?

“ล่าสุดผมเพิ่งไปเล่นงานเฟรชชี่ที่จุฬาฯมา เค้าก็ร้องเพลงเราได้ ดีใจที่เค้าเชิญเราไป แต่ผมคุยกับวงนะว่าเพลงบางเพลงเล่นที่อื่นไม่เฮ มาเฮที่นี่ หรือเพลงตามช่วงวัยที่ทันกัน อยู่ในยุคของเค้า เค้าก็จะเฮกัน งานแซยิดผมก็เคยไปเล่นนะ พอจบงานเค้าเขียนจดหมายกลับมาขอบคุณเรา ความโชคดีอาจจะเพราะเพลงเราอาจจะกลางๆ ไม่ได้ป๊อป ฮิปฮอป หรือหวานเด็กวัยใส อาจจะมีจุดที่เราพลิกตัวได้ว่าไปอยู่กับคนวัยไหนทำตัวแบบไหน เราเล่นมาหมดแล้วในงานทุกรูปแบบ ทำให้การไปญี่ปุ่นเราสนุกนะ ประมาณว่าเราเจอมาทุกแบบที่ไทยแล้ว เล่นได้ในที่ที่มันไม่ได้เหมาะสมจะเล่น เล่นในที่ที่ไม่ใช่แฟนเรา เรามีภูมิมาหมด เราก็สนุกกับมัน แต่ที่ญี่ปุ่นจะเล่นที่ที่มีคนมาดูดนตรีจริงๆ กลายเป็นว่าเราผ่านมาทุกอย่างทำให้เรามีภูมิ ผมว่างานแซยิดเล่นยากกว่าเลยไม่กลัวอะไรเลย”

...

แล้วความตื่นเต้นของการทำเพลงที่ญี่ปุ่นคืออะไร?

“มันเหมือนไปเที่ยวเหมือนกันนะ ส่วนที่ผมตื่นเต้นคือส่วนที่ผมได้เจอดาราญี่ปุ่น ช่วงที่ผมชอบที่สุดคือการได้อยู่แบ็กสเตจได้เจอศิลปินหลากหลาย หน้าเวทีก็สนุก และมีสิ่งนึงจากการไปทำงานที่ญี่ปุ่นที่มีประโยชน์ที่สุด คือศิลปินบ้านเราจะมีคำว่าค่ายเพลงเป็นแกนกลาง แต่ว่าในประเทศที่อุตสาหกรรมเพลงที่แข็งแรงในต่างประเทศ จะมีค่ายเพลงที่มีหน้าที่ทำเงินออกมาจากชื่อเสียง และมีบริษัทเมเนจเมนต์วางเส้นทางของศิลปินนั้นๆให้อยู่ได้ยืนยาว ซึ่งบ้านเรายังไม่มีคนที่เป็นผู้จัดการวง อารมณ์ที่เดินไปกับศิลปินนั้นตลอดอาชีพจริงๆ คอยแนะนำว่าทำอะไรดีหรือไม่ดี เลยทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องใหม่ เราเลยมาทำบริษัทเราเอง และทำเมเนจเมนต์ของเราเอง เป้าหมายของเราไม่ใช่การรีดเร้นเงินจากเพลงแต่ทำอย่างไรให้เราอยู่ได้นานที่สุด เราก็เอาความคิดตรงนี้ของเค้ามาใช้ ทำให้เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้เราอยู่ตรงนี้จริงๆคือเพลง เพลงที่อยู่ในคนในหลายๆยุค ได้เล่นคอนเสิร์ตไปเรื่อยๆ มันคือการคิดอีกแบบเลยจริงๆครับ”

นอกจากลุยงานเพลงไปข้างหน้า ต้องมี หลังบ้านที่ดีคือสาวนิว–จีริสุดา ภรรยา ที่ไปด้วยกันได้ทุกที่?

“ใช่ครับ อย่างเรื่องการวางเส้นทางศิลปินเค้าเป็นคนที่ค้นพบสิ่งนี้ก่อนผมอีกว่านี่ไงคือสิ่งที่เราไม่มีคือการวางเส้นทางที่ดี สำหรับผมการให้เพลงทำงานมันเหมาะกับผมที่สุด บางคนบอกว่าพอเราทำเพลงโด่งดังแล้วก็เอาเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เก็บไว้สิ แต่การที่เราไปญี่ปุ่นเราพบว่าสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดสำหรับเราคือเพลง ถ้ามันอยู่ มันมีค่ายิ่งว่าตึกคอนโดอีก มันหากินได้ ถ้ามันอยู่ในใจคนแล้วมันไม่มีวันชำรุดเก่าเลย เลยรู้สึกว่าถ้าจะลงทุนกับอะไรสักอย่าง ลงทุนกับเพลงดีกว่า”

ต้องมีคู่ชีวิตที่คิดไปในทางเดียวกันจริงๆ?

“จริงๆแฟนผมเค้าชอบศิลปินเกาหลี (ยิ้ม) แล้วศิลปินเกาหลีเล่นที่ญี่ปุ่นเยอะเลยเป็นเป้าหมายของเค้า จริงๆเราชอบอะไรเหมือนกัน ถ้าอีกคนเป็นคนที่มองว่าเราต้องรวยนะ เราก็คงเหนื่อย แต่เรามีเป้าหมายว่าเราจะอยู่เล่นดนตรีแบบนี้ไปเรื่อยๆจะทำยังไงดี”

ณ วันนี้ เป็นแสตมป์ที่เติบโตและมีความสุข?

“ใช่ครับตอนนี้ แฮปปี้ เอนจอยกับตอนนี้เพราะสำหรับผมคือการทำเพลงไปเรื่อยๆ เป้าหมายไม่ใช่ว่าต้องโด่งดังแต่เราได้ทำมันไปเรื่อยๆมากกว่าครับ”.