- รักการแต่งเพลงตั้งแต่เด็ก ใช้เวลาว่างจากการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นนักดนตรีกลางคืน
- เส้นทางสู่ศิลปินจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่ใช่ง่าย เซ็นสัญญาไป 4 ปี กว่าจะได้ออกซิงเกิลแรก
- ชีวิตที่วางไว้หากวันหนึ่งไม่ได้เป็นนักร้อง เริ่มสนใจการลงทุนในวัยใกล้ 30 ปี
เป็นอีกหนึ่งศิลปินดังที่มีเพลงฮิตมากมาย สำหรับ อะตอม ชนกันต์ รัตนอุดม นักร้องหนุ่มจากค่ายไวท์ มิวสิค ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีผลงานเพลงที่ทำด้วยตัวเองและกลายเป็นเพลงดังหลายเพลง อาทิ Please, อ้าว, ทางของฝุ่น (Dust), ช่วงนี้ (Karma), แผลเป็น (Scar) ฯลฯ และล่าสุดเขากลับมากับผลงานเพลงในอัลบั้มชุดที่ 3 “GUM” กับเพลงใหม่ อาทิ อย่าหาทำ, พอไหว, ปล่อยปาก, FOLLOW, เจ็บจริง
แต่กว่าจะมีวันนี้ อะตอมเล่าให้บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ฟังว่า เขาชื่นชอบการแต่งเพลงมาตั้งแต่เด็ก และฝึกฝนตัวเองในเรื่องดนตรีมาตลอด ใช้เวลาว่างจากการเรียนในมหาวิทยาลัยไปเป็นนักดนตรีกลางคืน พยายามส่งเดโมไปค่ายเพลง และถึงแม้จะได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในช่วงอายุ 19-20 ปี แต่ด้วยอะไรหลายอย่าง ทำให้กว่าที่เขาจะได้ออกซิงเกิลแรกในชีวิตก็ใช้เวลานานกว่า 4 ปีเต็มๆ เรียกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับเส้นทางศิลปินของเขา
...
เขียนเพลงตั้งแต่เด็ก
อะตอมเล่าถึงชีวิตที่เริ่มหลงใหลในเสียงเพลงตั้งแต่เด็กให้ฟังว่า “ถ้าทำเพลงจริงๆ ก็เริ่มเรียนรู้วิธีการทำเพลงเป็นเรื่องเป็นราวก็ตอนที่มาเจอโปรดิวเซอร์ คือพี่บอล อพาร์ทเมนต์คุณป้า อันนั้นก็เริ่มโตขึ้นมาในระดับนึง แต่ถ้าตอนที่เขียนเพลงแรกๆ เราเริ่มตั้งแต่เด็กมากๆ ก็ประมาณ ป.5-6 จะเรียกว่ามั่วก็ได้ คือลองเขียนดู ลองเอาเนื้อเพลงตัวเองใส่เข้าไปในเพลงที่ดังอยู่แล้ว เอาใส่ในทำนองเขา ลองแปลงเพลงบ้าง
แล้วเราเป็นคนที่ชอบวิชาภาษาไทย ชอบเขียนกลอน ชอบแต่งกลอนส่งครู เป็นอะไรที่ดี แล้วเราจับมารวมกับความชอบทางดนตรี ก็เลยเป็นการแต่งเพลงและลองเขียนเพลงของตัวเองมาเรื่อยๆ ทำเดโมต่างๆ มาตลอด สุดท้ายก็เริ่มเข้าสู่วงการ ได้เจอผู้คน ได้เข้าไปอยู่แกรมมี่ และมาอยู่กับพี่บอล เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการทำเพลงหรือคนเบื้องหลังในช่วงแรก ทำให้พี่บุรินทร์ (บุญวิสุทธิ์) ทำให้คนโน้นคนนี้ จนกระทั่งได้เป็นศิลปินเอง”
ถามว่าในช่วงที่เริ่มแต่งเพลงเองมีแรงบันดาลใจจากอะไร อะตอมบอกว่าคงเป็นความชอบ ตอนเด็กๆ เวลาเจออะไรที่สนใจ พอตั้งใจทำไปเรื่อยๆ มันค่อยๆ เก่งขึ้น ค่อยๆ รู้เรื่องขึ้นเอง “มันเริ่มจากงานอดิเรก เพราะเด็กๆ ก็ต้องเรียนหนังสือ แต่เรื่องดนตรีเป็นอะไรที่เราทำคู่กับการเรียนมาตลอดตั้งแต่เด็ก เป็นอะไรที่เราชอบและมีความสุขที่จะทำ เพราะฉะนั้นเวลาที่ว่างจากการทำอย่างอื่น เราก็จะมาหาดนตรีเสมอ ลองเขียนเพลงบ้าง ซ้อมกีตาร์ เวลาที่ใช้ไปกับดนตรีผมว่าประมาณครึ่งนึงครับ
ส่วนศิลปินที่ชื่นชอบ ถ้ายุคเด็กๆ ทุกคนจะเริ่มจากป๊อปร็อก เพลงพวกนั้นเป็นเพลงที่เรายังร้องได้ ยังชอบมันอยู่ ที่ผมชอบก็เป็นศิลปินชั้นนำในเมืองไทยตอนนั้นเด็กๆ ชอบฟังกัน เป็นความทรงจำที่ดีมาตลอด อย่างตอน ป.5 ผมชอบฟังวงแคลชมากๆ แล้วก็ชอบบอดี้สแลม บิ๊กแอส เอบีนอร์มอล ตอนนั้นมีเยอะมากครับ เราก็จะเริ่มเล่นเริ่มเรียนกีตาร์จากเพลงพวกเขาผ่านหนังสือเพลง แต่ก่อนมันไม่ได้มีสื่อหรืออินเทอร์เน็ตให้เราได้ค้นหามากมาย
แต่พอเริ่มโตขึ้นเราก็เริ่มหาตัวเองที่มันแปลกแตกต่างออกไป ฟังมากขึ้น ถ้าเพลงสากล ผมชอบ เอมี่ ไวน์เฮาส์ มากๆ แต่ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว เสียดายมากๆ ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มฟังเพลงหลากหลายมากขึ้น ฟังเพลงลึกขึ้น ฟังเพลงที่กว้างออกไป ผมว่าคุณฟังเพลงแบบไหน มันก็จะมีผลกับเพลงที่คุณทำออกมา มันจะมีส่วนผสมเพลงต่างๆ ที่คุณชอบและฟังบ่อยๆ เพลงก็เหมือนครูของเรา การฟังก็สำคัญในการที่จะทำตรงนี้ได้ดี”
นักดนตรีกลางคืน
ถึงแม้จะรักการแต่งเพลงเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ในช่วงมหาวิทยาลัย อะตอมเลือกเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งในช่วงที่เรียนใน ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตอนนั้นอยู่หอพัก ไม่ได้กลับบ้าน ชีวิตมีอิสระมากๆ แต่เรื่องเรียนถือว่ารับผิดชอบได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว ซึ่งในการเรียนที่คณะไม่ได้เช็กชื่อ เข้าหรือไม่เข้าเรียนก็ได้ แต่ตอนสอบ 100% ช่วงสิ้นเทอม ต้องเอาตัวให้รอด ฉะนั้นจึงมีอิสระเต็มที่ แต่ก็ต้องจัดการให้ดี ซึ่งนักร้องหนุ่มบอกว่าเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นดนตรี
“สารภาพเลยว่าเข้าเรียนน้อยมากๆ อาศัยการอ่านเอง เขาจะมีตำรามาให้และจะออกสอบในเนื้อหา เราก็ต้องอ่าน เข้าเรียนบ้างบางครั้งที่จำเป็น ชีวิตส่วนใหญ่ก็คือการเล่นดนตรีครับ ตอนเปิดเทอมปี 1 วันแรก เราไปออดิชั่นร้านเหล้าเพื่อที่จะได้เล่นดนตรีก่อนที่จะเปิดเรียนอีก จำได้ว่า 1 คืนก่อนที่จะเปิดเรียน เราไปออดิชั่นได้ร้านที่จะเล่น 2 ร้าน คือใจมันคงรักมากครับ ตอนนั้นอยากจะเล่นดนตรี อยู่ในบรรยากาศที่มันมีดนตรี เราก็เล่นดนตรีกลางคืน เป็นร้านนั่งดื่มที่ขายดีที่สุดในบริเวณนั้น เราก็เล่นมาตลอด 4 ปี จนเรียนจบครับ
...
ซึ่งในช่วงปี 1-2 การเรียนมันไม่ได้หนักมาก แต่ถือว่าหนักถ้าเทียบในเรื่องการอ่านหนังสือ แต่ถ้าเทียบในคณะเดียวกันเองมันจะไปหนักประมาณปี 3-4 ก็เอาตัวรอดมาได้ครับ คือเวลามันเยอะจริงๆ ถ้าไม่ได้ขี้เกียจไปเลย ยังสนใจอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบได้ ยังไงก็รอดครับ
กิจกรรมที่เราสนใจคือดนตรี เราก็เข้าชมรมดนตรี ไปเล่นดนตรีกลางคืน เป็นอะไรที่มีความสุขที่ได้ทำครับ ผมคงเสียดายถ้าไม่ได้ใช้เวลาในช่วงนั้นทำอย่างที่ได้ทำไป เพราะประสบการณ์หลายอย่างเราได้มาจากตรงนั้นจริงๆ ถามว่าเหนื่อยมั้ย คือมันอาจไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยมาก เพราะว่าเรามีเพื่อนที่เหนื่อยไปกับเรา ช่วงอ่านหนังสือก็ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตี 3 พักก็ไปกินข้าวด้วยกัน”
ในระหว่างที่เรียน นอกจากเล่นดนตรีกลางคืนแล้ว เขาก็ยังทำเดโมเพลงส่งค่ายเพลงด้วย จนทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิต ซึ่งอะตอมเล่าว่า “คือจริงๆ เราส่งเดโมตั้งแต่ ม.ปลายแล้วครับ เราแต่งเพลงได้ เราก็อัดเพลงง่ายๆ ที่บ้านนี่แหละ อัดเสียงร้องกับกีตาร์โปร่ง ก็เป็นเพลงอะคูสติก อัดไปประมาณ 4-5 เพลง และเลือกเพลงที่ดีที่สุดของเรา ตอนแรกทำที่บ้าน แต่หลังๆ อยากทำเดโมจริงจัง ก็ขอแม่พาไปอัดที่ห้องอัดจริงจัง จะทำเดโมเพื่อไปส่งเพลงให้ค่ายนั้นค่ายนี้
...
แต่จุดเปลี่ยนเลยคือมีวันนึงเราไปอัดเดโมอยู่ ก็ไปกับคุณแม่นี่แหละ วันนั้นเป็นวันที่พี่แอมมี่ The Bottom Blues มาพอดีแล้วได้เจอกัน เราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันที่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน อยู่แล้ว หลังจากนั้นพี่แอมมี่ก็เลยเป็นคนที่ช่วยเอาเดโมของเราเข้าไปฝากที่ค่ายสนามหลวงมิวสิก ในเครือแกรมมี่ ผ่านไปนานพอสมควรถึงได้เข้าไปคุยที่แกรมมี่และได้เซ็นสัญญาครับ”
กว่าจะเป็นศิลปิน
แต่ถึงแม้จะได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินค่ายแกรมมี่ตั้งแต่ 2554 กว่าจะได้ออกอัลบั้มแรกในชีวิตของอะตอมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะใช้เวลาอยู่นานหลายปี
“ผมเซ็นสัญญาตั้งแต่น้ำท่วมปี 54 เข้ามาอยู่แกรมมี่ตั้งแต่อายุ 19-20 ปี แต่ระหว่างทางกว่าจะได้ทำเพลงออกมาเป็นศิลปินจริงๆ มันก็ผ่านช่วงเวลา 3-4 ปีที่ยังไม่ได้ทำเพลงของตัวเองอย่างจริงจัง เหมือนเป็นช่วงฝึกหัด หาประสบการณ์ ค่ายก็ลองพาไปทำเพลงกับโปรดิวเซอร์เพลงหลายๆ ท่าน ซึ่งก็เวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง บางท่านยุ่ง บางท่านไม่เหมาะกับเรา กว่าจะมาเจอพี่บอลและได้ออกเพลงจริงๆ คือผ่านสัญญาฉบับนั้นมา 3-4 ปีแล้ว คือเรียนจบพอดี จบมาประมาณเกือบปี เพลงแรกถึงได้ปล่อยครับ
คือมันค่อนข้างยากเหมือนกันในการหาโปรดิวเซอร์ที่แมตช์กับเราได้ หลายครั้งที่ค่ายส่งไปให้ลองทำ แต่หลายครั้งมันไม่คลิกกัน ด้วยเคมีไม่ตรงกัน หรือแนวทางไม่ตรงกัน แต่สำหรับพี่บอล ผมว่าเหมือนที่ผ่านมาที่ทำกับใครก็ไม่เวิร์ก ก็เพื่อรอมาเจอแกนี่แหละ คือเราได้เจอคนที่นิสัยใจคอ เคมีในการทำงานตรงกัน สไตล์ต่างๆ ค่อนข้างตรงกันทุกอย่าง
พี่บอลกับทีมโปรดักชั่นก็กลายเป็นเหมือนคนในครอบครัวของเรา เป็นพี่น้องที่รักและดูแลมาตลอดตั้งแต่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลากว่าจะเจอคนที่ใช่ ทำงานด้วยกันแล้วเวิร์กจริงๆ”
...
เมื่อถามว่าการทำงานกับบอล อพาร์ทเมนต์คุณป้า คลิกกันในจุดไหนบ้าง นักร้องหนุ่มขยายความให้ฟังว่า
“ผมว่าเรื่องนิสัยใจคอก็สำคัญครับ เป็นคนที่นิสัยคล้ายกัน เข้ากันได้ในแบบพี่น้อง คุยกันรู้เรื่อง คุยภาษาเดียวกัน ในการทำงานพี่บอลเป็นคนที่จับจุดเด่นของเราได้ ตอนนั้นเราเป็นเด็กที่เล่นกีตาร์โปร่ง ชอบดนตรี เราก็มีแนวทางที่เราชอบอยู่แต่ยังไม่ชัด
พี่บอลเป็นคนดึงจุดเด่นตรงนั้นออกมา ให้เวลา ให้พลังกับเราในการทำงานอย่างเต็มที่จริงๆ เป็นคนแรกที่พาเราไปนั่งในห้องอัด ช่วยกันทำเพลงคิดเพลงคิดท่อน ซึ่งที่ผ่านมาโปรดิวเซอร์แต่ละคนที่เราทำงานด้วยเราไม่ได้รู้สึกแบบนี้ แต่อันนี้เรารู้สึกถูกต้อง มีความสุขในการทำงานมากๆ ครับ”
จากนั้นอะตอมเล่าอีกว่า “ก่อนหน้านี้ก็ค่อนข้างมีความทรมานในใจอยู่เหมือนกัน ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ได้ทำสักที เราพร้อมแล้ว แต่พาไปเจอคนโน้นคนนี้แล้วไม่เวิร์กสักที แต่ในระหว่างที่รอ เรายังมีเรื่องเรียนที่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นมันก็ทำอะไรไม่ได้มาก เราก็ต้องตั้งใจเรียนให้จบ ซึ่งทำได้ค่อนข้างโอเค ไม่ถึงกับแย่ เราก็ผ่านมาได้ จนเรียนจบเราก็บอกกับตัวเองว่ามันเหมือนถูกทิ้งมา 3-4 ปี ในใจก็รู้สึกว่าทำไมดองเรานานจัง ไม่ได้ออกสักที
ก็มีท้อครับ มันเหมือนเป็นการรอคอยที่ไม่จบสิ้นเหมือนกันสำหรับเรา แต่เราก็ยังสู้ เราเชื่อว่าของเราดี เราเชื่อว่ามีเพลงที่ดี เราขอแค่โอกาสครั้งเดียวที่มันได้ออกไปสู่ประชาชน ขอแค่ได้ปล่อยเพลงก็พอแล้ว แต่เราก็บอกกับครอบครัวว่าขอเวลาปีนึงหลังจากเรียนจบ ถ้ามันยังไม่เวิร์ก ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราจะไปเป็นนักกฎหมายแล้ว จะไปตามทางที่มันมีอนาคตดีกว่า สุดท้ายก็โชคดีครับว่าช่วงปี 58 ปล่อยเพลง “Please” ออกมา และเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จ เลยมีโอกาสได้ทำเพลงต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้”
ความสำเร็จที่ประทับใจ
แม้จะต้องใช้เวลารอคอยหลังเซ็นสัญญานานกว่า 4 ปี ถึงจะได้ปล่อยเพลงแรก แต่ก็สมกับที่เขารอคอย เพราะซิงเกิลแรก “Please” ในอัลบั้มแรก “CYANTIST” ประสบความสำเร็จ กลายเป็นเพลงดังติดชาร์ตวิทยุหลายคลื่น ส่งผลให้เขามีโอกาสได้ทำเพลงต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งอะตอมบอกว่า “คือจริงๆ สำหรับผม เกมมันจบตั้งแต่ปล่อยเพลงแล้วแหละ หลังจากนั้นสุดแล้วแต่ผู้ฟังเลย แต่ถามว่าดีใจมั้ย ดีใจมากที่ประสบความสำเร็จ แต่ว่า ณ ตอนนั้นความรู้สึกจริงๆ ก็คือโล่ง คือการรอคอย 3-4 ปี มันมาถึงที่เราต้องการสักที ก็คือการได้ปล่อยเพลง
คือตอนนั้นในใจเราคิดว่าจะดังไม่ดัง จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า เราไม่ได้สนใจเท่ากับการได้ปล่อยเพลงจริงๆ คือมันผ่านมาแค่ 5-6 ปี แต่ผมรู้สึกว่าตลาดเพลงหรือวิธีการฟังเพลงของคนเปลี่ยนไปเยอะมาก สมัยที่ผมปล่อยเพลงมาก็ต้องเปิดในวิทยุอยู่ค่อนข้างเยอะ เป็นสื่อหลักที่คนฟังกันเยอะมากๆ แพลตฟอร์มที่คนฟังเพลงกันอยู่ตอนนี้มันยังไม่เกิดเป็นรูปร่างเลย เพราะฉะนั้นเพลงแต่ละเพลงกว่ามันจะดังได้ใช้เวลาค่อนข้างนาน
ซึ่งกว่าเพลง “Please” จะเริ่มดัง เราปล่อยเพลงเดือน ม.ค. 2558 มันเริ่มเป็นที่พูดถึงก็ประมาณเดือน มิ.ย. แล้ว ครึ่งปีเพลงถึงดัง มันใช้เวลามากๆ ต่างจากเพลงเดี๋ยวนี้ที่ปล่อยออกมาแล้วก็ดังเลย มันค่อนข้างต่างกัน พอมันใช้เวลานาน เราก็มีเวลาค่อยๆ รับกระแสตอบรับจากคนฟัง เป็นช่วงอายุที่เรารู้สึกว่ามันประทับใจเรานะ เป็นช่วงเวลาที่ได้เริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ได้กระแสตอบรับจากแฟนเพลงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มองย้อนกลับไปก็ยังดีใจครับ และขอบคุณคนฟังมาตลอดที่ให้โอกาสกัน”
ความแตกต่างที่ต้องปรับตัว
กับความแตกต่างในการปล่อยเพลงที่เมื่อก่อนกว่าเพลงจะดังใช้เวลานาน ต่างจากปัจจุบันที่เพลงถูกปล่อยทางแพลตฟอร์มต่างๆ และสามารถเป็นกระแสได้ในชั่วข้ามคืน อะตอมบอกว่า “ผมว่าก็ต้องปรับตัวกันไปครับ โลกมันคงเปลี่ยนไปตลอดแหละ สิ่งที่เราทำได้จากตัวเราเองก็คือการทำเพลงตามมาตรฐานของเราให้มันไม่ตกเท่านั้นเอง เรามีอะไรที่เรารู้สึกว่าเราทำได้ดี เรารักษาคุณภาพ รักษาความดีนั้นไว้
ผมเชื่อว่าตัวเพลงที่ดี ไม่ว่าอยู่ยุคไหนมันก็อยู่ได้ เรายังเป็นคนที่ใส่ใจกับแกนหลักของเพลงมากๆ คือเนื้อร้องทำนองมันจะเล่าเรื่องยังไง เล่าเรื่องแบบไหน เล่าเรื่องไปเพื่ออะไร ดนตรีที่ห่อหุ้มมันไว้เราจะทำออกมายังไง เพราะฉะนั้นสำหรับเรา หัวใจของเพลงไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เราเชื่อว่าอันนี้เป็นจุดแข็งที่เราจะรักษาไว้ต่อไปในอาชีพของเรา ผมว่าการฟังเพลงของคนก็ต้องปรับตัวตามกันไป เดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันเร็วไปหมด ตั้งแต่ยูทูบก็เข้ามาเปลี่ยนแล้ว แล้วกลายเป็นแพลตฟอร์มของการฟังเพลงทุกอย่าง
ถ้านับช่วงอายุของเพลงเพลงนึง สมัยก่อน 1 เพลงถ้ามันดัง อยู่ได้ 2-3 ปี เอาไปเล่นซ้ำๆ ที่ไหนก็ได้ คนก็ยังรู้สึกอยากร้องตาม ทำงานได้ดีกับคนฟังอยู่ แต่ ณ ปัจจุบัน อายุเพลงมันค่อนข้างสั้นลงไปเยอะ คือมันมาแล้วดังมากแล้วหายไปเลย เพราะมีเพลงมาใหม่ทุกวันบนหน้าจอของเรา ถามว่าน่าเสียดายมั้ย มันก็น่าเสียดาย แต่ว่ามันก็เป็นทางของมันที่เป็นไปแบบนี้ เราก็ต้องปรับตัวเท่าที่เราจะทำไหวครับ
เราเชื่อว่าเพลงที่จะอยู่ในหัวใจคนได้ดีที่สุด คือเพลงที่มันเล่าเรื่องได้ดี ผ่านการคิดการกรองความเป็นเนื้อร้องทำนองดนตรีที่เราทำ มันก็คงดีที่สุด เป็นเพลงที่คนยังนึกถึง ต่อให้ผ่านไป 5 ปี 10 ปี เราเองก็มีเพลงในอดีตของศิลปินดังๆ หลายท่านที่ทุกวันนี้เรายังเอามาเล่นซ้ำ เอามาร้องอยู่ เพราะเพลงที่ดีอายุยืนจริงๆ ครับ อย่างเพลงของวงไมโคร เพลงแกรมมี่ยุคเก่ามากๆ 10-20 ปีที่แล้ว บางเพลง 30 ปี มันยังอยู่ในใจเราอยู่ เป็นเพลงที่เราฟังแล้วร้องและรู้สึกตามไปกับมัน เรารู้สึกว่าเพลงในปัจจุบันที่เล่าเรื่องเดียวกันก็ยังทำได้ดีไม่เท่าตอนนั้น
มันอาจจะเป็นต้นกระบวนการของการคิดงานด้วยครับ ผมว่าแต่ก่อนอาจมีเวลาให้เราทำอะไรแต่ละขั้นตอนค่อนข้างเยอะกว่าตอนนี้ ด้วยความที่เราไม่ต้องปล่อยเพลงกันรัวขนาดนี้ ตั้งแต่การเขียน อัด คิดทบทวนต่างๆ ก่อนจะปล่อยมาถึงคนฟัง ผมว่ามันก็มีผลนะ คือเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ผมว่าคนรู้สึกได้แหละ ระหว่างการทำเพลงสมัยก่อนกับสมัยนี้ เพลงบางเพลงเก่ามากๆ แต่เราฟังแล้วน้ำตาไหล รู้สึกเข้าไปถึงหัวใจ กับบางเพลงทำนองติดหู เต้นสนุก ฟังแล้วสนุกดี ตลกดี แต่สุดท้ายความหมายมันไม่ได้ลึกซึ้งถึงใจเรา เราชอบเพลงที่ความหมายดีและเข้าถึงใจคนมากกว่า ซึ่งเราว่าเป็นจุดที่สำคัญมากๆ ของการทำเพลงครับ”
ส่วนเคล็ดไม่ลับในการแต่งเพลง อะตอมบอกว่าให้น้ำหนักกับเนื้อร้องทำนองมากๆ เรื่องการเรียบเรียงดนตรีเป็นเรื่องที่มาทีหลัง เนื้อเพลงเข้าถึงคน สะกดใจคน เล่าเรื่องต่างๆ ได้ดี กว่าจะไปถึงขั้นทำดนตรี เราแก้มัน ลองร้องซ้ำๆ เรียบเรียงซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ จนดีที่สุด แล้วค่อยทำดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ผลงานที่ผ่านมาที่เข้าถึงคนได้จริงๆ ที่เป็นเพลงของเรา ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ระดับนึงว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงมีอายุอยู่ได้นานและเข้าถึงใจคน ส่วนเนื้อหาเพลงส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของตัวเอง เรื่องที่มาจากจินตนาการจะไม่เขียน เพราะเราไม่อินที่จะเล่าเรื่องพวกนั้น เหมือนเล่าเรื่องที่เราไม่รู้ ก็จะทำได้ไม่ค่อยดี
GUM
อะตอมเล่าถึงการทำงานอัลบั้มชุดที่ 3 “GUM” ซึ่งมิวสิกวิดีโอเพลงล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมาคือเพลง “เจ็บจริง” ไว้ว่า “สำหรับอัลบั้มนี้เป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่เริ่มว่าเราอยากทำอัลบั้มที่สดใสบ้าง เพราะตัวเองทำแต่เพลงที่เหมือนเป็นหนังชีวิตตัวเองมาตลอด คือมันมีแต่เรื่องอกหักผิดหวัง คนค่อนข้างชินกับเพลงอกหักของอะตอม เราก็อยากทำอะไรที่มันสดใสสนุกสนานบ้าง พอได้เพลงมาครบก็เลยมาตั้งคอนเซปต์กัน
ก็คิดมาหลายคำ สุดท้ายจบที่คำว่า “GUM” เพราะว่า GUM ของเราหมายถึงหมากฝรั่ง เรารู้สึกว่าเวลาคนเคี้ยวหมากฝรั่งมันจะมีความรีแลกซ์ กวนๆ เราก็เลยชอบความรู้สึกตรงนี้ เลยเอามาตั้งเป็นคอนเซปต์หลัก แล้วคำว่า GUM พอมันตีกลับเป็นภาษาไทย มันก็แปลได้หลายความหมาย ซึ่งค่อนข้างครอบคลุมเนื้อหาในอัลบั้มนี้ครับ อย่างคำว่า “กรรม” ที่แปลว่าเวรกรรม ในอัลบั้มนี้ก็มีเรื่องที่ไปรักคนที่มีเจ้าของแล้ว หรือคำว่า “กำ” ที่แปลว่าการเก็บเขาไว้ไม่ยอมปล่อย
ก็พยายามทำให้สนุกสนานมากขึ้น จะเห็นได้จากเอ็มวีที่ถูกปล่อยออกมาจะเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนให้สนุกสนานมากขึ้นครับ เรื่องเปลี่ยนสไตล์เพลง ผมว่าเป็นอะไรที่เราต้องลองทำไปเรื่อยๆ แต่ละคนก็มีแนวทางที่ตัวเองสนใจ อยากทำต่างกันไป อย่างในอัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงเศร้าแล้วค่อนข้างประสบความสำเร็จ เราก็ภูมิใจกับมัน แต่ในฐานะคนทำงาน เราก็ต้องไปข้างหน้า เราก็ต้องหาอะไรที่แปลกใหม่ออกไปบ้าง ส่วนชื่อเพลงในอัลบั้ม เราชอบชื่อเพลงที่มันสั้น เพลงที่ชื่อยาวที่สุดก็คือ 3 พยางค์ไม่เกินนี้ เพราะฉะนั้นเราพยายามสรุปชื่อเพลงอยู่ในคำสั้นๆ ได้ใจความ ซึ่งเพลงทุกเพลงเป็นแนวสบายๆ หมด ยกเว้นเพลง “ปล่อยปาก”
เรื่องดนตรีเรากลับมาใช้เครื่องสดทั้งหมด ซึ่งในอัลบั้มก่อนๆ เวลาคนฟังเพลงอะตอมตอนโชว์สดจะมีความรู้สึกแตกต่าง เพราะวงเราค่อนข้างใหญ่ มีเครื่องเป่า 3 คีย์บอร์ด 2 ตัว อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกที่เวลาคนฟังจะนึกถึงภาพแบนด์ออกว่ามีเครื่องอะไรบ้าง เพราะเราเอาวงจริงๆ มาอัดค่อนข้างเยอะครับ คนจะเห็นภาพเครื่องเป่า ภาพวงใหญ่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เรื่องซาวนด์ค่อนข้างจะวินเทจมากขึ้น ทั้งเรื่องการบันทึกเสียง การทำ Mastering หรือ Mixing ต่างๆ ก็ตั้งใจทำให้เก่าลงนิดนึง
ซึ่งเราและทีมนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ทุกคน เราค่อนข้างมาทางดนตรีสดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เรารู้สึกว่าเรายังทำไม่สุดในทางนี้ รู้สึกว่าเพลงที่เราเขียนในเซตนี้ ในเรื่องซาวนด์ของมันน่าจะออกมาอย่างที่ได้ฟังกัน เราพยายามหาตำแหน่งให้ดีในการจัดวางแต่ละเพลงลงไป ดนตรีสดมันจะได้ข้อดีตรงเรื่องไดนามิก หรือความหนักเบาสั้นยาวของการเล่น อารมณ์การเล่นมันก็จะเป็นมนุษย์มากกว่า แต่อันนี้แล้วแต่คนชอบ ด้วยความที่เราชอบดนตรีโซลเก่าๆ แจ๊สเก่าๆ เพราะฉะนั้นความชอบของเราในการทำเพลงก็จะอยู่ในประมาณนี้ มันเป็นจุดที่เรารู้สึกว่าเราทำได้ดีกว่าที่จะพยายามออกนอกกรอบจากตรงนี้ไปและทำอะไรที่เรายังไม่คุ้นเคยครับ
กระแสตอบรับค่อนข้างดีครับ เขาไม่ค่อยเห็นอะตอมในแง่สนุกสนาน หรือมีเพลงที่เบาสมอง อัลบั้มนี้เนื้อหาโดยรวมค่อนข้างเบาขึ้น ในส่วนดนตรีก็ตั้งใจทำให้วินเทจ มีส่วนผสมความเป็นโซล โมทาวน์ ค่อนข้างชัดเจนขึ้น คนที่ติดตามเรามาก็ได้เห็นพัฒนาการของเรา มิวสิกวิดีโอได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แต่ว่าด้วยความที่เราปล่อยเพลงในช่วงที่มีโควิดตั้งแต่เพลงแรก มันก็เสียดายที่เราไม่ได้เอาเพลงพวกนี้ไปเล่นเลย ก็รอวันที่กลับไปเจอคนฟังครับ”
ชีวิตที่วางไว้
เมื่อถามถึงชีวิตในวันต่อๆ ไปในระยะยาวของเขาว่าวางแพลนอะไรไว้บ้าง อะตอมบอกว่า “ถ้าถามว่ามองชีวิตที่ไม่ได้เป็นนักร้องไว้อยู่บ้างมั้ย ก็มองครับ แต่ว่าคงไม่ใช่อนาคตอันใกล้ อย่างที่บอกว่ามันเป็นอาชีพที่เรารัก เราชอบที่จะทำ เราเลือกทำมาตั้งแต่ยังไม่ได้อะไรเลย เป็นนักดนตรีกลางคืนได้เงินคืนละ 400-500 บาท และตังค์ก็หมดไปกับค่าเครื่องดื่มในร้านเรียบร้อย เพราะมันเป็นความสุขที่เราได้ทำ เราไม่อยากทิ้งมัน
ในยุคโควิด การที่นักดนตรีต้องออกมาขายเครื่องมือทำมาหากินเพราะไม่มีพอจะกินจะใช้มันเศร้ามาก ผมเชื่อว่าแต่ละคนที่เริ่มเล่นดนตรี มันเกิดจากความรักที่จะทำ ไม่มีใครอยากทิ้งตรงนี้ไปง่ายๆ หรอก สำหรับเราเองก็อยากอยู่ตรงนี้ให้นานที่สุด แต่ชีวิตก็ต้องเติบโตไป มีด้านอื่นๆ เข้ามาในชีวิต ก็เป็นเรื่องอนาคต แต่ถามว่าจะเลิกเป็นนักร้อง เลิกเขียนเพลง เลิกปล่อยเพลงเลยมั้ย ภายใน 10 ปีข้างหน้า เราก็คิดว่าเรายังอยากอยู่ตรงนี้นะครับ
เรื่องงานเบื้องหลังเพลงก็เป็นอะไรที่สนใจ แต่ถ้าจะทำจริงๆ เราก็คงทำร่วมกับทีมโปรดักชั่นเรา ก็คือทีมพี่บอล คือการทำงานเนี่ยเราไม่ค่อยไว้ใจให้คนอื่นทำ เราก็จะมีทีมของเรา คนของเราที่ช่วยกันเลือก ช่วยหาคนมาทำงานด้วยกัน ที่ผ่านมาได้ลองทำเพลงให้หลายคน น้องๆ เด็กๆ ก็มีบ้าง เป็นอะไรที่ดีใจที่เริ่มทำในช่วงนี้ คิดว่าในอนาคตก็จะได้ทำให้อีกหลายๆ คนครับ ซึ่งงานก็มาเรื่อยๆ อันไหนเหมาะกับทีมเราก็ทำครับ”
ถามว่าสมมติวันหนึ่งไม่ได้ทำงานเพลงแล้วอยากทำอะไร นักร้องหนุ่มบอกว่า เรื่องธุรกิจก็เป็นเรื่องที่มองไว้ ช่วงที่ว่างจากการหยุดทำงานก็อยากศึกษาสิ่งที่อยากจะรู้ แต่ก็ยังไม่เคยมีเวลามาเรียนรู้เลย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน หรือทำอะไรที่ทำให้ชีวิตมั่นคงในวันข้างหน้า “สำหรับเราเมื่อก่อนมันเป็นเรื่องน่าเบื่อมากเลย จะมานั่งวางแผนลงทุนอะไรระยะยาว ไม่เข้าใจ พูดแล้วไม่เข้าหูวัยรุ่น ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เราเห็นแล้วว่าอาชีพเรามีความเสี่ยง ไม่แน่นอน เราก็เลยต้องหาวิธีให้เงินทองที่เราหามามันเติบโต
เราพยายามจะหาทางลงทุนต่างๆ ที่เห็นผลชัดเจนมากขึ้นในช่วงนี้ครับ ก็วางแผนอนาคตประมาณนึงว่าถ้าอาชีพนี้ยังมีความไม่แน่นอนขนาดนี้ ยิ่งยุคโควิดต้องมีแผนสำรองที่ไว้ใจได้ ถามว่าสนใจลงทุนด้านไหน โอ้โห เปิดรับทุกอย่างครับ (หัวเราะ) ผมว่ามันน่าเสียดายที่ในเจเนอเรชั่นผม ความรู้ด้านนี้มันน้อยมากในเรื่องการลงทุน เพราะโรงเรียนไม่สอน มหาวิทยาลัยไม่สอน การที่จะมารู้ก็รู้เมื่อสายไปแล้ว รู้เมื่อจวนตัวกันซะส่วนใหญ่
อย่างผมเพิ่งมารู้สึกตัวตอนจะอายุ 30 แล้ว จริงๆ ควรจะรู้ตั้งแต่ตอนเด็กกว่านี้มากๆ ภาษีมันดีกว่าเยอะครับ ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องหาความรู้เอง ถามจากผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องขวนขวายเอง ทุกวันนี้เก็บเงินในธนาคารก็แพ้อัตราเงินเฟ้อ เงินเราไม่โต เลยรู้สึกว่าเป็นอะไรที่สำคัญมาก ก็ยังไม่ได้เจาะจงว่าจะลงทุนยังไง
อีกปี 2 ปี ถ้าทิศทางมันยังไม่ดีขึ้น หรือธุรกิจตรงนี้ยังแย่ต่อเนื่องด้วยปัญหาเดิมๆ อาจจะต้องหาทางกันไปครับ แต่ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เราคงเสียใจมากๆ ถ้าไม่ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพ มันคงเหมือนอกหัก แต่คิดภาพว่าตัวเองทัวร์คอนเสิร์ตจนอายุ 50 ปี ก็ไม่ไหวหรอกครับ ผมว่าการเป็นศิลปินเบื้องหน้ามีอายุของมัน ถึงจุดนึงทุกคนก็ต้องไป มันเป็นวัฏจักรของชีวิตของศิลปินครับ”.
ผู้เขียน : Penguin บินได้
ภาพ : GMM Grammy
กราฟิก : Sathit Chuephanngam