หลังประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องการเติบโตของวัยเด็กจากภาคแรก “Inside Out” จนคว้ารางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ไปเมื่อปี 2015 ปีนี้ถึงเวลาของภาพยนตร์ภาคต่อ “Inside Out 2” มาเล่าเรื่องราวการเติบโตในสเตปถัดไป
เอาความรู้สึกแรกก่อน...มันดีมากๆ รู้เลยว่าทีมผู้สร้างทำการบ้านมาได้ดี เลือกช่วงเวลา “การเติบโต” ที่เราจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะเจาะ จะมีอะไรเข้าใจยากและชวนสับสนมากไปกว่าการเติบโตเป็นวัยรุ่น! โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้น หรือว่าช่วง “แตกเนื้อสาว” เพราะหลากอารมณ์ต่างถาโถม ล่มสลาย ผสมปนเปจนอลหม่าน บางความรู้สึกก็อธิบายไม่ได้ และบางความรู้สึกก็ “มาใหม่” ซะจนตั้งตัวแทบไม่ทัน
...
อาการมันเป็นยังไง ไหนบอกสิ!
Inside Out ภาคแรก จบลงที่ “ไรลีย์ แอนเดอร์สัน” ค้นพบตัวตนในวัยเด็ก บทเรียนที่ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา แต่หลายคนก็นึกไม่ถึง ได้สร้างความประทับใจและเรียกน้ำตาจากเราไปได้หลายช่วง สำหรับในภาคต่อนี้ Inside Out 2 ต้องบอกว่าทำลายสถิติ เพราะทำเราปาดน้ำตาตั้งแต่ 10 นาทีแรก!
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า Inside Out 2 จะเป็นหนังดราม่าเรียกน้ำตา แต่เราคิดว่าเป็นเสน่ห์มากกว่า ที่บทพูดหรือสถานการณ์ในหลายๆ ฉาก “ทำดี ทำถึง” จนเราแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ โดยเฉพาะในภาคนี้ที่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่วัยรุ่นมักให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทีมผู้สร้างก็สะท้อนออกมาได้ดี เห็นภาพซะจนเราอดนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาวัยรุ่นของเราไม่ได้
นอกจากจะเล่าเรื่องความสัมพันธ์ได้อย่างลึกซึ้งและโดนใจแล้ว ไฮไลต์สำคัญที่แฟนๆ ทั่วโลกเฝ้ารอ คงหนีไม่พ้น “กลุ่มอารมณ์ใหม่” ที่จะมาแนะนำตัวต่อจากภาคที่แล้วที่เป็นกลุ่มอารมณ์ที่เข้าถึงง่ายและเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง “ลั้ลลา เศร้าซึม ฉุนเฉียว กลั๊วกลัว และหยะแหยง” ในภาคนี้เราจะได้ทำความรู้จักกลุ่มอารมณ์ใหม่ที่ซับซ้อนและเข้าใจยากขึ้นอย่าง “ว้าวุ่น อิจฉา เขิ้นเขิน อ๊ายอาย และอองวี (เฉยชิล)”
...
การมาถึงของ “กลุ่มอารมณ์ใหม่” พร้อมช่วงเวลา แตกเนื้อสาว ของ “ไรลีย์” สร้างความปั่นป่วนให้ “กลุ่มอารมณ์เก่า” อย่างมาก สถานการณ์หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันทำให้สาวน้อยไรลีย์ตั้งตัวไม่ติด และจัดการกับอารมณ์แปลกใหม่ของตัวเองไม่ได้
แน่นอนว่า “ลั้ลลา” หรือ “Joy” คาแรกเตอร์อารมณ์หลักจากภาคที่แล้วก็พยายามอย่างยิ่งจะยื้อ “ตัวตนวัยเด็ก” ของไรลีย์ไว้สุดความสามารถ แต่ทุกอย่างก็ล่มสลาย ตัวตนวัยเด็กของเธอถูกกลืนไปพร้อมกับการสร้าง “ตัวตนใหม่” เพื่อรับมือเป้าหมายใหม่ที่เธอเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีกว่าเดิม
...
Inside Out 2 ทำให้เราเห็นว่าการเติบโตของไรลีย์นั้นไม่ได้มีแค่เรื่อง “กายภาพ” แต่ยังมีเรื่อง “อารมณ์” ที่ทั้งรุนแรงและแปลกใหม่จนเกินกว่าที่ตัวเธอหรือคนรอบข้างจะรู้ตัวและรับมือ ซึ่งหนังก็เล่าเรื่องได้ดี โดยหยิบยกประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน และการยอมรับในกลุ่มเพื่อนมาเป็นเครื่องมือ สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของไรลีย์ที่พยายามจะ “เติบโต” ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และสถานการณ์ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
หลายคนคงเคยได้ยินว่า “โลกของผู้ใหญ่” นั้นยุ่งยาก ซับซ้อน Inside Out 2 จะทำให้เราเห็นว่าการก้าวผ่านจาก “วัยเด็ก” สู่ “วัยรุ่น” นั้นก็ “หัวจิปวด” ไม่แพ้กัน ความสุขที่เคยหาได้ง่ายจากการเล่นสนุกและได้ทำสิ่งต้องการเริ่มหายาก (หรือไม่เติมเต็ม) เพราะปัจจัยหลายอย่างในชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม รวมถึงเป้าหมายในชีวิตที่ไม่ใช่แค่กินอิ่ม นอนหลับ อีกต่อไป
...
ต้องบอกว่า Inside Out 2 ยังรักษามาตรฐานการอธิบายเรื่อง “อารมณ์” ทั้งที่มาที่ไป อาการ และการรับมือ ได้ดีมากๆ เหมือนภาคที่แล้ว ส่วนตัวชอบการดีไซน์ภาพในหลายๆ ฉากที่อธิบายสิ่งที่กำลังเกิดจากสภาวะอารมณ์นั้นๆ รวมไปถึงปฏิกิริยาจากคนอื่นๆ (ที่อาจจะต่างทั้งวัย สถานะ และเพศ) ที่ทำให้เราเห็นภาพชัดและเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
โดยถ้าเราสังเกตดีๆ จากภาคที่แล้ว กลุ่มอารมณ์ในหัวพ่อกับแม่ของไรลีย์นั้นนิ่งมาก แสดงถึง “ชั่วโมงบิน” ในการรับมือเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งอารมณ์อันหลากหลายได้อย่างดี แทบไม่มีอะไรทำให้แพนิก ต่างจากกลุ่มอารมณ์ในหัวของไรลีย์ ที่ล้มลุกคลุกคลาน วิ่งวุ่นหัวหมุนจนน่าสงสาร แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของ “วุฒิภาวะทางอารมณ์” ที่จะพัฒนามากขึ้นเมื่อผ่านการรับมือในสถานการณ์ต่างๆ
เอาเป็นว่าไม่ใช่แค่สาวน้อยไรลีย์ที่ได้เติบโตเป็นสาวแรกรุ่น แต่ Inside Out 2 ก็เติบโตเรื่องการเล่าเรื่องไปพร้อมๆ กัน จากที่เคยทำได้ดีอยู่แล้วในภาคแรก ภาคนี้ก็ทำออกมาได้ดี หรืออาจจะดีกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เพราะสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งสภาวะทางอารมณ์ของคนที่โตขึ้นก็ซับซ้อนขึ้นจนบางครั้งในชีวิตจริง ใครหลายคนก็แยกแยะไม่ออก จัดการอารมณ์ไม่ได้
ใครเป็นแฟนภาพยนตร์ Inside Out อยู่แล้วคงไม่พลาด แต่สำหรับใครที่ไม่เคยดู อยากให้เปิดใจ แนะนำว่าดูภาคแรกเตรียมมาก่อนจะดีมาก จะได้เข้าใจภาพรวม และเข้าใจอารมณ์แต่ละอย่างได้ดีขึ้น เสริมอรรถรสให้เข้าใจเรื่อง เข้าใจตัวละคร เข้าใจคนอื่น และเข้าใจตัวเองมากขึ้นในที่สุด