โฆษณาแต่ละชิ้นทางโทรทัศน์นั้น จะสั้นๆไม่กี่วินาทีที่ออกอากาศ จึงเป็นโจทย์หินของผู้สร้างสรรค์งานโฆษณา ว่าทำอย่างไร จึงจะสื่อสารให้ได้กระชับ ได้สาระ และติดหูติดตาผู้บริโภค
ที่สำคัญคือจดจำแบรนด์ ตลอดถึงเนื้อหาของสินค้าได้แบบไม่กังขา สับสนกับแบรนด์อื่น
ด้วยเงื่อนไขนี้ ความจริงที่ได้รับจากสปอตโฆษณาต่างๆ จึงเป็นเรื่องราวที่นำเสนอไม่ครบถ้วนนัก
ภาษาบ้านๆเรียกว่า พูดความจริงครึ่งเดียว อีกครึ่งให้จินตนาการเอาเอง??
ยาทุกชนิดและสิ่งที่เกินจริง “ห้ามโฆษณา” ในส่วนของยาจะยกเว้นเพียงยาสามัญประเภทพาราเซตามอลนั้น โฆษณาได้...
เซียนการตลาดจึงเลี่ยงไปใช้โฆษณาแฝง เช่น การรีวิว การบอกต่อ เป็นไดอะล็อกในบทละครทีวี ให้ตัวละครเป็นผู้ใช้ในเรื่องราวนั้นๆ
การโฆษณาประกันชีวิต ก็เข้าข่ายพูดความจริงครึ่งเดียว ไม่เสนอในรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ!!
สปอตโฆษณาของบริษัทประกันบางแห่ง จึงค่อนข้างเทาๆ เพราะดูง่าย “ตอนสมัคร” จนเกินเหตุ
แต่ตอนคุ้มครองนั้น มีขั้นตอนตามกฎหมายหลายประการที่ไม่ง่ายเหมือนตอนโฆษณา!!
หน่วยงานที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภคมีจริง แต่สูตรสำเร็จของราชการมักอ้างว่า เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
ส่อให้เห็นถึงโครงสร้างระบบและการบริหารจัดการบกพร่อง!!
แต่งานใดได้หน้า ได้กระแส ได้ออกสื่อ บุคลากรจะไม่ขาดแคลน
ยกตัวอย่างเช่น การไล่ล่าเฟกนิวส์ทางการเมืองแบบไม่จำเป็น กลับมีกำลังพลเหลือเฟือ!!
สรุปดื้อๆสั้นๆว่า บ้านเมืองใดเรียงลำดับความสำคัญของงานยังไม่เป็น ระบบก็จะสับสน
สุดท้าย...ผู้บริโภคคือประชาชน ก็เสียผลประโยชน์!!
“สันติพงษ์ นาคประดา”
‘‘แจ๋วริมจอ’’
jaewrimjor@gmail.com
...