"ขยะ" ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาระดับโลก ยิ่งมนุษย์มีความเจริญทางวัตถุมากขึ้น ขยะจากความเจริญก็มีมากขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งขยะบางชนิด โดยเฉพาะจำพวกพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายราว 450 ปี นั่นหมายความว่าพลาสติกชิ้นแรกที่ถูกผลิตขึ้นมาบนโลกยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้และไม่ได้ย่อยสลายไปไหน...

ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร นักแสดงและพิธีกร ได้ขยายบทบาทของตัวเองสู่การเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญ ที่ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักเห็นถึงปัญหาของขยะ และเขาก็ได้ใช้เวลากว่า 10 ปี ในการเปลี่ยนชีวิตให้เป็น ECO Life ท็อป แชร์มุมมองถึงสถานการณ์ขยะในประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการลดขยะด้วยวิธีง่ายๆ ที่เริ่มจากตัวเองอีกด้วย

ทำไมถึงเลือกที่จะมาศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ใช้เวลากี่ปี กว่าจะมาอยู่ในจุดนี้ได้?

"10 ปีแล้วครับ ตั้งแต่ปี 2009 ที่เปิดร้าน ECO Shop ก็ทำมาจนถึงวันนี้นี่แหละ ตอนนั้นมันเป็นการขยับองศาของชีวิตนิดหนึ่ง จากเคยเป็นนักแสดง ดีเจ ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ใช้ถุงพลาสติกอย่างเต็มเหนี่ยว ใช้ชีวิตแบบปกติค่อนไปทางลบหน่อย

วันหนึ่งเรียนปริญญาโททำหัวข้อวิจัยเรื่องแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีผลต่อเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มันเลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องนี้ เลยเป็นจุดเริ่มต้น ณ วันนั้น ยังไม่ถึงกับจริงจัง แต่มันเหมือนเริ่มทีละนิด

...

ถ้าก่อนหน้าทำวิทยานิพนธ์มันจะมีความสนใจน้อยลงมานิดหนึ่ง เริ่มต้นจากการไปดูหนังเรื่องหนึ่งชื่อเรื่อง An Inconvenient Truth ที่เอาสิ่งแวดล้อมมาเป็นสารคดี แล้วเราเริ่มสงสัยก็ทำเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ แล้วก็มาทำร้านชื่อ ECO Shop ปี 2009 นี่แหละ แล้วก็ไปเป็นกรรมการให้กับงานประกวดต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องงานออกแบบเกี่ยวกับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หลังจากนั้นก็เป็นนักออกแบบให้กับ สวทช. เพื่อที่จะเอาขยะมาออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วก็เปิดบริษัทของตัวเองชื่อ คิดคิด บริษัทนี้ก็ทำธุรกิจเพื่อสังคม ออกแบบสินค้าขาย แล้วก็ทำงานเหมือนเป็นที่ปรึกษาในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมนี่แหละ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมาเราไม่ได้ทำใหญ่เลย เราทำทีละเล็กทีละน้อย เราทำมาเรื่อยๆ จนวันนี้มันกลายเป็นเรื่องสำคัญ หรือเป็นแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้"

บางคนอาจจะมองว่าการเปลี่ยนชีวิตเป็น ECO Life อาจจะเป็นเรื่องยากไกลตัว เราจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว หรือเรื่องง่ายขึ้นได้มั้ย?

"ผมพยายามจะบอกอยู่เสมอเลยว่า การทำอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควรเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่เราถนัด เรื่องที่เราสนใจ มันมีเรื่องบางเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น คุณเปลี่ยนการเดินทางจากขับรถเป็นปั่นจักรยาน คุณดูก่อนเลยว่าตัวเองได้อะไร สุขภาพที่ดีขึ้นมั้ย ได้เพื่อนใหม่รึเปล่า ถ้าคุณวิ่ง ตัวคุณเองได้อะไรก่อน ได้สุขภาพที่ดีขึ้น ได้ถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงโซเชียล หรือว่าได้อะไรอีก ดูก่อนว่าตัวเองได้อะไร

เพราะถ้าเกิดทำเรื่องพวกนี้แล้วเราได้ก่อน สุดท้ายเนี่ยเดี๋ยวสิ่งแวดล้อมจะได้ตามมา แล้วมันสามารถทำให้เราได้อย่างต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ถึงแม้ว่าสังคมจะชอบ สมมติว่าถ้าคนอื่นชอบวิ่ง แต่เราไม่ชอบ เราก็อย่าไปทำสุดท้ายแล้วมันจะเลิกทำไปเลย

ตัวผมเองก็เริ่มต้นทำอะไรที่จะสามารถทำได้ ถ้าทำไม่ได้ผมจะเลิกทำ ผมสารภาพว่าผมปั่นจักรยานไปทุกที่ไม่ได้ ผมไม่สามารถจะทำอะไรตั้งหลายอย่างที่เขาทำในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะผมมองว่าตัวเราไม่สามารถทำอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ตลอด 24 ชม.

ถ้าเรามองว่า เราได้ถุงผ้ามาแล้วไม่ใช้ถุงพลาสติก การที่จะได้ถุงผ้าฝ้าย ฝ้ายคือการทำเกษตรที่ใช้น้ำมากที่สุดเลย ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง แล้วใช้เวลาในการทอผ้า คือกระบวนการผลิตทั้งหมดของการได้ถุงผ้ามา มันมากกว่าถุงพลาสติกตั้งเยอะ แล้วถ้าคุณได้ถุงผ้ามาแล้วไม่ใช้ถุงผ้าเลย ผมว่าถุงพลาสติกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงผ้าอีก

ดังนั้นถ้าเกิดว่าเราจะดูอะไรที่เป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร มันคือการใช้ชีวิตของเรา การทำตัวให้พอดีๆ มันคือการคิดก่อนที่จะใช้ ถ้าเกิดคุณได้ถุงผ้าก็ต้องใช้ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันคือการตอบแทน หรือแทนการใช้ถุงพลาสติกได้ สุดท้ายอยู่ที่ตัวเราเองนี่แหละว่าทำได้รึเปล่า อย่าคิดว่าได้มาฟรีแล้วเอามาเก็บแต่ไม่ได้ใช้ อันนี้ยิ่งเสียดายเข้าไปใหญ่"

...

ถ้ามองลงไปที่เรื่องใหญ่ในสิ่งแวดล้อมของไทยคือเรื่องขยะ ทุกวันนี้สถานการณ์ขยะเมืองไทยเป็นยังไง?

"คนจะชอบมองถึงตัวเลขนะครับ แต่ตัวเลขทางวิชาการผมไม่แน่ใจว่าอันไหนที่มีความชัดเจนและถูกต้องที่สุด ดังนั้นอยากให้ลองไปหาดูกัน ไม่ว่าจะเป็นอันดับที่ 6 หรืออันดับที่ 5 หรือคนนึงใช้ถุงพลาสติกกี่ใบต่อวัน และต่อปีขยะพลาสติกเป็นเท่าไหร่กี่ล้านตัน แต่ผมว่าสิ่งที่เห็นกันชัดๆ เลย ก็คือเวลาเราเดินไปตามท้องถนนเราเห็นกองขยะมากขึ้น เวลาเราขับรถไปต่างจังหวัดเราเห็นมีขยะปลิวกันอยู่สองข้างทางหรือเปล่า บางที่ขยะจะอยู่ในที่ๆ ไม่ควรจะอยู่ เช่นใต้ต้นโพธิ์ รูเสาไฟ หรือซอกที่มันแตกๆ ผมรู้สึกว่ามันเยอะแบบเห็นภาพชัดเจน"

ทุกวันนี้ประเทศไทยจัดการขยะดีขึ้นหรือยัง?
"จากที่ผมทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาประมาณ 10 ปี ผมเห็นว่ามันดีขึ้น ตอนแรกๆ เวลาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือใช้คำว่า ECO คนจะสงสัยว่ามันคืออะไร ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนนี้คนเข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นแล้ว ทุกคนตระหนักมากขึ้น

แล้วทีนี้พอคนเริ่มแยกขยะ มันก็เริ่มมีคำถามว่า ทิ้งขยะไปแล้ว แยกไปแล้วด้วย แต่ถ้าคนเก็บเขาเอาไปรวมกันล่ะ เออคำถามแบบนี้นำมาซึ่งวิธีการปฏิบัติเพราะเขารู้ว่ามีคนที่มองอยู่ สุดท้ายคำตอบคือเขาเอาไปแยกอีกที เพราะมันขายได้ พอขายได้พี่ที่มาช่วยเก็บขยะเขาก็หารายได้ได้อีกทาง เหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะมีการพูดถึง ถ้าจะให้ตอบง่ายๆ ก็คือดีขึ้นในเรื่องการจัดการขยะของเมืองไทยของเรา (ยิ้ม)"

...

การจัดการขยะที่ดีต้องเริ่มจากอะไร?
"ต้องเริ่มจากการที่ทุกคนทุกบ้านต้องแยกขยะก่อน แต่ประเทศไทยเรายังแยกขยะได้ไม่ดีพอ แยกขยะไม่ได้คุณภาพ มีการถกเถียงกันว่ามันเพราะอะไร สุดท้ายก็กลับไปที่คนไม่มีจิตสำนึก แต่จะทำอะไรละที่ทำให้คนมีจิตสำนึก หรือว่าต้องใช้นโยบายภาครัฐหรือว่าเป็นกฎหมายมาเลย คือมันมีการถกเถียงกันมากน่ะครับ เลยทำให้ยังไม่มีข้อสรุปซะทีอย่างแน่ชัดว่าจะมีวิธีการไหนที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยในการจัดการกับขยะ

แต่มันมีข้อสังเกตุอันหนึ่งที่ผมเคยไปคุยกับคนญี่ปุ่นที่เป็นเพื่อนกัน เขาแยกขยะดี๊ดี ผมก็ถามว่าทำไมถึงแยกขยะ เพื่อนผมก็ตอบผมว่า ก็เขาเห็นพ่อแม่ทำ เห็นปู่ย่าทำ ดังนั้นแปลว่าการที่เขาแยกขยะเพราะเขาเห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ปู่ย่าเขาทำให้เห็นกันมา เขาทำกันมาเป็นเรื่องปกติ เขาก็เลยคิดว่าการแยกขยะของเขาทำมาเป็นเรื่องปกติมากๆ ผมเลยคิดว่าถ้าวันนี้เราทำให้คนคิดว่าการแยกขยะเป็นเรื่องปกติ ปกติเหมือนที่เวลาเราเจอผู้ใหญ่แล้วยกมือไหว้แบบนี้ ผมเชื่อว่ามันอาจจะแก้ปัญหาขยะได้"

สำหรับปัญหาขยะในประเทศไทย การรณรงค์เรื่องการช่วยกันเก็บขยะอย่างเดียวคิดว่ามันพอมั้ย?

"คือตอนนี้ในประเทศไทยมันยังไม่ได้มีสูตรตายตัว ว่าจะแก้ไขปัญหานี้มันยังไงให้มันคลี่คลาย ดังนั้นทำไปเถอะ ทำอะไรก็ได้ จะร่วมมือกันช่วยกันทำหรือทำแยกๆ ทำอะไรก็ได้แต่ขอให้ทำ

ผมคิดว่าถ้าเกิดเราทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราจะเจอคำตอบเอง ว่าวิธีการไหนมันจะดีที่สุดสำหรับคนไทย เราอาจจะใช้วิธีการของสวีเดน ของญี่ปุ่น ของเกาหลี พอมาใช้กับบ้านเราอาจจะไม่ได้ทั้งหมด อาจจะเป็นตัวอย่างได้ แต่มันต้องมีวิธีการบางอย่างแบบไทยๆ เรา ที่มันสามารถแก้ปัญหาได้ ตอนนี้มันยังไม่เจอ แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราหมดหนทาง ทำไปเถอะสักวันมันจะได้ผลเอง ถ้าไม่ใช่รุ่นนี้ ก็รุ่นหน้า"

...

เคยเจอมั้ย ที่มีคนบอกว่า ท็อป พิพัฒน์ คุณรณรงค์เรื่องนี้ แต่ทำไมคุณยังไม่ทำมันเลย?

"มี (เสียงสูง) ผมชอบกินน้ำปั่น แล้วต้องใช้หลอดดูดพลาสติกกินน้ำปั่น คนเห็นผมรณรงค์เรื่องการใช้หลอด แล้วทำไมมานั่งดูดน้ำปั่นจากหลอดละ เอ้าเรากินน้ำปั่น ไม่ได้ดูดจากหลอดแล้วจะกินยังไง ผมไปเมืองจีนมา ชานมไข่มุกเต็มไปหมดเลย ผมไม่ใช้หลอด ผมกินชานมไข่มุกไม่ได้ ผมจำเป็นที่จะต้องใช้ ผมเลยรู้สึกว่าถ้าเกิดคุณจำเป็นที่จะต้องใช้ คุณใช้ไปเถอะ คุณไม่ได้ผิดอะไรเลย

ผมเองก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ผมไม่ได้เป็นมนุษย์สุดโต่งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความคิดของผมสำหรับคนที่เพิ่งเริ่ม ก็เอาไปปรับใช้ได้ เพราะผมเองกับคุณก็ไม่ได้แตกต่างกัน เราทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ ถ้ารู้สึกโอเคก็ทำต่อไป อย่าไปฝืนตัวเอง คุณไม่ได้แปลก เพราะผมเองก็เป็นแบบนั้น

ผมต้องขอออกตัวก่อนว่าผมเป็น ECO แบบมีกิเลส หรือเป็นคนที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบมีกิเลส เราไม่สามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ตลอด 24 ชม. หรือทำทุกเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ หรือทำบางเรื่องในสิ่งที่คนอื่นทำแต่ตัวเราเองทำไม่ได้ เราก็เลือกที่จะไม่ทำ ถ้าเกิดคนอื่นเห็นผมในบางครั้ง แล้วมองว่าทำไมเรื่องบางเรื่องผมทำไม่ได้ หรือไม่เห็นชอบในสิ่งที่ผมทำ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรหรือรู้สึกอะไรเลย บางครั้งดีด้วยซ้ำที่เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองกัน ว่าทำไมเรื่องนี้ผมไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ (ยิ้ม)"

ตอนนี้คนในวงการบันเทิงเริ่มหันมารณรงค์เรื่องขยะหรือสิ่งแวดล้อมกันบ้างแล้ว คิดว่าเสียงของคนในวงการบันเทิงดังพอรึยังในเรื่องนี้?

"ผมกับนุ่น 2 คนเวลาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเป็นการพูด เสียงมันก็จะดังในเดซิเบลของการพูด พอเวลาที่เราเจอหน่วยงานที่มาทำโครงการพวกนี้แล้วให้เราไปร่วมโครงการกับเขา เราอยากจะไปร่วมแทบจะทุกโครงการเลย เสียงมันจะดังขึ้น

ดารานักแสดงในวงการบันเทิง เซเลบริตี้ Vlog หรือยูทูบเบอร์ คนที่แบบเหมือนมีฐานสนใจในสิ่งที่คุณทำ แล้วยิ่งคุณมาพูดในเรื่องสิ่งแวดล้อม มันจะยิ่งกระจายความดังออกไป แล้วคนที่ได้ยินเขาจะได้ยินชัดมากยิ่งขึ้น ผมก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่ผมกับนุ่นเคยทำ และหวังจะให้มันเป็นแบบนี้ เรารู้สึกดีและรู้สึกว่า สิ่งที่เราคิดมันใช่ขึ้นเรื่อยๆ มันโคตรเจ๋งเลย ยิ่งตอนนี้หลายๆ เสียงมาพร้อมใจพูดเรื่องนี้กัน"

ในฐานะที่เป็น Idol ECO มีการปรับพฤติกรรมแบบไหนที่จะเริ่มต้นลดขยะแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง?

"ถ้าเกิดเห็นว่าอันนี้มันเป็นปัญหา ผมคิดว่าคุณไม่ต้องรอรูปแบบหรือรออะไรที่มันจะเหมาะสม อยากจะให้ลองทำเลย ยกตัวอย่างถ้าคุณอยู่ที่บ้าน แล้วคุณสามารถจะแยกขยะบางชนิดได้ คุณลองทำเลย แล้วดูว่าเวลาแยกมันจะดียังไงกับตัวเรา อาจจะเอาไปขายรึเปล่า อาจจะเอาไปทำเป็นปุ๋ยมั้ย หรือถ้าไม่เอาไปขายก็แค่แยกขวดพลาสติก กล่องกระดาษ เอาไปวางไว้หน้าบ้าน เพราะสุดท้ายแล้วพี่ที่มาเก็บขยะเขาก็สามารถเอาไปขายได้

ถ้าในเรื่องตัวอย่างที่ดีของการแยกขยะ ผมว่าผมทำสำเร็จนะ เพราะแม่ผมก็ทำ เวลาไปวางเขาก็จะวางเป็นกองๆ ไว้ให้ แล้วแม่บ้านก็จะแยกได้ง่ายขึ้น บางครั้งหลานมาหาที่บ้าน เวลาเขาก็จะทิ้งเศษพลาสติก หรือเศษอาหารลงขยะ เขาก็จะไม่ทิ้ง เขาก็จะตั้งวางไว้เพราะรู้ว่าที่ตรงนี้แม่บ้านจะมาหยิบไป คือมันก็เริ่มต้นจากการทำเลยตั้งแต่แรกนี่แหละ คนอื่นเห็นเขาก็จะทำตามโดยที่ไม่ต้องไปบอก ไปสอนหรือสั่ง

ส่วนตัวผมนอกจากที่บ้านแยกขยะแล้ว ผมและนุ่นพยายามใช้ทุกอย่างให้พอดีๆ ไม่ว่าจะน้ำ ไฟ ขวดพลาสติก สิ่งที่ผมได้คือได้ประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์ได้เยอะมากๆ สุดท้ายถ้าพวกเราช่วยกันจัดการเรื่องขยะ เราจะรู้ว่ามันได้กับตัวเราเองนี่ละ เริ่มจากตัวเราก่อนจากนั้นปัญหาจะถูกจัดการไปเรื่อยๆ อย่างเป็นระบบ และขยายวงกว้างไปมากขึ้น เพราะคนรู้แล้วว่าทำแล้วมันได้กับตัวเรา ต่อจากนั้นมันจะขยายสู่สิ่งแวดล้อมในที่สุด

งบประมาณของรัฐบาลแทนที่จะต้องมาจ่ายในเรื่องของขยะ งบประมาณปีหนึ่งหลายล้านมาก งบตรงนั้นมันอาจจะถูกเปลี่ยนเนอะ ถ้าขยะมันลดน้อยลง อาจจะกลายไปเป็นสวนสาธารณะรึเปล่า มันอาจจะไปช่วยในเรื่องการศึกษา ช่วยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รึเปล่า คือสิ่งที่เราเริ่มต้นทำวันนี้ อยากจะให้ลองทำเลย

แล้วดูว่า มันจะดีอะไรกับตัวเราเอง เราจะทำมันได้มั้ย เพราะว่าที่ผมพูดไปมันดีกับคนอื่นแน่ๆ ก็เหลือแต่ว่าตอนนี้มันจะดีกับตัวคุณในแง่ไหน แล้วถ้าเกิดตัวคุณไม่ทำเลย ปัญหาคือไม่รู้ว่าตัวคุณจะทำได้มั้ย มันก็จะผลัดวันไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำมัน มันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง".