• เกาหลีใต้ไม่หยุดนิ่ง ผลิต Culture Technology ตีตลาดความบันเทิงในอนาคต
  • Culture first, Economy next การเคลื่อนไหวอันยั่งยืนเพื่อสะสมความมั่งคั่งของชาติเกาหลี
  • จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ AI หุ่นยนต์ อวตาร์ดิจิทัล จะกลายมาเป็นศิลปิน K-pop

โลกไปไกลแล้วมากจริงๆ เอาจริงๆ AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ ก็เข้ามามีส่วนในเกือบทุกวงการแล้ว แต่ใครจะนึกว่าวันนึงจะมีไอดอลที่เป็น AI

ที่ผ่านมาเกาหลีใต้พา K-pop บุกตะลุยสร้างชาติได้อย่างมหัศจรรย์ หย่อนไอดอล ศิลปิน ดารา เข้าไปถางที่ทางให้วัฒนธรรมเกาหลีเข้าไปอยู่ในใจคนทั่วโลก

แต่วันนี้เกาหลีไม่หยุดนิ่ง ค่ายบันเทิงจับมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ ทำวิจัยเพื่อผลิต Culture Technology หรือเทคโนโลยีวัฒนธรรม ตีตลาดความบันเทิงในอนาคต เพื่อให้วัฒนธรรมเกาหลีเคลื่อนไหวต่อไปได้อย่างยั่งยืน มากกว่าแค่การส่งออกกระแสเกาหลีผ่าน การจำหน่ายอัลบั้ม ละคร และศิลปิน

...

Culture Technology หรือเทคโนโลยีวัฒนธรรม

SM Entertainment และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science and Technology) หรือ KAIST (ไคสท์) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสำหรับการวิจัย metaverse (เมทาเวิร์ส)

ข้อตกลงนี้ SM Entertainment และ KAIST วางแผนที่จะร่วมมือกันทางเทคนิคในด้านคอนเทนต์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์ ดำเนินโครงการร่วมกันเกี่ยวกับการผลิตอวตาร์ดิจิทัล 

Lee Kwang Hyung (อี กวังฮยอง) ประธานของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี ได้พูดถึงความคาดหวังในเรื่อง Culture Technology ว่า

“ผมหวังว่าจินตนาการทางวัฒนธรรมของ SM Entertainment ที่ดึงดูดใจผู้คนทั่วโลก จะได้พบกับเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมของ KAIST และกลายเป็นผลิตภัณฑ์แห่งความสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ที่ส่งเสริมตลาดความบันเทิงในอนาคต รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรม”

ขณะที่ทาง SM Entertainment โปรดิวเซอร์กิตติมศักดิ์ของค่าย Lee Soo Man (อี ซูมาน) ได้เปิดเผยในการบรรยาย “โลกความบันเทิงแห่งอนาคตที่ KAIST และ SM จะอยู่ร่วมกัน” เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะ First Mover ของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ว่า

“ตั้งแต่ตอนก่อตั้ง SM ผมเน้นย้ำถึงความสำคัญของอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่มีต่อเศรษฐกิจ และนำคติ Culture first, Economy next เผยแพร่สู่โลก ผมมุ่งมั่นในการทำให้กระแสเกาหลี (Hallyu) เกิดเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลก และการเคลื่อนไหวอันยั่งยืนเพื่อสะสมความมั่งคั่งของชาติเกาหลี มากกว่าแค่การส่งออกกระแสเกาหลีผ่านการจำหน่ายอัลบั้ม, ละคร ฯลฯ”

เทคโนโลยีวัฒนธรรม (CT) คือปัจจัยในปัจจุบันที่จะส่งต่อถึงอนาคต เป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ K-pop เป็นวัฒนธรรมระดับโลกและพัฒนากระแสเกาหลี อี ซูมาน เน้นย้ำว่า

“ผมคิดว่า CT ไม่ควรจบในรุ่นเดียว แต่ควรมีการสร้างขึ้นมาด้วยตนเองเป็นลายลักษณ์อักษร เผยแพร่และส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ดังนั้นจากความรู้ ประสบการณ์ และ Know-how ของผม ผมจึงสร้างแนวความคิดอิสระที่เรียกว่า CT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสร้างคอนเทนต์ และการผลิตอย่างเป็นระบบ

...

เทคโนโลยีวัฒนธรรมยังคงพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผมและ SM จะต้องใส่ใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะรวมวัฒนธรรมกับเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับคอนเทนต์”

อี ซูมาน ยังกล่าวเกี่ยวกับโลกความบันเทิงแห่งอนาคตว่า “ผมคิดว่ามันจะเป็นโลกของคนดังและหุ่นยนต์ ต้นกำเนิดของหุ่นยนต์มาจากอวาตาร์ และเราคิดว่าอวาตาร์มีความสำคัญ

โลกแห่งอนาคตของคนดังและหุ่นยนต์ได้เริ่มขึ้นแล้ว ด้วย aespa (เอสป้า) เมื่อปี 2020, SM CULTURE UNIVERSE (เอสเอ็ม คัลเชอร์ ยูนิเวิร์ส หรือ SMCU) โลกความบันเทิงแห่งอนาคตที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม คือ โลกทัศน์ของโลกความบันเทิงแห่งอนาคตที่ผมกับ SM ใฝ่ฝันและได้สร้างสรรค์"

SMCU ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบคอนเทนต์วิดีโอผสมแนวใหม่ "CAWMAN" เป็นการผสมผสานระหว่าง C ของ "Cartoon", A ของ "Animation", W ของ "Web-toon", M ของ "Motion graphic", A ของ "Avatar" และ N ของ "Novel" เพื่อการสัมผัสประสบการณ์คอนเทนต์รูปแบบใหม่แห่งอนาคตอย่างสมบูรณ์

...

“เราคิดถึงอนาคตและคอนเทนต์ในอนาคตเสมอ วัฒนธรรมและเทคโนโลยีต้องควบคู่ไปด้วยกันอย่างแน่นอน เพื่ออนาคตและการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ

การรวมตัวของวัฒนธรรมและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ เช่น Bio, Nano, AI ฯลฯ จะทำให้โลกความบันเทิงแห่งอนาคตก้าวหน้าเหนือจินตนาการของมนุษย์ไปอีก วิวัฒนาการของ Culture Technology จะพัฒนาการผสมผสานของวัฒนธรรมและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน

ผมเชื่อว่าโปรดิวเซอร์ในอนาคต คือ นักวิทยาศาสตร์วัฒนธรรม (Culture Scientist) และเราต้องการนักวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างโลกความบันเทิงแห่งอนาคตที่พวกเราอยากใช้ชีวิตอยู่”

AI หุ่นยนต์ อวตาร์ดิจิทัล ในอุตสาหกรรมบันเทิง

ที่ผ่านมา SM ได้เริ่มรุก CT แล้ว โดยได้เปิดตัวเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ aespa (เอสป้า) ในรอบ 6 ปี (หากนับต่อจาก Red Velvet, วงใหม่ในรอบ 4 ปี หากนับต่อจาก NCT) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2020

aespa (เอสป้า) ถือเป็นเค-ป๊อปวงแรกที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจริง 4 คน ได้แก่ KARINA, GISELLE, WINTER, NINGNING และสมาชิกที่เป็น æ อีก 4 คน ได้แก่ ae-KARINA, ae-GISELLE, ae-WINTER, ae-NINGNING

...

ชื่อวง aespa เกิดจากการรวมคำว่า ‘æ’ ที่มาจาก ‘Avatar X Experience’ เข้ากับคำว่า ‘aspect’ ที่มีความหมายว่ามุมมองหรือสองด้าน โดยมีแผนที่จะมานำเสนอหลากหลายกิจกรรมการโปรโมตแบบใหม่ ภายใต้ธีม ‘การสัมผัสประสบการณ์โลกใบใหม่ ผ่านการได้พบกับ ‘avatar’ (ที่เป็นอีกหนึ่งตัวตนของตัวเอง)’

สมาชิก æ เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูลส่วนตัวที่สมาชิกได้อัปโหลดบนโซเชียลมีเดีย และอาศัยอยู่ใน ‘FLAT’ (ชื่อเรียกสถานที่ที่ æ อาศัยอยู่ในโลกเสมือนจริง) จนถึงตอนนี้การมีส่วนร่วมของ æ ในวง คือ การปรากฏตัวมาทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกจริง อาทิ ร้องเพลง แร็ป เต้น ถ่ายภาพร่วมกัน ฯลฯ

นอกจากนี้ æ ยังปรากฏตัวในมิวสิกวิดีโอเพลง รวมถึงคลิปการแสดงเล็กๆ น้อยๆ อีกทั้งยังเคยมีบทสัมภาษณ์ของ aespa และ æ-aespa เผยแพร่ออกมาทางสื่อเกาหลีเช่นกัน แต่จากข้อมูลของทาง SM ระบุว่าการจะทำให้ æ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมของวง aespa มากกว่าแค่การปรากฏตัวเช่นนี้หรือไม่อย่างไรนั้น ยังต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต

เห็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเกาหลีใต้ เชื่อเหลือเกินว่าอนาคตอุตสาหกรรมบันเทิงต้องมีอะไรสนุกๆ มาให้ติดตาม และเราจะได้เห็นเทคโนโลยีมหัศจรรย์พลิกโฉมวงการบันเทิงอีกเยอะ.

เรื่อง : ดินสอเขียนฟ้า

กราฟิก : Sathit Chuephanngam