การออกแบบและสร้างภาพการ์ตูนเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือเป็นแอนิเมเตอร์ (Animator) นอกจากต้องใช้การเรียนรู้และฝีมือแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรสวรรค์ก็สำคัญ การเดินทางบนถนนสายนี้ให้ไปไกลถึงระดับโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แอนิเมเตอร์สาวไทย ฝน-วีระสุนทร เด็กสาวจากเมืองชล ที่พลิกชีวิตจากเด็กสายวิทย์ ไปทำตามฝันของตัวเองสำเร็จ คว้าปริญญาตรีศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิตจากวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบโคลัมบัส ในสหรัฐอเมริกา และเข้าทำงานเขียนสตอรีบอร์ดให้กับค่ายยักษ์ใหญ่ วอลท์ ดิสนีย์ แอนิเมชัน สตูดิโอส์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554

เกียรติประวัติที่ฝนได้รับสร้างความภูมิใจให้คนไทยด้วยเช่นกัน เมื่อแอนิเมชัน “โฟรเซ่น” (Frozen) และ “ซูโทเปีย” (Zootopia) ที่เธอเป็นหนึ่งในทีม คว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ และยังมีส่วนร่วมในงานชิ้นเยี่ยมอย่าง Moana, Ralph Breaks the Internet และ Frozen 2 ล่าสุด วอลท์ ดิสนีย์เตรียมส่งแอนิเมชัน “รายา เดอะ ลาสต์ ดรากอน” (Raya and the Last Dragon) ที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมอาเซียน พร้อมเปิดตัวเจ้าหญิงดิสนีย์คนใหม่ “รายา” เรื่องนี้ฝนรับตำแหน่ง Head of Story ซึ่ง “ไทยรัฐ” ได้สนทนาผ่านซูมกับเธอก่อนหนังจะเข้าฉาย 4 มี.ค.นี้

...

การเป็น Head of Story ครั้งแรกต้องดูแลอะไรบ้าง?

“จะดูว่าเนื้อเรื่องสนุกไหม ผสมเข้ากันไหม ตลกหรือเปล่า คนดูจะรู้สึกอะไร เราทำกันเป็นปีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับหนัง”

การร่วมงานกับมือเขียนบทชาวมาเลเซีย อาเดล ลิม ที่โด่งดังจาก Crazy Rich Asians และควี เหงียน นักเขียนบทชาวเวียดนามล่ะ

“ถือเป็นซุปเปอร์เพาเวอร์ของหนังเรื่องนี้เลย ตั้งแต่ทำงานในฮอลลีวูดมาไม่เคยเจอคนทำงานจากละแวกเดียวกันขนาดนี้ อาเดลเป็นคนกล้าพูดกล้าเถียง เราโตมาในสังคมที่ถ้าไม่เห็นด้วย เราก็คิดว่าจะพูดยังไงดีนะ พอมาอยู่ที่อเมริกาต้องทำงานกับคนหลายวัย สังคมที่นี่เขาส่งเสริมการคุยกันตรงๆ แล้วตำแหน่งที่ฝนทำก็จะมีถกเถียงข้อคิดกันแบบตรงไปตรงมา การทำงานกับอาเดลทำให้เรากล้าหาญมากขึ้นที่จะบอกว่าคิดยังไง ส่วนควีก็จะเก่งเรื่องตลกที่กระแทกใจมาก”

ทำงานกับ 2 ผู้กำกับอย่างดอน ฮอลล์ และคาร์ลอส โลเปซ เอสตราดา เป็นอย่างไร

“ฝนเคยทำงานกับดอนเรื่อง Moana ก็จะรู้สไตล์ รู้ว่าเขาต้องการอะไร ส่วนคาร์ลอสนี่เขาเพิ่งมาทำงานกับดิสนีย์ ฝนชอบมุมมองของเขาตรงความทันสมัยทั้งการเลือก การตัดต่อภาพ ทั้งดนตรี เราได้เรียนรู้มากขึ้น ทีมก็ตื่นเต้นกับการตัดต่อภาพฉับไวของเขา ได้เห็นนางเอกบู๊ล้างผลาญ เรื่องนี้เราได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้กำกับมากขึ้น เราวาดรูปแล้วก็ส่งไปให้เขาตัดต่อ แต่ Head of story ทำให้ได้เข้าไปในห้องตัดต่อและได้ตัดสินใจอะไรบางอย่าง เช่น เพลงประกอบหรือเรื่องของมุกต่างๆ”

ดิสนีย์สร้าง “รายา” เป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ตัวแทนของอาเซียน เป็นโจทย์ที่ยากไหม

“ฝนโตขึ้นมากับหนังจักรๆวงศ์ๆ นะคะ อาเดลเขาก็โตมากับการดูหนังจีนซีรีส์จีน เขาบอกว่านักสู้ในภูมิภาคนี้มีอยู่จริง ตอนเด็กๆ เราก็อยากจะมีต้นแบบที่อยากจะเป็น พอได้มาทำตัวละครในรายา ก็อยากทำตัวละครแบบที่เราอยากจะเห็นตอนเราอายุน้อยๆ ซึ่งบุคลิกภาพของคนในอาเซียนก็ไม่ใช่แบบนิ่งๆ เงียบๆ ในหนังไทยเราจะเห็นความมีชีวิตชีวา แสดงอารมณ์ เราก็อยากจะเห็นในหนังรายา”

...

ฉากต่อสู้นี้แต่ละฉากออกแบบยากไหม

“ผู้กำกับบอกว่าฉากต่อสู้ต้องรู้สึกได้เลยว่าตัวละครบาดเจ็บได้ ไม่ใช่ต่อสู้แบบหลอกๆ เขาบอกว่าทำไปให้เต็มที่ ถ้ามากเกินไปก็จะค่อยๆ ดึงกลับมา สิ่งท้าทายอีกอย่างคือคนวาดส่วนใหญ่เขาจะชินกับการต่อสู้แบบจีน เราก็จะส่งวิดีโอ
ให้ดูว่าการต่อสู้แบบมวยไทย จะไม่ใช้แค่มือหรือแค่เท้า แต่เป็นการต่อสู้โดยใช้ทุกอย่างในร่างกายเป็นอาวุธ เขาก็สงสัยว่าทำได้ด้วยเหรอ เราก็บอกว่าทำได้สิ ทำไปเลย”

ส่วนสาระของหนังที่อยากส่งต่อให้ผู้ชมคืออะไร

“หัวใจของเรื่องนี้คือการให้โอกาสครั้งที่ 2 สำหรับคนที่อาจจะเคยทำผิดนะคะ เราจะยังเชื่อใจเขาได้อีกไหม ซึ่งในหนังเรื่องนี้บอกว่า ควรให้โอกาสนะถ้าเราเชื่อใจเขา เขาก็จะเชื่อใจเรา เมื่อเราเชื่อใจซึ่งกันและกัน สังคมหรือว่าชุมชนของเราก็จะไปในจุดที่ดีกว่าเดิม”

...

ตั้งแต่ทำงานมาตัวละครที่โปรดปรานที่สุดล่ะ

“ฝนชอบทั้งตัวรายาและนะมารี คือในหนังที่เคยดูมา เวลาคิดถึงตัวละครผู้หญิงมันไม่มีความหลากหลาย หนังเรื่องนี้ก็จะมีทั้งนางเอก นางร้าย แต่ว่าทั้งคู่ไม่ได้มีชีวิตแค่ด้านเดียว เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อน ซึ่งเราตื่นเต้นนะในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่จะได้มาดู อยากให้ผู้ชมที่ไปดูแล้วบอกด้วยว่าคิดยังไง แล้วในเรื่องของภูมิหลังครอบครัวก็ซับซ้อน ซึ่งมันก็จริงสำหรับชีวิตของชาวเอเชียค่ะ” แอนิเมเตอร์สาวคนเก่งบอกทิ้งท้าย.

เรื่อง: ศุภางค์ภัค เศารยะพงศ์