จากข่าวที่เราเห็นศิลปินเกาหลีฆ่าตัวตายหลายคน เกิดอะไรขึ้นกับบุคคลเหล่านี้ คำว่า โรคซึมเศร้า เพิ่งจะมีให้ได้รู้จักกันสองถึงสามปีที่ผ่านมา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีมานานก่อนหน้านี้แต่ส่วนมากคนไทยมักจะเข้าใจว่าเป็นความเครียดส่วนตัวหรือวิตกจริต บางคนก็หาว่าต้องการความใส่ใจมากเป็นพิเศษจนกลายเป็นความเอาแต่ใจมากเกินไป บางทีก็ไปกล่าวหาว่าเค้าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งและไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่น แล้วยิ่งจะเกิดเป็นคนในวงการบันเทิงที่จะต้องดูเป็นคนดี อัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใสทำตัวให้เป็นที่รักของแฟนคลับอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่มีการแข่งขันที่สูงมาก กินนอนไม่เป็นเวลา ทำงานอยู่บนความกดดันว่าต้องทำให้ได้และต้องทำได้ดีกว่าคนอื่นเพื่อผลงานและชื่อเสียง ทั้งๆ ที่ศิลปินก็เป็นคนมีชีวิตจิตใจ เครียดเป็นเสียใจเป็น แต่กลับกลายเป็นว่าคนรอบข้างแม้กระทั่งนักข่าวกลับคาดหวังว่าดาราจะต้องสตรอง เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเจอภาวะกดดันขนาดไหน เจอข่าวที่แรงเพียงใดก็ต้องรับมือได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วดาราบางคนเซนซิทีฟกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะมิฉะนั้นเราจะอินกับบทละครหรือหลุดออกจากตัวเองเพื่อไปเป็นตัวตนอีกคนหนึ่งได้ยังไง คำว่าศิลปินมันเป็นเรื่องของอารมณ์ซึ่งต้องใช้ความรู้สึกเข้าไปผสมอยู่ในนั้น มันไม่ใช่ตรรกะและเหตุผลไปซะทุกอย่าง ดังนั้นการที่จะมาบอกว่าเป็นดาราศิลปินจะต้องเข้มแข็งมันเป็นไปไม่ได้ทุกคน
เวลาที่ศิลปินหรือดารามีความเครียดหรือกดดันก็ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่เราสามารถอ้าปากบอกใครได้ทุกเรื่อง หรือปรึกษาใครได้ทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งถ้ามีเรื่องเครียดแต่ตัวเองต้องขึ้นเวทีก็ต้องกดอารมณ์ความเครียดความเสียใจนั้นไว้ มีน้ำตาแค่ไหนก็ต้องกลืนมันไว้ข้างใน ดังคำที่กล่าวไว้ว่า The show must go on! แต่ถ้าถามว่าความเครียดหรือความเสียใจนั้นหายไปไหมมันก็ยังไม่หายไปหรอกค่ะ เพียงแต่ว่าเราแค่เรียงลำดับความรู้สึกที่สำคัญและหน้าที่ต้องมาก่อนเสมอ ส่วนความเครียดหรือปัญหาที่ทำให้เกิดความเสียใจนั้นมันก็ยังคงอยู่แม้ว่าจะแสดงจบแล้วก็ตามลงมาก็เจอกับโลกแห่งความเป็นจริงอยู่ดี ปัญหามันก็คือเราไม่สามารถระบายกับใครได้หรือพูดไปก็กลัวเป็นข่าว แล้วยิ่งถ้าเป็นข่าวก็ยิ่งเครียดกว่าเก่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือความเครียดสะสม กลายเป็นคนที่บางทีพอมีความเครียดหรือปัญหาเข้ามาก็จะดำดิ่งลงไปในความรู้สึกได้เร็วมากเสียใจมากกว่าปกติ เพราะมันมีความกดดันอยู่ข้างในลึกๆ อยู่แล้ว พอเราจะต้องทำตัวร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใสต่อหน้าผู้คนแต่กลับกลายเป็นว่าจิตใจของเรานั้นมันยังหมองหม่นและถูกบีบอยู่อย่างนั้น เพราะชีวิตแบบนี้มันผ่านมาเป็นปีมันจะมีขีดสุดของมันค่ะ
...
มันถึงเวลาแล้วค่ะที่เราจะต้องเปิดใจและทำความรู้จักกับอาการทางจิตให้มากขึ้น เพื่อตัวเราเองและคนที่เรารัก เพราะไม่ว่าจะเป็นอาการทางจิตประเภทไหนก็ตามถ้าเรารู้ตัวได้อย่างรวดเร็วและยังได้รับความรัก ความเข้าใจจากคนในครอบครัว คนที่มีอาการทางจิตเบื้องต้นก็ยังสามารถที่จะดูแลตัวเองและประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เพราะมีหลายครั้งที่กว่าเราจะรู้ตัวมันก็สายเกินไป ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก ไม่อยากให้คนรอบข้างสูญเสียแล้วค่อยกลับมาคิดว่าทำไมวันนั้นเราไม่หันไปใส่ใจเขา ทำไมเราไม่ไปโอบกอดและเข้าใจเขาให้มากกว่านี้
ถ้าเสียงของบุ๋มในคอลัมน์นี้สามารถดังไปถึงผู้ใหญ่ได้ ช่วยพัฒนาโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะทุกวันนี้เท่าที่ทราบคุณหมอจิตแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ที่เกี่ยวกับด้านทางจิตต้องพูดคุยกับคนไข้ไม่ต่ำกว่า 40 ถึง 50 คน (พอฟังแล้วคิดเอาเองว่าถ้าตัวเองเป็นหมอ อิชั้นคงเป็นบ้าแทนไปแล้วเพราะฟังเยอะมาก งานหนักไปไหม?) และการดูแลรักษาที่ผ่านมาส่วนมากเราต้องรอให้ป่วยหนักหรือพูดจาไม่รู้เรื่องซะก่อนค่อยพาไปรักษา รวมถึงการยอมรับในสังคมก็ยังมีแค่น้อยนิด เช่นถ้าเราเจอผู้ป่วยสักคนถอดเสื้อผ้ากลางถนนเรากลับถ่ายคลิปเขาเพื่อประจานแทนที่จะช่วยปกป้องเขา บอกได้เลยว่าคนไทยยังมีความเข้าใจเรื่องของอาการทางจิตน้อยมาก บุ๋มเคยได้ไปช่วยงานที่โรงพยาบาลศรีธัญญา บุ๋มเลยรู้ว่าหมอและพยาบาลเจ้าหน้าที่ทำงานกันหนักมาก ไม่เพียงพอต่อจำนวนของคนไข้ ระบบที่ทำกันมาแบบง่ายและเร็วที่สุดคือแค่จ่ายยา แต่ระบบของการอบรมเพื่อให้ญาติของผู้ป่วยเข้าใจยังทำกันได้น้อยซึ่งแท้ที่จริงแล้วจากต่างประเทศเค้าทำกันมานานมากเพราะเขาเชื่อว่าการที่ผู้ป่วยได้รับความรักและการดูแลแบบเข้าใจของครอบครัวนั่นคือการรักษาที่แท้จริง ในส่วนของญาติผู้ป่วยที่ต้องดูแลคนไข้ที่มีอาการทางจิตก็ต้องเข้มแข็งและได้รับกำลังใจเช่นเดียวกันเพราะจะต้องเหนื่อยในการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้มาก
ถึงเวลาแล้วนะคะที่เราจะหันหน้ามาคุยกันจริงจัง และทำความเข้าใจอาการทางจิตในประเภทต่างๆ อย่าปล่อยให้ใครต้องฆ่าตัวตายอีกเลย!