• จุดเริ่มต้นแค่วงดนตรีในโรงเรียน ไม่ได้คิดจะเล่นเป็นอาชีพ แต่สุดท้ายเซ็นสัญญากับแกรมมี่ กลายเป็นวงดนตรีดัง
  • โอม Cocktail ตั้งใจจะทำแค่อัลบั้มเดียว เพราะจะไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็ยังคงอยู่บนถนนสายดนตรีจนถึงทุกวันนี้
  • 20 ปี Cocktail เรียนรู้ที่จะปรับตัว ขอเล่นดนตรีให้มีความสุขเหมือนวันแรก

เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีร็อกที่มีผลงานเพลงดังมาแล้วมากมาย สำหรับ Cocktail (ค็อกเทล) ค่าย Gene Lab ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่มี 4 สมาชิกหนุ่ม โอม ปัณฑพล ประสารราชกิจ (ร้องนำ), เชา ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย (กีตาร์), ปาร์ค เกริกเกียรติ สว่างวงศ์ (เบส), ฟิลิปส์ เปรมสิริกรณ์ (กลอง) เจ้าของผลงานเพลง อาทิ คุกเข่า, คู่ชีวิต, เธอทำให้ฉันเสียใจ, ดึงดัน, โปรดเถิดรัก ฯลฯ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นวงดนตรีเล็กๆ ที่เล่นในโรงเรียนมัธยม แรกเริ่มแค่อยากเล่นดนตรี ทำเพลง ขับเคลื่อนด้วยความสนุก ไม่ได้ตั้งใจจะเล่นดนตรีอาชีพตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายดนตรีทำให้มาไกลกว่าที่คิด

บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ชวนพวกเขามาพูดคุยถึงการเป็นศิลปินนักดนตรีอาชีพ จากจุดเริ่มต้นที่เป็นวงดนตรีเล็กๆ ในโรงเรียน สู่การเป็นวงดนตรีอาชีพ ทั้งการทำเพลงในนามอิสระกว่า 8 ปี ก่อนจะเป็นวงดนตรีชื่อดังของเมืองไทย และในวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 20 ปีแล้ว แต่ Cocktail ยังคงทำงานเพลงด้วยความสุข เรียนรู้ที่จะปรับตัว พยายามหาความสุขในพื้นที่ที่เป็นไปได้

...

วันแรก

เมื่อถามถึงวันแรกของการทำเพลงในนามวง Cocktail เชาเล่าถึงวันแรกๆ ของการรวมตัวว่า “ต้องบอกว่า Cocktail เป็นวงที่มีมาก่อนนานแล้ว ถ้าคนที่อยู่ตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันมีคนเดียวคือโอม โอมเริ่มทำเพลงกับเพื่อนตั้งแต่สมัยมัธยม ส่วนผมเนี่ยจะเข้ามาในช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งมารู้จักโอมทีหลัง จากนั้นก็เริ่มปรับเปลี่ยนสมาชิกมาเรื่อยๆ ส่วนคนต่อมาที่เป็นสมาชิกวงก็คือฟิลิปส์กับปาร์คที่เข้ามาพร้อมกันช่วงเพลง “คุกเข่า” ครับ”

เราขอให้โอมเล่าถึงการทำวงบ้าง โอมบอกว่า “แอบเขินนิดนึงครับ (หัวเราะ) ผมไม่ค่อยพูดเรื่องนี้บ่อยเท่าไร ไม่ได้มองว่าเป็นความลับ หรือไม่อยากเล่า แต่มันเป็นเรื่องเล็กๆ มากๆ เลยครับ มันเหมือนวงดนตรีที่เล่นกันในโรงเรียนมัธยม แค่อยากเล่นดนตรีด้วยกัน ทำเพลงด้วยกัน คือมันขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกอยากจะสนุกอย่างเดียวครับ อยากเอาสิ่งที่เราคิดได้ในหัวให้คนได้ฟัง รู้ตัวอีกทีคือมันดูจริงจังขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

คือวงนี้ไม่ได้ตั้งใจจะเล่นดนตรีอาชีพตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่าดูถูกอาชีพ หรืออะไรนะครับ แต่เราไม่ได้ประเมินตัวเองไว้สูงนัก เราเป็นคนที่ชอบเล่น มีอะไรในใจเยอะ หรือมีเรื่องที่อยากจะเล่า ผมมองว่าดนตรีเป็นพาหนะความคิดของผม ในฐานะที่ผมเป็นคนเขียนเพลงหลัก เราแค่รู้สึกว่าเราแค่อยากเล่าเรื่องเหล่านี้ผ่านอะไรสักอย่าง แล้วเล่าผ่านอะไรได้ทรงพลังที่สุด เทียบกันระหว่างเขียนหนังสือ ทำหนัง ผมว่าผมเล่าผ่านเพลงแข็งแรงที่สุด

แล้วสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็พาเรามาไกลกว่าที่คิด มันพาเราเดินทางจนกลายเป็นอาชีพ เซ็นสัญญาเข้าไปอยู่ในค่าย รู้ตัวอีกทีคือเล่นดนตรีอาชีพเฉยเลย มีคอนเสิร์ตใหญ่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้ว่าจะไม่คาดหวังอะไรเยอะ มีบางช่วงแหละพอเรามาเห็นว่ามันได้อะไรมา บางทีเราก็มีลุ้นถูกมั้ยครับ สมมติเราซื้อหวย เราก็ลุ้นว่าจะถูก แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะถูกหวย และไม่ใช่ว่าเราจะร้องไห้ เราผ่านความรู้สึกแบบนั้นมาหลายครั้ง แต่มันไม่เคยเปลี่ยนความตั้งใจของเรา เราตั้งใจทำงานมาก

มันมีคำพูดนึงที่เขาพูดกับผมเมื่ออยู่ห้องอัดแรกๆ สมัยอายุ 17-18 เขาบอกว่า มึงอย่าลืมนะว่าสิ่งที่มึงทิ้งไว้ ต่อให้มึงตาย คนก็ยังฟังอยู่ ไม่ได้บอกว่าดังนะครับ แต่มันเป็นหลักฐานที่ถูกทิ้งไว้ เพราะฉะนั้นอย่าชุ่ย ทิ้งสิ่งที่มันดีเอาไว้ เพราะมันจะมีอายุขัยเลยไปกว่าเรา แม้กระทั่งวันที่เราไม่ได้เล่นอาชีพแล้ว มันก็ยังเป็นหลักฐานอยู่อย่างนั้นเสมอเมื่อใครสักคนหยิบมันมาฟัง”

ถามว่าในเวลานั้นแค่อยากทำเพลงตามที่ชอบหรือเปล่า โอมบอกว่า “มันเหมือนไม่ได้ใช้เหตุผลในการคิดเยอะครับ มันไปตามความรู้สึกของเด็กแหละ ตอนนั้นผมมีงานอดิเรกหลายอย่าง มีความสนใจหลายประเภท ตั้งใจจะไปเป็นอาจารย์ รู้สึกว่าดนตรีเล่นเป็นอินดี้ก็ได้ คือไม่ได้คิดเยอะขนาดนั้นน่ะครับ สมมติคุยกับเชาว่าจะทำอัลบั้มเพลงอินดี้ ออกทุนกันเอง แต่ถ้าทำก็ต้องตั้งใจทำนะ แม้จะไม่ได้ตั้งใจทำเป็นอาชีพ แต่รู้สึกว่าถ้าทำอะไรสักอย่าง ต้องทำเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด เท่าที่แรง กำลังทรัพย์ สมองจะมี ณ ตอนนั้นครับ”

ก้าวแรกสู่แกรมมี่

เราถามต่อถึงช่วงที่ทำเพลงในนามอิสระ 8 ปีว่าเป็นยังไงบ้าง ผ่านอะไรมามากน้อยแค่ไหน โอมบอกว่า “ที่ผมไม่ค่อยได้พูดเรื่องนี้เยอะ เพราะเรารู้สึกว่าทุกคนลำบากในมุมของเขา เวลาเรามาพูดแข่งกันว่าลำบากอะไรมาบ้าง ผมก็รู้สึกเขินนิดนึง หลายคนก็จะมองว่าวงเราก็ดูไม่ลำบากนี่ ไม่ได้มีฐานะอัตคัด แต่มันก็ต้องสู้ในอีกมุมนึงเหมือนกัน ในการที่จะเล่นดนตรีต่อไปได้โดยไม่บั่นทอนการใช้ชีวิตอื่นๆ ที่ต้องดำเนินไปด้วย”

...

เมื่อถามว่ามาอยู่ที่แกรมมี่ได้ยังไง เชาบอกว่า “ความบังเอิญซะส่วนใหญ่ ช่วงก่อนหน้านั้นเราทำอัลบั้มอินดี้กันอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ค้นหา ไม่อยากไปอยู่ค่าย เราก็ยื่นไปที่โน่นที่นี่ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ตอบรับเท่าไร จนมาวันนึง ตอนนั้นผมจำได้ว่าคุยกับโอมถึงซิงเกิลที่เราทำว่าจะทำเป็นซิงเกิลสุดท้าย เพราะว่าสุดท้ายเรามีชีวิตจริงที่เราต้องไปเผชิญ เราต้องไปทำงาน ก็เลยตั้งใจว่าอันนั้นคือซิงเกิลสุดท้าย

แต่หลังจากซิงเกิลนี้เสร็จ คุณหมีที่เป็นผู้จัดการวงเราตั้งแต่ตอนนั้นก็แอบเอาเพลงนี้ไปยื่นให้ค่ายนึงฟังกับโปรดิวเซอร์คนนึงแล้วเขาชอบ เขาก็นัดวงมาคุยโดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย เขาก็นัดเข้าไปคุย สมมติเราคุยวันจันทร์กับโปรดิวเซอร์ พฤหัสเราคุยกับที่ค่าย อีก 2 วันต่อมาเราเซ็นสัญญาเลย ทุกอย่างเกิดค่อนข้างเร็วมาก บทมันจะได้ขึ้นมาทุกอย่างมันก็ Flow ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เรามาอยู่ค่ายใหญ่ ก็คือจีนี่ เรคคอร์ดส แล้วโปรดิวเซอร์คนนั้นคือพี่ดนัยกับพี่โนกครับ”

โอมบอกว่าจากวันที่เซ็นสัญญา ชีวิตเปลี่ยนไปหลังเริ่มเป็นที่รู้จัก ไม่ได้เปลี่ยนในเรื่องความดัง แต่เปลี่ยนในเรื่องสาระสำคัญในการดำรงชีวิต เปลี่ยนวิธีการทำงาน “แต่ก่อนเคยนอนอยู่บ้าน ไปทำงานแบบนี้ กลายเป็นว่าผมต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์ไปเลย เพื่อมาเล่นดนตรีประจำ เพราะมันมีงานทุกวัน นึกย้อนไปก็สนุกดี ก็ยิ้มๆ เหมือนกันนะ เหมือนคนแก่เลยอ่ะ (หัวเราะ)”

...

ถามว่ากดดันหรือไม่พอมาอยู่ในค่ายใหญ่ เพราะจะต้องมีหลายๆ อย่างเข้ามา โอมบอกว่า “มันเป็นข้อตกลงกันว่าไม่ยุ่งกับเพลงของเราครับ และผมบอกว่าผมจะทำแค่อัลบั้มเดียว และผมจะไม่อยู่แล้ว คือเพิ่งเข้าค่าย แต่ดันไปขู่เขาแบบนี้ ผมบอกว่าผมจะทำแค่นี้ แล้วจะไปเมืองนอก เพราะผมจะไปเรียน เขาก็ไม่ว่าอะไรนะ เขาก็ยอม เขาบอกว่าเขาจะทำ

พี่นิค (วิเชียร ฤกษ์ไพศาล) น่ารักมาก พี่นิคบอกว่า มันเป็นซาวนด์ที่ไม่มีมาก่อนในจีนี่ฯ ถึงไม่ดังก็อยากทำเพราะว่าเขามองเป็นงานศิลปะ ถ้าอยากทำเพื่อภาพลักษณ์ของค่าย รับศิลปินแนวนี้เข้ามามันได้ภาพลักษณ์ของค่ายด้วย พี่นิคก็ให้เกียรติวงมากๆ ครับ แต่สุดท้ายหลังจากนั้นก็อย่างที่เห็นมาครับ ก็เป็นแบบนั้นแหละครับ ยาวจนถึงทุกวันนี้ (หัวเราะ)”

วันที่คนรู้จักมากขึ้น

จากนั้นเราถามถึงกระแสตอบรับช่วงแรกที่มาทำเพลงในค่ายจีนี่ เรคคอร์ดส ว่าเป็นยังไงบ้าง โอมบอกว่า ตอนนั้นมีเพลง “เธอทำให้ฉันเสียใจ” คนก็คิดว่าจากที่เราเป็นอินดี้ วงจะเปลี่ยนไปไหม และมีคนที่ตั้งหน้าตั้งตารอว่าวงจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน มันจะใหญ่ขึ้นมั้ย มีโปรดักชันที่ดีขึ้นจะเป็นยังไง “ถามว่ากดดันมั้ย ไม่กดดันเลยครับ รู้สึกว่าอยากทำอะไรก็ทำ อะไรไม่อยากทำก็บอกเขาว่าไม่อยากทำ

แต่ถ้ามันควรต้องทำ เขาจะแย้งมาว่าไม่ได้นะ ห้ามเอาแต่ใจตัวเองนะ เราชั่งด้วยเหตุผลว่าเออ ก็จริง อันนี้เอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนลงทุน เราก็จะโอเค ในเมื่อพี่ไม่ยุ่งกับเพลง เรื่องอื่นๆ ผมก็ต้องหัดฟังพี่บ้าง มันถ้อยทีถ้อยอาศัยครับ ชีวิตในช่วง 10 กว่าปีที่แกรมมี่มันผ่านมาแบบนั้น คือผมมองว่าในเมื่อเขาไม่ยุ่งกับเพลง แต่ในเรื่องโปรโมตเขาเก่งกว่าเรา เราก็ต้องฟังเขา แน่นอนมันมีวิธีการบางอย่างที่เราอาจจะรู้สึกว่าไม่อยากทำแบบนี้ แต่เราลงทุนสมอง เขาลงทุนเงิน ต่างคนต่างมีบทบาทซึ่งกันและกันในการทำงาน

...

ผมรู้สึกว่าอะไรที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยได้ก็ทำเถอะ จะได้ไม่ต้องมีใครลำบากใจ อยากให้ทุกคนมีความสุขที่ได้ทำงานกับค็อกเทลแค่นั้นเองครับ คือมันเป็นความเข้าใจที่คนนอกที่นึกถึงค่ายเพลงแล้วจะคิดว่าค่ายต้องทำอะไรบ้างเกี่ยวกับเพลง แต่ทั้งจีนี่ฯ และ Gene Lab สืบทอดเจตนารมณ์เดียวกันมา คือเราไม่ทำเพลงให้ศิลปิน เพลงเป็นเรื่องของศิลปิน สิ่งที่เราทำคือ management การสร้างบรรยากาศรอบๆ เพื่อให้ศิลปินรู้สึกสบายใจในการทำงานครับ”

ส่วนอัลบั้ม The Lords of Misery ที่มีเพลงดัง อาทิ คุกเข่า, คู่ชีวิต, โปรดเถิดรัก ฯลฯ ที่ทำให้ผู้คนรู้จักวงค็อกเทลมากขึ้น ฟิลิปส์เล่าถึงวันที่เขามาทำอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกว่า “จากอัลบั้มก่อนหน้านี้ที่มีเพลง “เธอทำให้ฉันเสียใจ” ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นใช่มั้ยครับ อัลบั้มต่อมามีซิงเกิล “คุกเข่า” เป็นเพลงแรกที่เปิดตัว ต้องยอมรับว่าเป็นเพลงที่ทำให้คนรู้จักวงมากขึ้น มีการเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตมากขึ้นนะครับ แล้วผมกับปาร์คเข้ามาอยู่ในวงซึ่งเป็นเพลงแรก

ผมรู้สึกว่าพอมีคนรู้จักมากขึ้น หลังจากนั้นการทำงานมันมากขึ้นในเชิงการที่คนคาดหวัง หรือพอคนรู้จักแค่เพลง 2 เพลง เวลาการออกไปแสดงคอนเสิร์ตในหลายจังหวัด มันก็จะเกิดสิ่งที่เราต้องทำการบ้านกันค่อนข้างมาก เพราะว่าบางคนเพลงอื่นๆ ก็ไม่รู้จัก เขาก็จะรอฟังแต่เพลงที่รู้จัก บางที่ทำได้ดี บางที่ทำได้ไม่ดี มันก็ต้องเรียนรู้กันไปครับ ซึ่งมันต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก กว่าจะหาจุดที่ลงตัวในการแสดงคอนเสิร์ต รวมไปถึงการบันทึกเสียงเพลง หรือทำเพลงในอัลบั้มต่อไปด้วยครับ ดังนั้นผมถือเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดนึงที่ค่อนข้างชัด”

ด้านปาร์คเล่าถึงวันที่เข้ามาอยู่วงค็อกเทลในอัลบั้มนี้เช่นกัน โดยบอกว่า “ผมกับพี่ฟิลิปส์เข้ามาในอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรก ได้บันทึกเสียงเอง ได้เริ่มต้นการทำเพลงกับวง ออกไปทัวร์คอนเสิร์ต ได้ทำงานหลายๆ อย่าง ไปถ่ายเอ็มวี ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในวันนั้นครับ สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ผมว่าในวันนั้นเรามองไม่ชัดเจนหรอกว่าเพลงๆ นี้ทำออกมาแล้วจะได้รับการตอบรับยังไง คนจะชอบหรือไม่ชอบ หรือว่าดังไม่ดัง เราทำออกมาด้วยความตั้งใจเต็มที่ อย่างเพลงคู่ชีวิต เธอ คุกเข่า หรืออะไรก็ตาม เป็นจุดเริ่มต้นที่พาค็อกเทลเป็นที่รู้จักมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้ คือเป็นจุดแรกๆ ที่ทำให้คนได้รู้จักเรามากขึ้นครับ”

ส่งเธอออกไป

โอมพูดถึงเพลงใหม่ล่าสุด “ส่งเธอออกไป” ซิงเกิลใหม่จากอัลบั้ม เฟท โอเมกา (Fate Omega) ในเรื่องของการทำงานไว้ว่า “สำหรับเพลงนี้จริงๆ แล้วเราเป็นที่รู้จักจากเพลง “คู่ชีวิต” นะครับ เราแค่รู้สึกว่าอยากจะลองเล่าถึงคอนเซปต์ความรักอะไรสักอย่างที่มันต่างไปจากเดิม ลึกไปกว่าเดิม พอมานั่งทบทวนดูก็เลยเลือกที่จะเล่าในแง่มุมความรัก ไม่ใช่เรื่องการยืนข้างกันขนาดนั้นแล้ว พยายามที่จะค้นหาว่าคอนเซปต์ของความรักมันลึกไปอีก หรือไปทางไหนได้บ้าง สุดท้ายเลยเป็นเรื่องความรักและการเสียสละ

คือจริงๆ ในสถานการณ์ผมว่าไม่เหมือนกันในแต่ละคน เราไม่มีทางรู้หรอกว่าลึกๆ แล้วในใจคนคิดอะไร มันก็คงจะมีคนที่เอาเหตุผลนี้ไปอ้างว่าเธอไปเถอะ เราดีไม่พอหรอก แต่จริงๆ แล้วใจตัวเองอยากเลิกมันก็มี แล้วมันก็มีคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่า ณ วินาทีนี้ต้องเลือกแล้ว เราไม่ได้พูดถึงความรักแค่หนุ่มสาว เราพูดถึงความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก เพื่อนด้วยกัน เราไม่ได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เรา เพราะเราคิดว่าประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่า คนบางคนควรจะมีที่ที่เขาไปแล้วเป็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าเรา บางทีมันสามารถมองไปถึงตรรกะว่าการเห็นตัวเองสำคัญน้อยกว่าสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง ไม่ใช่แค่ตัวเองที่ใหญ่ที่สุด”

เชาเล่าถึงการทำงานบ้าง “ย้อนไปตอนที่เริ่มทำอัลบั้มนี้ เราใช้วิธีการเล่นด้วยกันมากขึ้น ฉะนั้นเพลงในอัลบั้มนี้ที่ออกมา ผมรู้สึกว่ามันมีความดิบ ความจริงใจประมาณนึง อย่างเพลงนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือเกิดจากการที่เราเล่นพร้อมกัน เรารู้สึกยังไงก็เล่นอย่างนั้นแทบเกือบ 90% ในพาร์ทดนตรีผมว่าค่อนข้างตรงไปตรงมา เป็นเพลงที่ไม่ได้ประดิษฐ์อะไรมากมาย เราเล่นไปตามฟีลลิ่งของเรา เราเล่นพร้อมกัน 4 คน เราก็เก็บโมเมนต์ตรงนั้นอยู่ในการบันทึกเสียง ไม่ได้มานั่งแต่งอีกทีเพื่อทำให้สวยงามขึ้น มันเป็นความรู้สึกจริงๆ มากกว่าครับ”

ในส่วนของมิวสิกวิดีโอ เราถามว่า ทำไมถึงเลือก บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์, แพต ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช มาแสดงนำ รวมทั้งถามถึงเรื่องที่ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับดังมาร่วมงาน โอมเผยว่า “จริงๆ เราเลือกพี่มะเดี่ยวครับ เพราะเราเคยทำงานด้วยกันมาก่อน ไม่มีอะไรครับ คิดถึงกัน อยากทำงานด้วยกันอีกสักครั้งนึง ส่วนที่เหลือคือการเสนอจากผู้กำกับ อย่างพี่บอยเป็นรุ่นพี่ผมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เราคุยกันหลายครั้ง คลาดกันไปมา ส่วนใหญ่กระบวนการในการทำงาน คนที่คัดว่าใครจะเป็นพระเอกนางเอกส่วนใหญ่คือผู้กำกับ แล้วเรามาดูอีกที แต่เราเชื่อใจพี่มะเดี่ยวอยู่แล้ว และพี่บอยกับเราก็คลาดกันมาหลายรอบ เราก็รู้สึกว่าในที่สุดก็ได้ทำงานด้วยกันสักที ก็ดีใจครับ”

ส่วนเนื้อหามิวสิกวิดีโอ ฟิลิปส์บอกว่า “จริงๆ ผมอยากให้ทุกคนที่ฟังเพลงไปดูหนังสั้น ในรูปแบบวิธีการดำเนินเรื่อง มันเป็นเรื่องของครอบครัวนึงที่มีพ่อแม่ลูกครับ เขาถ่ายทอดในเรื่องความรักที่มีให้ต่อกันในเชิงความเสียสละเป็นหลัก และความรักไม่ได้เป็นเรื่องการครอบครองอย่างเดียวครับ มันมีเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าอนันต์ ซึ่งอนันต์อาจไม่มีอยู่จริง ไม่เป็นในรูปแบบที่จับต้องได้ขนาดนั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในเรื่องของความรัก บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องครอบครองมันก็ได้ แค่เรามีแต่ความรู้สึกดีๆ ให้ในมุมใดมุมหนึ่ง ผมมองว่าการเสียสละก็เป็นเรื่องของความรักได้เหมือนกัน”

เมื่อถามถึงฟีดแบ็กที่ได้กลับมา ปาร์คบอกว่า “จากที่เข้าไปอ่านคอมเมนต์ทั้งในหนังสั้นและเอ็มวี สิ่งหนึ่งที่รู้สึกดีใจก็คือ หลายคนที่ฟังเพลงและดูเอ็มวีกับหนังสั้น เขารู้สึกว่ามันอาจเป็นบางอย่างในชีวิตเขา เขาก็มาแชร์ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอง พอได้ฟังเพลงนี้แล้วไปตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ผมรู้สึกว่าเพลงๆ นี้มันทำหน้าที่ของมันได้แล้วในการที่สื่อสารให้คนฟังรู้สึกไปด้วยได้ครับ” โอมเสริม “สิ่งที่เขาคาดหวังจากเพลงนี้คือสิ่งที่ทุกคนเข้ามาแชร์ พอเพลงไปกระทบใจเขา แล้วเอาส่วนหนึ่งของเพลงเข้ามาอยู่ในเรื่องราวชีวิตเขา ผมว่ามันสำเร็จแล้วในแง่บทเพลงที่ทำออกไป คืออยู่ในตัวเขา ในใจเขา”

เล่นดนตรีให้มีความสุข

เชาเผยถึงอัลบั้ม Fate อัลบั้มชุดล่าสุดของพวกเขาว่า “อัลบั้มนี้คอนเซปต์มันคือชื่อใหญ่ว่า Fate ชะตา และอัลบั้มแบ่งเป็น 2 พาร์ท คือ Alpha และ Omega ซึ่งพาร์ท Alpha ปล่อยไปหมดแล้ว ทีนี้เราจะเริ่มเฟส 2 คือ Fate Omega เพลงแรกที่เราปล่อยไปก็คือ “ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร” และก็มีเพลงนี้ “ส่งเธอออกไป” เป็นเพลงที่ 2 กระบวนการทำอัลบั้มก็ประมาณ 2 ปีครับ”

ส่วนกระแสตอบรับจาก Fate Alpha ตั้งแต่เพลง “ดึงดัน” มาจนถึงตอนนี้ที่ปล่อยเพลงในพาร์ท Fate Omega โอมบอกว่า “จริงๆ เพลงดึงดันเป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้มนี้ เป็นของครึ่งแรก มาจนถึงตอนนี้เรารู้สึกว่าเรามาถึงวัยที่เราผ่านอะไรหลายอย่างมาด้วยกันค่อนข้างเยอะ ในอุตสาหกรรมนี้ ผมรู้สึกว่าไม่ได้คาดหวังเยอะ เราคาดหวังว่าเราจะสนุกไปกับมัน คาดหวังว่าคนฟังจะยังมีความสุขกับมันไม่มากก็น้อย

เราผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุด เราผ่านช่วงเวลาที่เป็นกระแสมากๆ เราผ่านช่วงเวลาที่ทุกอย่างเริ่มเสถียร ผมว่าทุกอย่างก็จะผ่านไป ฉะนั้นอย่างที่เรียนให้ทราบว่าเรามาถึงวัยที่รู้สึกว่า เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าวันนึงที่เราประสบความสำเร็จ คือโลกมันหมุนมาเจอเรา แล้ววันนึงที่เราไม่ประสบความสำเร็จ หรือออกมาจะดีจะร้าย โลกมันก็หมุนไปในทางของมัน เราไม่ได้ไปยุ่ง หรือไปเปลี่ยนทิศทางของการหมุนของโลกได้

ฉะนั้นเราก็ทำงานให้มีความสุขก่อนดีกว่า เวลาเราจะส่งต่อความสุขไป เราต้องมีความสุขให้ได้ก่อน เราพยายามคิดแบบนั้น แล้วเราพยายามทำงานโดยไม่มีแรงกดดันเข้ามาเยอะ เพราะว่าเวลาผ่านมานานๆ ความกดดันเกิดขึ้น เพียงเพราะความสำเร็จที่มีมามันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องดีขึ้น หนักขึ้น เจ๋งขึ้น ซึ่งบางทีเรื่องพวกนี้คือมันควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือเล่นดนตรีให้มีความสุขเหมือนวันแรกที่เล่น แล้วไม่ว่าโลกจะหมุนมาเจอเราหรือไม่ มันไม่สำคัญครับ”

โอมบอกว่า แม้สถานการณ์โควิดจะทำให้เกิดอุปสรรค แต่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว พยายามหาความสุขในพื้นที่ที่เป็นไปได้ดีกว่า ถ้าเรายึดมาตรฐานเดิมว่าต้องได้เท่านี้ แน่นอนว่าจะรู้สึกว่าเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะมันไม่มีทางที่จะเหมือนเดิม 100% ในตอนนี้เราก็ต้องดูว่าเราจะสามารถสร้างโชว์อย่างไรให้คนดูกับเรามีความสุขในการอยู่ร่วมกันได้อย่างไรบ้าง คิดแค่นี้ก็ไม่วุ่นวายใจ วันที่ไม่มีโควิด มันก็มีอุปสรรคในแบบของมัน แล้ววันนั้นเรารับมือกับมันยังไง แก้ไขปัญหายังไง วันนี้เราก็อยู่กับปัญหานี้ แล้วเราก็รับมือกับปัญหานี้โดยที่มองวันนี้เป็นหลัก ไม่เอาวันก่อนหน้านี้มาเทียบ แค่นี้ก็ไม่รู้สึกเป็นอุปสรรคมากแล้ว

มิตรภาพ

เมื่อถามว่า ทั้ง 4 หนุ่มรู้จักกันมานานแค่ไหนแล้ว โอมนิ่งคิดก่อนบอกว่า “ก็หลายปีแล้วนะฮะ ไม่ได้นับเลยอ่ะ เกิน 10 ปีแล้ว เกินไปเยอะ (ยิ้ม) ปีนี้วงก็ 20 ปีแล้วครับ” เมื่อถามถึงความประทับใจกันและกัน โอมบอกว่า “ผมว่าเราโชคดี บางทีคุณไม่มีวันกะเกณฑ์ได้หรอกว่าคนที่คุณตกลงจะมาทำงานด้วย บางทีเราเลือกจะทำงาน เราเลือกด้วยความเหมาะสม เราเหมาะที่จะทำงานด้วยกัน

บางทีเราไม่อยากรู้หรอกว่าสุดท้ายเราเข้ากันได้มากน้อยแค่ไหน หมายถึงว่าสนิทกันได้แค่ไหน โอเคการทำงานก็ต้องมีความเข้ากันได้ ใกล้ชิดกันประมาณนึง แต่บางทีพอพ้นจากการทำงานไปก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี การเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีก็ไม่ได้เป็นเพื่อนสนิท ไม่ได้แปลว่าผูกพันกัน แต่เราโชคดีที่เราเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี นอกเหนือจากเวลางานเป็นเพื่อนที่ค่อนข้างสนิทกัน เป็นวงดนตรีที่สนิทกันมาก

แล้วไม่ใช่แค่ใน 4 คน แต่พูดถึงทีมงาน 10 กว่าคนที่อยู่ด้วยกันตรงนี้มีความใกล้ชิดสนิทกันเป็นพิเศษ ผมไม่รู้ว่าวงอื่นเป็นยังไง แต่สำหรับเรา เรามีความสัมพันธ์ทั้งในเวลาส่วนตัวและเวลางาน เราพูดกันทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ไม่ได้จำกัดในขอบเขตใดขอบเขตหนึ่งครับ”

ฟิลิปส์พูดบ้าง “จริงๆ ด้วยวงค็อกเทลสมาชิกทุกคนเราไม่ได้อายุเท่ากัน ตัวพี่โอมกับพี่เชาก็จะโตกว่าผม 2 ปี ปาร์คจะเป็นน้องผมหลักปีไม่เกินเดือน คือเรามีความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันอยู่ ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำงาน ผมได้เจอกับพี่โอมมาตั้งแต่สมัยผมเรียนมัธยม อย่างพี่เชาเองเป็นคนที่เดินสวนกันไปมาในห้องอัดของเพื่อนผมเองบ่อยครั้ง จนได้มีโอกาสทำงานด้วยกันจริงๆ ที่ผ่านมามันเป็นทีมเวิร์กที่ค่อนข้างลงตัว

อย่างที่พี่โอมบอกครับว่ามันกะเกณฑ์ไม่ได้ แต่บางครั้งการอยู่มาได้ขนาดนี้ จากที่ผมไปเห็นในที่อื่นๆ ก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป แต่ของเราอยู่กันแบบมีความเข้าใจบางอย่างที่ผมคิดว่าคนอื่นอาจไม่เข้าใจ คือมันปะปนอยู่ในนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาครับ มันแข็งแรงของมัน”

ปาร์คเสริม “ผมขอเสริมจากที่พี่โอมกับพี่ลิปส์พูดเมื่อกี้ครับ ที่พี่โอมบอกว่าเราไม่ได้มีสมาชิกแค่ 4 คน ในภาพอาจเป็นวงดนตรีที่มี 4 คน แต่ทีมเรามันใหญ่มาก ไปคอนเสิร์ตก็จะมีทีมงาน ในความรู้สึกของผม ผมรู้สึกว่ามันเป็นสังคมที่อบอุ่นและสนุกตรงที่ว่าทุกคนให้เกียรติกันหมดในการที่ทำงานตรงนี้ด้วยกัน ไม่ได้แบ่งกันเลยว่าใครทำงานสูงกว่า ในเวลางานทุกคนก็รับผิดชอบงาน หลังเลิกงานก็เป็นเพื่อนพี่น้องกันหมดครับ ผมเลยรู้สึกว่าคือความที่อยู่ด้วยกันมาเป็นความรู้สึกที่ดีครับ”

ถามว่าการเดินทางในวงการเพลงของพวกเขาเป็นอย่างไร โอมบอกว่า “ให้ตอบแบบซื่อสัตย์มากๆ แบบไม่ประดิษฐ์คำตอบ เราไม่ได้นิยามครับ เรามีหน้าที่ทำในสิ่งที่เราทำ เต็มที่กับที่เราทำอยู่ เพราะต่อให้เรานิยามไปมันก็จะมีคนที่ฟังเราและไม่ได้คิดอย่างนั้น และเขาก็จะคิดอย่างที่เขาอยากจะคิดถึงเรา พอผมมาถึงวัยนี้ ผมมีความรู้สึกว่าใครเขาอยากมองเราอย่างไรให้เขามองเถอะ เรามีหน้าที่ทำอะไรของเราก็ทำเต็มที่เถอะ อันนี้ผมไม่ได้ตอบกวนนะ แต่ผมเชื่อแบบนั้นหมดใจ เราทำหน้าที่ของเราวันต่อวันแล้วจะไปยึดโยงความสำเร็จที่ผ่านมาก็ไม่ได้ แล้วเราจะไปมัวคาดหวังว่าความสำเร็จวันข้างหน้าอยู่ตรงไหนบ้างก็ไม่ได้ หน้าที่ของเราคือตอนนี้เราเป็นใคร และทำอะไรแค่นั้นเอง”

ปิดท้ายโอมฝากถึงแฟนๆ ที่ติดตามผลงานของค็อกเทลว่า “ดีใจครับ เรารู้สึกว่าการมีทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะเขา เพราะเวลาเราแต่งเพลงออกไปจากเรา มันไม่ใช่ของเราแล้วล่ะ เพลงออกจากเราไปก็เป็นของเขา เพราะเขาต่างหากที่จะเลือกว่าชอบหรือไม่ชอบ ก็ดีใจที่เพลงของเรามีชีวิตอยู่ในความนึกคิดของคนอีกหลายคน มันอาจถูกลืมเลือนไปสักวันนึง แต่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเราเคยเป็นความสุขของกันและกัน อันนั้นแหละสำคัญ

ผมว่าอดีตไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องยึดติดกับมัน แต่เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ที่จะรู้สึกขอบคุณมันที่นำพาให้ปัจจุบันเดินทางมาได้ ไม่ใช่ว่าการไม่รำลึกถึงอดีตบ่อยนักทำให้เราไม่เคยเห็นบุญคุณของอดีต อดีตมีบุญคุณกับเราอย่างไร ถ้าจากวันนี้ไปเราเลิกเล่นดนตรีไป มองย้อนกลับไปผมก็ยังรู้สึกขอบคุณอย่างนั้นอยู่เสมอว่ามันมีความทรงจำที่ดีเกิดขึ้นในช่วงเวลานึง และไม่มีใครสามารถจะพรากความทรงจำนั้นไปจากผมได้ ไม่ว่าคนอื่นจะมองยังไงก็ตามครับ”.

ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : GMM Grammy
กราฟิก : Varanya Phae-araya