- จุดเริ่มต้นการรวมตัว ยอมทุบหม้อข้าวตัวเองเพื่อทำตามฝัน ปล่อยเพลงแรกกว่าจะเป็นกระแสใช้เวลาหลายเดือน
- วันที่เข้าตา โอม ค็อกเทล กลายเป็นศิลปิน Gene Lab ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
- อัลบั้มชุดที่ 2 "เพื่อชีวิตกู" เผยความรู้สึกที่ได้ร่วมงานกับไวพจน์ เพชรสุพรรณ ก่อนอีกฝ่ายเสียชีวิต
ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วสำหรับ ไททศมิตร (TaitosmitH) วงดนตรีเพื่อชีวิตคลื่นลูกใหม่แต่ฝีมือจัดจ้าน และขึ้นชื่อว่าเป็นวงดนตรีที่แสดงสดมันที่สุดวงหนึ่ง จากค่าย GENE LAB ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ประกอบไปด้วย 6 สมาชิก จ๋าย อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี (ร้องนำ/กีตาร์), โมส ตฤณสิษฐ์ สิริพัชญาษานต์ (ร้อง/กีตาร์), เจต เจษฎา ปัญญา (เบส), เจ ธนกฤต สองเมือง (คีย์บอร์ด), มีน ปัณณสิทธิ์ สุขโหตุ (กีตาร์) และ ตุ๊ก พัฒนภูมิ ชอุ่มผล (กลอง)
จากความสำเร็จอัลบั้มแรกที่มีเพลงดัง อาทิ เป็นตะลิโตน, Pattaya Lover, Hello Mama, แดงกับเขียว ฯลฯ ในวันนี้พวกเขากลับมาอีกครั้งกับอัลบั้มที่ 2 “เพื่อชีวิตกู” ซึ่งในครั้งนี้นอกจากพวกเขาจะพูดถึงอัลบั้มใหม่แล้ว บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ชวนพวกเขามาพูดคุยถึงวันวานเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่พวกเขารวมตัวกันทำเพลง ที่แม้ปากจะบอกว่าทำขำๆ แต่ก็ยอมทุบหม้อข้าวตัวเอง ควักเงินหมดตัวเพื่อทำเพลงตามฝัน แต่สุดท้ายกลายเป็นวงดนตรีชื่อดังที่มาถึงจุดนี้ได้ด้วยความสามารถของพวกเขาเอง
...
4 ปีที่แล้ว
ย้อนกลับไป 4 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาตัดสินใจมาทำดนตรีด้วยกัน จ๋ายเผยถึงวันแรกที่รวมตัวกันว่า “ผมโทร.หาโมส เราก็คุยกันสองคนว่าจะเอาใครมาร่วมงานดี เพื่อนๆ น้องๆ เล่นดนตรีมาด้วยกัน เจอกันบ่อยอยู่แล้ว ตอนแรกเอาจริงๆ มันมีโปรเจกต์ก่อนจะทำวงด้วยกัน คุยกันว่าเดี๋ยวกูทำเพลงนึง เพลงมึ-เพลงนึง (แตะไหล่โมส) เพลงเจเพลงนึง (ชี้ที่เจ) แล้วเอามารวมกัน แต่ก็ทิ้งไป จนวันนึงผมโทร.หาโมส โมสนึกว่าผมจะทำเพลงผมเอง แต่เปล่า เราชวนมาอยู่วงด้วยกัน แล้วก็ชวนพี่ๆ น้องๆ มาร่วม” ถึงตรงนี้ตุ๊กยิ้ม จ๋ายหันไปถามว่ายิ้มอะไร ตุ๊กหัวเราะก่อนรีบบอก “มันน่ารักอะ”
พอถามว่าอะไรที่ตัดสินใจเข้าร่วมวงตามคำชวนของจ๋าย โมสบอกว่า “ปกติผมโทร.หากันอยู่แล้ว ถามตุ๊กดีกว่า ตุ๊กมาคนสุดท้าย” ตุ๊กบอก “โดนหลอกมาครับ (หัวเราะ) เขาบอกว่าวงนี้เพลงเสร็จแล้ว ทุกอย่างเสร็จแล้ว เจหลอกผมมาฮะ” ถึงตรงนี้ทุกคนหัวเราะลั่น โมสแซวตุ๊กว่า “ขับสกู๊ปปี้มาตั้งแต่ตึกแกรมมี่ไปหาพวกผมที่รังสิต (หัวเราะ)” จ๋ายหันไปถามตุ๊กว่าอะไรที่ทำให้เข้ามา ตุ๊กบอก “พี่ไง พี่เป็นคนเลือกไง (หัวเราะ)” จ๋ายพูดต่อ “ตุ๊กเขามีเล่นแบ็กอัปให้ศิลปินอยู่แล้ว และก็มาเล่นกับพวกผมครับ”
ถามว่าตอนแรกตั้งใจจะทำเล่นขำๆ หรือจริงจัง จ๋ายบอกว่า “ปากน่ะบอกว่าขำ แต่มันไม่ขำเลย ทุกคนก็จะบอกว่าลองทำดู แต่เงินในกระเป๋ามี 2,000 นะ ควักหมดตัว จำได้ว่าทำเพลงแรก เจตกับมีนต้องยืมตังค์ผม 4,000 ตอนนั้นเรื่องใหญ่มาก ตอนนี้ก็ยังเรื่องใหญ่ (หัวเราะ)” โมสแซว “ค่าแท็กซี่ 200 ก็เรื่องใหญ่แล้วตอนนี้ ที่มาก็มากินข้าวกองนะเนี่ย (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ” จ๋ายพูดต่อ “ที่บอกว่าขำๆ เพราะเราไม่อยากคาดหวัง แต่ว่าเราทำจริงจังมาก เจตลาออกจากงานเงี้ย ทุกคนทุบหม้อข้าวตัวเองหมดเลยนะ” เจตบอกว่า “ขำๆ แต่ลาออกจากงาน ตังค์ก็ไม่มี ไปยืมเงินเป็นหนี้อีก (หัวเราะ)”
พอถามเจตว่าทำไมตัดสินใจลาออก เจตบอกว่า “คือผมน่ะเบลอ” ทุกคนหัวเราะลั่น เจตเล่าต่อ “วันนั้นผมยืนอยู่หลังระเบียง แล้วจ๋ายบอกว่ามึ-เกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน ผมก็บอกว่าเหรอวะ จริงเหรอ วันรุ่งขึ้นก็เซ็นใบลาออกเลย” จ๋ายหัวเราะและเสริมว่า “วันนั้นมันเบลอจริง หน้ามันเป็นแบบนี้ (ทำหน้าเบลอ) แล้วบอกว่าทำงานเหนื่อยมากเลย ผมเลยบอกว่ามึ-ฟังกูนะเจต มึ-เกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน มึ-ลาออกเลย วันต่อมามันไปลาออกเลย (หัวเราะ)”
...
กว่าจะมีซิงเกิลแรก จ๋ายบอกว่าถ้านับเวลาที่เจอกันคือสั้นมาก เจอไม่กี่ครั้งก็ทำซิงเกิลแรก แต่ระยะเวลาที่เลื่อนไปเยอะเพราะตุ๊กก็ฝึกสอน โมสก็ทำงานเกือบทุกวัน ทุกคนทำงานหมด โมสบอกว่าตอนที่พี่จ๋ายโทร.มาคุยคือเดือน ก.พ. 2561 แต่กว่าจะมีเพลง “Pattaya Lover” ถ่ายเอ็มวีเสร็จประมาณ ก.ค.-ส.ค. 2561 ไม่นับเพลงแรก (อนัตตา) ที่เป็นเดโม เหมือนเป็นการทดลองมากกว่า ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ใช้เวลา 5-6 เดือน
หลังจากมีซิงเกิลแรก โมสบอกว่า “ก็ไปยกมือไหว้ขอเขาเล่นอย่างเดียว” จ๋ายพูดติดตลกว่า “ช่วงแรกยังไม่มีงานครับ แต่พวกผมหยิ่งแล้ว ตังค์ก็ไม่ได้ ฝึกหยิ่งไว้” เจตบอก “เราเล่นมาปีนึง ตังค์เพิ่งมาเข้าจำไดป่ะ” เรียกเสียงฮาทั้งวง เจตพูดต่อ “ผมทิ้งงานที่ผมเล่นแล้วได้วันละ 800 บาท เพื่อมารับงานฟรี ความรู้สึกตอนนั้นคือเราทำอะไรอยู่วะ” งานนี้ 6 หนุ่มพร้อมใจหัวเราะเสียงดัง จ๋ายเล่าต่อ “แล้วมีงานนึงคือเราได้เงินแล้ว เย้ (ทำเสียงดีใจ) ตอนนั้นหักค่ารถ ค่าทีมงาน ตอนนั้นหน้าใหญ่ เราก็จ่ายเลย ป๋าๆ (ยิ้ม) พอขึ้นรถตู้ หาร 6 แล้ว กูจำแม่นเลย 333 บาท” เสียงหัวเราะดังขึ้นอีกรอบ โมสถึงกับบอกว่าลางานมาเพื่ออะไร
แจ้งเกิดวงการเพลง
จ๋ายเล่าต่อว่า พวกเขาอยู่แบบนั้นมาครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังก็ไม่ได้ดีขึ้น เงินที่ได้มาก็ใช้หนี้ ไปงานไม่ได้ตังค์บ้าง บางงานเราอยากเล่นก็มีข้อผิดพลาดเรื่องการเดินทาง จองตั๋วไปก็ติดลบบ้าง ไหนจะต้องซื้ออุปกรณ์อีก “ตอนนั้นเพิ่งตั้งไข่ 6 เดือน เป็นช่วงที่เราขอเล่น เท่าไรก็ไป เล่นที่ไหนก็เล่น แต่มันสำเร็จช่วงหลังๆ งานเริ่มเยอะขึ้น” ถามว่าท้อมั้ย เจตบอกว่า “ทุกคนมองว่ามันไปได้”
โมสเล่าบ้าง “คือตั้งแต่เพลง “Pattaya Lover” ออกไป อยู่ดีๆ มันเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพลงออก ส.ค. สักช่วง ก.ย. เราไปออกนักผจญเพลง มีเพลงที่อยู่ดีๆ ดังข้ามคืน ขึ้นมา 3-5 ล้านวิว ทุกอย่างวิ่งเร็วมาก อีกแป๊บเดียวเรามี Hello Mama, แดงกับเขียว แล้วก็เข้าค่าย แป๊บเดียวปล่อยซิงเกิล อัลบั้ม เราไม่มีเวลาท้อสักเท่าไรครับ เราคิดว่าเพลง “ตะลิโตน” ชีวิตเปลี่ยนแล้ว แต่มันเปลี่ยนอีก” จ๋ายเสริม “วงมันสำเร็จไวครับ”
...
ถามว่าตอนนั้นไปออกรายการ “นักผจญเพลง” ได้ยังไง โมสบอกว่า “ตอนนั้นเราออกเพลง Pattaya Lover ไปช่วงแรกยอดวิว 7,000 ตอนนั้นก็ไปขอเล่นงานฟรีกับผู้ใหญ่ที่เราพอจะรู้จัก พอได้ไปเล่นในงานงานนึงซึ่งเป็นงานแรกเลย ปรากฏว่ามีเพื่อนเจที่ทำงานอยู่ในรายการนักผจญเพลงมาดูแล้วเกิดความประทับใจ อยากเอามาเป็นวงอินดี้หน้าใหม่” จ๋ายเสริม “คือเขามีอยู่แล้วเทปนึงคือพี่ๆ B5 เขาทำเรื่องเพื่อน แล้วเขาอยากหาวงอินดี้ที่แปะเป็นคั่นเวลาแล้วมีความเป็นเพื่อนกันด้วย”
โมสพูดต่อ “ทุกอย่างมันก็พอดีกัน เราก็เลยได้ไปออกรายการแล้วเอาเพลง “Pattaya Lover” และ “ตะลิโตน” ไป ซึ่งเพลง “ตะลิโตน” ได้กระแสตอบรับที่ดี ดังเฉย งงมากครับ” ถามว่าหลังจากนั้นงานจ้างเยอะมั้ย จ๋ายเล่าว่า “มันก็มีนะครับ 10 กว่างาน ตอนนั้นเพลง “ตะลิโตน” เป็นไวรัล พอไปนักผจญเพลงเหมือนไปก๊อกนึง พอมาถึงคนฟัง มันกลายเป็นว่าไปอีกต่อนึง ทำให้เราได้ไปโชว์ เริ่มมีคลิปต่างๆ ที่เราไปโชว์ ก็ไปอีกสเตปนึง มันส่งเสริมกันไปเรื่อยๆ คือเพลงตะลิโตนทำให้ Pattaya Lover ได้ทำงาน พอ 2 เพลงทำงานได้ดี เพลงอื่นๆ ก็ทำงานได้เต็มที่”
...
จากอินดี้สู่ค่าย Gene Lab
พอถามว่าหลังจากนั้นมาอยู่ค่าย Gene Lab ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ยังไง จ๋ายเล่าว่า “พี่โอม ค็อกเทล ชวนครับ เหมือนเขาไปดูคลิปเพลง “แดงกับเขียว” ที่เราเล่นแล้วกลายเป็นไวรัลเป็นหลักสิบล้าน เขาก็ติดต่อมาว่าอยากคุยด้วย ตอนนั้นเขาเพิ่งทำค่าย Gene Lab ใหม่ๆ ถามว่าเขาเห็นอะไรในตัวเรา เขาก็บอกว่าชอบอย่างเดียวเลยครับ จริงๆ วันนั้นผมไปกับเจตกับเจ ไปทีแรกกะคุยเฉยๆ ก็สวัสดีแล้วบอกว่าวันนี้คุยกันสบายๆ ก่อนนะพี่ แกก็บอกว่า (ทำท่าเลียนแบบโอมแล้วเลียนเสียง) “พี่คุยสบายๆ ไม่เป็นน่ะสิ” ผมก็บอกโอเคครับพี่ (หัวเราะ)
ผมก็ถามว่าถ้าผมจะอยู่กับพี่ ผมอยากรู้แค่ 2 อย่าง อย่างแรกเลยพี่เป็นคนดีรึเปล่า อันนี้พี่ไม่ต้องตอบผม เดี๋ยวผมดูเอง ผมแค่บอกพี่ไว้ก่อน อย่างที่ 2 คือผมอยากรู้ข้อเสียทั้งหมดกับการที่ผมอยู่ค่าย เขาก็พูด ผมก็รู้สึกว่าแกจริงใจ ก็เลยมาบอกวง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ดีเลย์ไปอีกหลายเดือนมากถึงติดต่อกลับไป ถามว่าอะไรทำให้ตัดสินใจเซ็นสัญญา พี่โอมเลยครับ ถ้าไม่ใช่พี่โอมก็คงไม่อยู่ ไม่ได้บอกว่าตึกหรือค่ายแย่ แต่มันคือการที่เราเข้ามาในสถานที่ใหม่ เราไม่รู้อะไรเลย แต่มันมีคนคนนึงทำให้เราเชื่อใจได้ว่าเขาจะดูแลเรา ปกป้องเรา” โมสเสริมว่า “เราและพี่โอมรู้สึกผูกพัน ไว้ใจพี่เขา มั่นใจว่าเราจะฝากชีวิตไว้กับคนนี้ได้ มันเกิดความมั่นใจตรงนั้น”
ส่วนเนื้อหาเพลงของไททศมิตรที่สะท้อนสังคม แฝงข้อคิดต่างๆ ถามว่ากลัวถูกวิจารณ์ไหม โมสบอกว่า ไม่ได้กลัว ในเรื่องเนื้อหาพยายามเขียนจากเรื่องที่มันจริงที่สุดในมุมมองของเรา เพราะฉะนั้นคำวิจารณ์มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ จ๋ายเสริมว่าเรื่องวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนใหญ่เราเขียนเรื่องสังคม ชีวิต ที่เป็นประเด็นอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับการทำรายการก็เหมือนรายการแบบพี่หนุ่ม กรรชัย ถ้าเราพูดผิดไปแล้วเขาโกรธก็เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่คุยกันได้ แย้งกันได้มากกว่า ถ้าเขาแชร์มุมความคิดมาก็ดี เราขอโทษได้ ก็ดีกว่าไม่พูดถึงมันเลย
การมีสังกัดทำให้ชีวิตการทำงานแตกต่างจากเดิม ซึ่งจ๋ายบอกว่า “คือทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้น วางไว้แล้วก็ต้องทำตามนั้นให้ได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว มันเลื่อนไม่ได้เพราะทุกอย่างมันวางไว้แล้ว ถ้าเลื่อนไม่ได้แค่กระทบเราคนเดียว มันกระทบหลายๆ ฝ่าย สองมันหลายมือ ดังนั้นพอมีหลายมือการพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญ ต้องคุยให้เข้าใจ แกรมมี่เป็นระบบใหญ่ มีหลายขั้นตอน จะมีความซับซ้อนในการทำงาน
พอเข้ามาคนก็รู้จักมากขึ้น แต่ตังค์เท่าเดิมครับ (หัวเราะลั่น) โฆษณาเข้ามาได้นะครับ อยากมีบ้านแล้วครับ ซื้อมอเตอร์ไซค์ยังไม่ได้เลยครับตอนนี้ ถามว่ามีงานเยอะมั้ยก็เยอะครับ อย่างที่บอกถ้าเมื่อก่อนเราเป็นอินดี้ เราต้องรองานเข้ามาเอง แต่แกรมมี่จะคอยกรองงาน หางานให้เรา งานตอนนั้นที่ยังไม่มีโควิดก็เต็มทุกเดือน แต่พอโควิดมาอื้อหือ... ยื้อจนไม่รู้จะยื้อยังไงครับ ก๊อกประปาที่บ้านแห้งหมดแล้วนะ ผมกินน้ำก๊อก” ทำเอาเพื่อนๆ ในวงหัวเราะ ตุ๊กถามว่ากินได้ด้วยเหรอ จ๋ายตอบติดตลก “กินไม่ได้หรอก แต่ก็ต้องกิน (หัวเราะ)”
ถามว่าโควิดทำให้สะดุดมากมั้ย จ๋ายบอกว่าช่วงออกอัลบั้มแรกมีเวลาได้ทำงานเก็บเงินอยู่เป็นปี แต่ทุกวันนี้ตังค์ที่เก็บก็หมดแล้ว “พอโควิดมาก็หนักครับ คุยกันตลอด ก็ช่วยแชร์ช่วยประคอง ความจริงก็ได้แฟนเพลงช่วยซื้อของเรา เอาจริงถ้าไม่มีพวกเขา พวกผมก็ตายจริงๆ นี่พูดจริงๆ เลยนะ เพราะไม่ได้มีแค่เรา มีทีมงานที่อยู่กับเรา เราก็ต้องประคองเขาไปด้วย ก็หนักมาก เราได้เป็นศิลปินมีตังค์ แล้วก็กลับไปสู่วันแรกที่ไม่มีตังค์เหลือ (หัวเราะ) เหมือนโดนตัดแขนขา ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ได้ทำอะไรเลยถ้าเกี่ยวกับวงนะครับ จะมีแค่ช่วงแรกที่พอมีงานออนไลน์ พอมีงานจ้างจุนเจือบ้าง แต่พอมารอบ 2 รอบ 3 นี่หนักเลย ทำอะไรไม่ได้เลย เงินเก็บก็หมดแล้ว ต้องขายของประทังไป เป็นวงที่น่าสงสารนะครับ (หัวเราะ)”
เพื่อชีวิตกู
ผลงานอัลบั้มชุดล่าสุด “เพื่อชีวิตกู” อัลบั้มชุดที่ 2 ของไททศมิตร จ๋ายเล่าถึงที่มาที่ไปว่า “ความจริงมันเริ่มจากเพลงที่เราเขียนและเอามารวมกัน เราก็มาสังเกตว่าเห็นจุดเปลี่ยนบางอย่างจากอัลบั้มแรกมาอัลบั้มนี้ อาจจะเพราะเราโตขึ้น เห็นมุมมองต่างๆ มากขึ้น ทำให้จากที่เราโฟกัสสเกลใหญ่ๆ ก็โฟกัสสเกลเล็กๆ ก็คือคนครับ ในอัลบั้มประกอบไปด้วยหลากหลายคน หลากหลายรูปแบบที่เราเจอผ่านตาในชีวิตปกติ หลากหลายอาชีพที่พบแรงเสียดทานมากกว่าอาชีพปกติ ก็เลยเป็นคอนเซปต์คำว่า “เพื่อชีวิตกู” ว่าเรากำลังพูดถึงชีวิตคนทุกคนในอัลบั้ม เราหยิบแต่ละอาชีพขึ้นมาสะท้อน”
มีนบอกว่าในอัลบั้มนี้ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ส่วนจ๋ายเสริมว่าความจริงเริ่มทำมาเป็นปีแล้ว บางเพลงใช้เวลาเป็นปี โมสบอกว่าถ้านับตั้งแต่เริ่มคิดไว้บ้างก็ตั้งแต่อัลบั้มแรกยังไม่ได้วางขาย แต่อย่างที่มีนบอกว่าขั้นตอนทำงานแบบจริงจังก็คือ 4 เดือน ส่วนความยากง่ายในการทำอัลบั้ม จ๋ายบอกว่า “ยากมากครับ การเขียนเพลงก็ยาก วิธีการทำงานมันยาก อย่างที่บอกบางเพลงใช้เวลาเป็นปีกว่าขั้นตอนของงานจะจบได้
อาจจะเป็นเรื่องประสบการณ์ด้วย เหมือนเรายังสลัดตัวตน สลัดดนตรีจากอัลบั้มแรกไม่ได้มาก แต่จะเรียกว่าความโชคดีบนความโชคร้ายก็ได้ พอโควิดทำให้พักยาวมาก โควิดช่วงแรกยังทำไม่ได้ ช่วง 2 ยังไงๆ อยู่ แต่พอช่วง 3 สลัดไปหมดเลย ทำในสิ่งที่ชอบและไม่คาดหวัง อันนี้คือเรื่องความยากของการทำดนตรี ส่วนเรื่องการทำงานก็ยากมากเพราะแต่ละคนเจออุปสรรคที่แตกต่างกันไปครับ กว่าจะทำงานสำเร็จได้ก็ทุลักทุเลเหมือนกัน”
ส่วนเอ็มวี “เพื่อชีวิตกู” เพลงเปิดอัลบั้ม จ๋ายบอกว่า “ความจริงทีแรกเราฟิกซ์ว่าให้สื่อสารกับคนง่ายกว่านี้ เข้าถึงง่ายกว่านี้ เข้าใจง่ายกว่านี้ แต่ด้วยหลายเหตุผลทำให้มันเปลี่ยนเป็นชอยส์นี้เพราะว่าเราพยายามแยกตัวเพลงกับเอ็มวีออกจากกัน ให้เพลงได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ ตัวเอ็มวีจะพูดในเชิงความหมายแบบ Conceptual ที่อาจไม่ซิงก์กับตัวเพลงสักเท่าไร ดูแล้วอาจต้องตีความอีกชั้นนึง เพื่อให้เพลงทำงานเต็มที่ ฟังเพลงเต็มที่ครับ ฟีดแบ็กถ้าสำหรับวงเอง ผมรู้สึกว่ามันเป็นไปตามที่หวัง เราแฮปปี้ตั้งแต่ขั้นตอนงานเสร็จแล้ว พอปล่อยไปมันเป็นผลบวกครับ”
เมื่อพูดถึงเพลง “นักเลงเก่า” หนึ่งในเพลงอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ “4 KINGS” ที่กลายเป็นไวรัลในแอป TikTok อยู่พักใหญ่ ถามว่ารู้สึกยังไงบ้าง โมสแซวขึ้นมาว่า “กะละมังซักผ้าใช่มั้ยครับ (ยิ้ม)” ทำเอาสมาชิกในวงยิ้มและขำกันยกใหญ่ โมสพูดต่อ “ก็ดีใจครับ เพลงทำงานไปไกลกว่าที่คิดไว้มากมายเลย ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ขนาดนั้น ไม่ได้ตั้งใจว่าจะถูกพูดถึงมากมายในหลายแง่ขนาดนี้
คือไม่ใช่แค่เพลงประกอบหนังเฉยๆ ไม่ใช่แค่เพลงจากไททศมิตรหรือเพลงร็อก แต่ถูกพูดถึงหลายอย่างหลายแง่มุมและในคนหลายๆ กลุ่ม ดีใจมากที่เพลงไปได้ขนาดนั้น” จ๋ายเสริมว่า “การเป็นไวรัลเรากำหนดไม่ได้ครับ หลายๆ เพลงของเราเกิดไวรัลเพราะแฟนเพลงไปทำเอง” โมสพูดต่อ “ต้องให้ประชาชนเป็นคนกำหนด ซึ่งมันนอกเหนือการคอนโทรลของพวกเรา แต่เราแฮปปี้ครับ”
ถามว่ารู้สึกยังไงที่เพลงนี้ทำให้คนรู้จักไททศมิตรมากขึ้น จ๋ายบอกว่า “ดีใจครับ และก็ประหลาดใจ ความจริงเป็นตามที่คาดหวังแหละ แต่เราไม่ได้เจอกับตัว เช่น การที่วงได้ทำเพลงภาพยนตร์ จากการที่ผมได้ไปเล่นหนัง มันทำให้เรารู้ว่ามีคนกลุ่มนึงที่ใหญ่มากไม่รู้เลยว่ามีวงนี้อยู่ มันทำให้เรากลับมาสังเคราะห์ตัวเองอีกทีว่าเราจะต้องทำงานสเตปต่อไปของเราเป็นยังไงครับ”
จ๋ายบอกว่าโดยรวมพอใจกับอัลบั้มชุดนี้มาก อยากให้ทุกคนได้ฟัง อัลบั้มแรกยังมีบางจุดที่อยากกลับไปแก้ ถ้ามีเวลาน่าจะดีกว่านี้ บางอย่างมันช้ำด้วย แต่อัลบั้มนี้ใหม่สำหรับเรา ได้ร่วมงานกับศิลปินคนอื่นด้วย มุมมองโตขึ้น ความหนักของดนตรียังอยู่ ความเกรี้ยวกราด เราต้องชาเลนจ์ตัวเอง กว่าจะทำเสร็จได้ทั้งตัวเราเองและศิลปินที่มาร่วม สำหรับเรา เราพอใจแล้ว สุดท้ายให้คนฟังตัดสินใจ โมสเสริมว่าในอัลบั้มแรกมีเวลาน้อย เป็นช่วงรอยต่อ ไปทัวร์คอนเสิร์ตด้วย แล้วต้องปล่อยในปีนั้น ทำให้ต้องรีบทำให้เสร็จสมบูรณ์
การร่วมงานศิลปินหลายแนว
ในอัลบั้มนี้วงไททศมิตรมีโอกาสร่วมงานกับศิลปินหลากหลายแนว เรียกมีตั้งแต่แร็ปเปอร์ไปจนถึงศิลปินลูกทุ่งชั้นครูชื่อดัง เริ่มต้นจากแร็ปเปอร์ดัง ดี เจอร์ราร์ด (D Gerrard) ที่ร่วมงานกันในเพลง “นักเลงเก่า” จ๋ายบอกว่า “ไม่ใช่เรื่องยาก พี่บิ๊กเก่งมากครับในเรื่องการทำงาน ทีแรกคือเราไม่ได้เอาเพลงเป็นตัวตั้งว่าจะต้องฟีตใคร เพลงนี้เอาจริงๆ มันอยู่ตั้งแต่อัลบั้มแรก เพลงก็เสร็จในตัวมันอยู่แล้ว แต่ทางหนังยื่นมาว่าอยากให้พี่บิ๊กเข้ามาร่วมงานด้วยเพราะน่าจะส่งเสริมหนังได้ดี คือทีแรกเพลงเริ่มจากโปรเจกต์หนังก่อน ไม่ใช่โปรเจกต์อัลบั้ม พอมีพี่บิ๊กมาเติมเต็ม กลายเป็นว่าเพลงสมบูรณ์ขึ้น แล้วก็เอามารวมในอัลบั้มนี้ด้วย” โมสเสริมว่าก่อนหน้านี้รู้จักกับบิ๊กอยู่แล้ว เจอกันก็ทักทาย กินข้าวด้วยกัน ส่วนจ๋ายบอกว่ารู้จักหลังจากที่เล่นหนังเรื่อง 4 KINGS ด้วยกัน เรื่องการทำงานเลยไม่มีปัญหาเท่าไร
นอกจากนี้วงไททศมิตรยังได้รับโอกาสดีๆ ในการร่วมงานกับ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินลูกทุ่งเพลงแหล่ชื่อดังในเพลง “ไทเท่” ก่อนที่ไวพจน์จะเสียชีวิต กลายเป็นเพลงแรกและเพลงสุดท้ายของไททศมิตรที่ได้ร่วมงานกับศิลปินชั้นครูผู้ล่วงลับ จ๋ายเล่าถึงการร่วมงานว่า “คือตอนที่มีโปรเจกต์เพลงนี้ขึ้นมา ตอนนั้นเรายังหาศิลปินมาฟีตไม่ได้ แล้วผมดูรายการของพี่หม่ำ จ๊กมก แล้วเห็นพ่อไวพจน์ออกรายการ ก็เลยเอาชื่อพ่อมาเสนอวง เพราะเห็นว่าเพลงชื่อไทเท่ ถ้าเบอร์ 1 เมืองไทยก็ต้องเบอร์ 1 ไปเลย เราก็เห็นตรงกันว่าควรจะเป็นพ่อ
ผมก็เลยให้ค่ายไปหาคอนแท็กมาและติดต่อพ่อไป ทีแรกก็คุยไม่รู้เรื่องครับเพราะแกอายุมากแล้ว แกก็บอกว่าให้มาหาที่สุพรรณฯ พอไปถึงแกเตรียมกับข้าวกับปลาให้เราเรียบร้อย พอกินข้าวเสร็จก็คุยกับพ่อว่าทำไมถึงเลือกที่จะฟีต พ่อบอกว่าพ่อถูกชะตา แล้วมีโอกาสเจอลูกชายคนเล็กของพ่อ เพิ่งมาทราบว่าลูกชายคนเล็กเป็นรุ่นน้องผมที่มัธยมโรงเรียนเก่า โชคดีที่เราวางแผนกันว่าเราพกเครื่องบันทึกเสียงไปด้วย ก็บันทึกเสียงพ่อในวันนั้นเลย สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนรู้ว่าเพลงที่ได้ยินเสียงพ่อคือพ่อนอนร้องนะครับ ด้วยอายุแกด้วย แกนอนแล้วเราเซตไมค์จ่อให้แกร้อง”
เมื่อได้ยินข่าวว่าไวพจน์ เพชรสุพรรณ เสียชีวิต จ๋ายบอกว่าช็อกมากๆ จำได้ว่ามีนโทร.หาแล้วบอกข่าวนี้ ก็ได้แต่พูดว่าเหรอๆ มันช็อกจนทำอะไรไม่ถูก แล้วเปิดเพลงที่พ่อฟีตฟัง ก่อนหน้านี้ฟังแล้วรู้สึกว้าวมาก นี่แหละศิลปินแห่งชาติ พอเปิดฟังอีกรอบมันเป็นความรู้สึกเดิมแต่มวลมันเปลี่ยน มันรู้สึกทั้งอาลัยและต่างๆ นานา “ผมพูดกับพ่อไว้ว่าพ่อเท่แน่นอน เดี๋ยวเอ็มวีพ่อเท่แน่ๆ ผมเปิดตัวให้พ่อแบบเท่ๆ เลย น่าเสียดายครับ”
สำหรับการร่วมงานกับ มิลลิ (MILLI) แร็ปเปอร์สาวชื่อดัง ในเพลง “โคโยตี้” จ๋ายบอกว่า “พอเริ่มทำเพลงนี้เราเห็นหน้ามิลลิตั้งแต่เพลงยังไม่เสร็จ คือต้องเบอร์นี้เท่านั้น ตอนแรกมีหลายชอยส์มาก เพราะวงอื่นก็ฟีตกับมิลลิเยอะมาก เขาก็ถามว่ามั่นใจเหรอว่าจะเป็นมิลลิ เราก็ลองชอยส์อื่นนะแต่มันไม่ได้อะ มันต้องเป็นเขาเท่านั้น” โมสเสริมว่า “เหมือนเพลงถูกสร้างมาเพื่อมิลลิเลย ยังไงก็ต้องคนนี้”
จ๋ายพูดต่อ “ใช่ๆ จนมาถึงวันอัด เราถึงมั่นใจว่าเราคิดถูก พอได้ร่วมงานกันคือเขาโคตรเก่ง คือผมยังด่ามือกลอง (ชี้ไปที่ตุ๊ก) ว่าเขียนบีทอะไรมา แล้วเขาจะแร็ปยังไง มันเป็นสัดส่วนที่แร็ปยากมาก คิดว่าน้องจะแร็ปได้รึเปล่า คือมิลลิเก่งมากแต่เขายังเรียนอยู่ปี 1 ด้วยอายุเขาต้องมาพูดเรื่องโคโยตี้ในเพลงไททศมิตร แล้วมันมีเรื่องระบบ ความเหลื่อมล้ำ เราก็ไม่รู้น้องจะได้รึเปล่า ก็มีการช่วยหา reference ให้ ไปหาโคโยตี้จริงๆ แล้วให้น้องคุย คือน้องเก่งมากๆ”
และอีกหนึ่งศิลปินที่พวกเขาได้ร่วมงานคือนักร้องคุณภาพ เบน ชลาทิศ ในเพลง “ไอ้สอง” ถามว่าไปร่วมงานได้ยังไง จ๋ายบอกว่า “พี่เบนนี่ก็เหมือนกัน คือเพลงนี้ต้องเป็นพี่เบน เพลงนี้ถูกเขียนเสร็จนานแล้วเหมือนกันตั้งแต่ช่วงอัลบั้มแรก ผมก็คิดในใจว่าต้องพี่เบนเท่านั้นเลย มันมีความเป็นตัวแม่ เขาเก๋าที่จะพูดถึงเรื่องนี้ พี่เบนมีความเข้าถึงง่ายบางอย่าง จริตความเป็น LGBTQ ของเขา ไม่ได้เฟียร์สจนเราถอยห่าง ความเป็นมืออาชีพไม่ต้องพูดถึง อีกอย่างผมเล่นละครเวทีมา จะมีละครเรื่องนึงที่พี่เบนเคยไปเล่นให้ภาควิชา เราก็เห็นสกิล คาริสม่า ภาพเลยชัดมากว่าเพลงนี้ต้องพี่เบนเท่านั้น ร่วมงานกับทุกคนคือสบายมากครับ แล้วเขาไปเกินธงที่เราตั้งไว้”
นิยาม 4 ปีไททศมิตร
การออกอัลบั้มใหม่ในยุคโควิดเป็นความยากที่ศิลปินจะต้องเจอ ถามว่ากังวลมั้ย จ๋ายบอกว่าเริ่มชินแล้ว ไม่ได้คาดหวัง เรารอมานานแล้วว่าถึงเวลาที่อัลบั้มต้องปล่อย แต่ถ้าพูดถึงสัญญาณมันเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะว่าเศรษฐกิจก็ต้องรันเพราะพักมานานแล้ว น่าจะไม่เกินกลางปีนี้ก็คงมีงานบ้าง เริ่มประคองได้บ้าง ส่วนความคาดหวังในอัลบั้มใหม่ โมสบอกว่าตั้งแต่วันที่ปล่อยออกไปทุกเพลง ไม่คิดอะไรต่อแล้วว่าชีวิตจะเปลี่ยนอีกมั้ย หรือไปไกลขนาดไหน
นอกจากนี้โมสบอกว่า “เราอยู่กับอัลบั้มนี้มานานมาก ผูกพัน รักมันมากๆ ผมกล้าพูดว่าพวกเราทำงานหนักจนถึงขั้นว่าเราไม่ต้องหวังอะไรกับมันแล้ว เพราะเราบริสุทธิ์ใจกับมันจริงๆ เราไม่ได้ทำเพื่อว่าชีวิตกูต้องดีขึ้น หรือจะต้องร้อยล้านวิว หรือดังมากมายไปกว่านี้ เราแค่ทำเพลงที่เป็นเหมือนลูกของพวกเราออกมาอย่างบริสุทธิ์ใจ แล้วมันสำเร็จตั้งแต่เพลงยังไม่ได้ปล่อยด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตของพวกเราอันนึงทำเสร็จแล้ว”
จ๋ายเสริมว่า “ทีแรกเรามีความคาดหวัง คุยกับมีนอยู่เลยว่าอัลบั้มนี้ต้องดัง เพราะมันจะมีอาถรรพณ์อัลบั้ม 2 ไม่ดังก็ดับเลย เราก็มีความกังวลนิดหน่อย แต่พอปล่อยวันแรกปุ๊บ เราไม่ได้สนใจยอดวิวแล้ว เรารู้สึกภูมิใจกับมัน ใครจะด่าก็ยิ้มอย่างเดียวแล้วตอนนี้”
เมื่อถามถึงนิยาม 4 ปีของไททศมิตร มองทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามายังไงบ้าง จ๋ายตอบติดตลก “เหมือนวิ่งร่าเริงอยู่ในนรก” เสียงหัวเราะของสมาชิกทุกคนดังอีกครั้ง จ๋ายพูดต่อ “เรานิยามตลอดว่ามันเหมือนการออกเรือ การสร้างเรือขึ้นมาแล้วออกเดินทาง ตั้งแต่อัลบั้มแรก ผมชวนก็จริง แต่การสร้างเรือมันประกอบได้ด้วยทุกคนไม่ใช่แค่ผม เราทุกคนช่วยกันประกอบเรือขึ้นมา พอเกิดเรือขึ้นมา เราก็แบ่งหน้าที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของเรือลำเดียวกัน รวมถึงทีมงานด้วยนะฮะ
เรือลำนี้ดำเนินมาเข้าปีที่ 4 เข้าเฟสสอง ผมว่าเฟสที่ 2 เป็นเฟสที่น้ำมันยิ่งลึกและเชี่ยวกว่าเดิม คลื่นใหญ่กว่าเดิม เจอสิ่งแปลกใหม่ บททดสอบที่ยากกว่าเดิม พายุหนักกว่าเดิม แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือประสบการณ์เรามากกว่าเดิม มากไปกว่านั้นเรามีกำลังใจที่ดีและซัพพอร์ตมากกว่าเดิม แฟนเพลงที่ขับเรือตามมาเชียร์ คนที่อยู่บนฝั่งคอยส่งเสบียงมาให้ มันเลยทำให้เรือลำนี้ยังประคองและแล่นในทางที่ควรจะแล่นได้ครับ”
ส่วนปีต่อไปของไททศมิตร จ๋ายตอบขำๆ “ปีต่อไปเราก็จะขายเรือลำนั้นแล้วฮะ” โมสเสริมฮาๆ “ขึ้นฝั่งแล้วซื้ออุปกรณ์ต้มเบียร์แบบแจ็ก สแปร์โรว์ ฮะ” จ๋ายพูดปิดท้ายว่า “ณ ตอนนี้ยังไม่ได้คาดหวัง ถ้าคุยกันคร่าวๆ ว่าเรารอดูฟีดแบ็กจากอัลบั้มนี้ ดูความเป็นไปของสังคม แฟนเพลง หลายๆ อย่าง แล้ววางโครงอัลบั้มหน้า ก็คงเป็นลูปของศิลปินทั่วไปครับ ยังคงทำเพลงสะท้อนสังคมเหมือนเดิม ถามว่าอยากทำเพลงแบบไหนอีก เอาจริงขึ้นอยู่กับคนฟังมากกว่า เราเขียนเพลงเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่เราเลือกเสพคนฟัง มันต้องถึงช่วงเวลานั้นก่อนครับแล้วมองว่าเฮ้ย เรื่องนี้ต้องพูดแล้วแหละครับ”.
ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : GMM Grammy
กราฟิก : Varanya Phae-araya